ปัญหาเจ้าตัวเล็ก-อารมณ์ก้าวร้าว
ถาม---มีลูกชาย 2 คน (คนแรกอายุ 3 ขวบ เป็นลูกติดสามี )
อีกคนลูกตัวเองอายุ 1 ขวบ ลูกทั้งสองเข้ากันได้ดี คนโตเป็นเด็กน่ารัก
แต่เดี๋ยวนี้เขามีอารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เวลาดีจะน่ารัก
พูดเพราะ แต่เวลาโกรธจะก้าวร้าวรุนแรง และร้องไห้บ่อยมาก
ส่วนใหญ่แม่เขาจะรับกลับไปเลี้ยงเอง แต่สามีเห็นพฤติกรรมแบบนี้
เลยขอมาดูแลเองที่บ้าน (อาทิตย์ละ 4-6 วัน) จะแก้ไขอย่างไรดี
ตอบ---เวลาเราเห็นพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็ก จะมีสาเหตุใหญ่ ๆ อยู่ไม่กี่อย่าง
อันที่พบได้บ่อยก็คือในเด็กที่ถูกตามใจมาก
มักจะพบในเด็กโดยเฉพาะในครอบครัวคนไทย
โอกาสซึ่งจะตามใจลูกสูงมีเยอะอยู่ ยิ่งเรามีลูกน้อยก็ยิ่งตามใจมาก
หลายสิ่งหลายอย่างเลยในชีวิตที่เราขัดสนมาก่อน เราไม่อยากให้ลูกเรา
พบกับความผิดหวังมากมาย ไม่อยากให้ชีวิตเขาผิดหวังเหมือนกับเรา
เพราะฉะนั้นเราก็จะตามใจเด็ก อาจจะมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ
อันที่สองก็คือการเลี้ยงดูสลับไปสลับมา บางครั้งตามใจ บางครั้งดุ
สลับไปสลับมา เดี๋ยวให้เดี๋ยวไม่ให้ เดี๋ยวยอม เดี๋ยวไม่ยอม
เดี๋ยวปล่อยให้ทำเดี๋ยวจะไม่ยอมให้ทำ การเลี้ยงดูที่ขึ้น ๆ ลง ๆ แบบนี้
จะทำให้เด็กคาดเดาไม่ถูกว่าตกลงจะได้หรือไม่ได้ พอครั้งหนึ่งเคยได้
เด็กก็คาดหวังว่าครั้งที่ 2 ก็น่าจะได้ อ้าวครั้งที่ 2 คนเลี้ยงเปลี่ยนวิธีการ
กลายเป็นไม่ได้อีก ก็จะทำให้ไปเร้าอารมณ์โกรธของเด็ก
ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาได้
อันดับสามของการเลี้ยงดูที่พบพฤติกรรมการก้าวร้าวบ่อย ๆ ก็คือ
มีต้นแบบของความก้าวร้าวอยู่ในบ้าน
เช่น อาจจะมีคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีอารมณ์ดุเดือด
เวลาโกรธหรือไม่พอใจอะไรขึ้นมา มักแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา
ทั้งในคำพูด การกระทำ หรือท่าทางก็เป็นได้ค่ะ
ในการเลี้ยงดูที่บีบคั้นเด็กเยอะ กฎเกณฑ์มาก ดุว่ารุนแรงหรือลงโทษรุนแรง
พวกนี้จะพบว่าแบบอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำนั่นแหละเป็นแบบที่ถึงแม้เด็กจะไม่ชอบ
แต่บางครั้งเด็กก็เลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวของคุณมาไว้ในตัวก็มี
ที่พบต่อมาก็คือมีคนยั่วยุเด็ก ทำให้เด็กโกรธโดยไม่จำเป็น ผู้ใหญ่นี่ก็แปลกนะคะ
เวลาแหย่เด็กให้โกรธมักจะสนุก เวลาเด็กโกรธเด็กแสดงออกมา
และทันทีที่แสดงความก้าวร้าวปั๊บแล้วผู้ใหญ่ยอม เด็กก็จะเรียนรู้ว่า
ยิ่งแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเท่าไหร่บางครั้งมันได้ผล
บางครั้งจะทำให้คนยอมเรา บางครั้งก็จะทำให้คนสนใจเรา
หลายครั้งเด็กเลือกวิธีลองผิดลองถูกแบบนี้
แล้วก็เลือกว่าทำพฤติกรรมแบบนี้แหละ และผลสุดท้ายมันก็จะได้
เด็กก็จะทำพฤติกรรมนั้นออกมาซ้ำ ๆ สุดท้ายเลยติดเป็นนิสัย
อันนี้ก็จะเป็นสาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากการเลี้ยงดู
ปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กที่มาจากครอบครัวที่แตกแยกแล้ว
เด็กก็ยังอยู่กับผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจุดหนึ่งที่เห็นคือ
ผู้ใหญ่มักจะสงสารเด็กเพราะเห็นว่าครอบครัวแตกแยก
ก็เลยให้และมักให้เกินกว่าที่ควรจะให้โดยไม่รู้ตัว แต่เด็กก็คือเด็กแหละค่ะ
พอได้ 1 จะเอา 2 ได้ 2 จะเอา 3 ได้ 3 จะเอา 4
ฉะนั้นขอบเขตในการเลี้ยงดูเด็กจำเป็นต้องชัดเจน
ไม่ว่าเขาจะมาจากครอบครัวที่แตกแยกหรือไม่แตกแยกก็ตาม
ถ้าสิ่งใดที่จะให้เด็กเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ไม่จำเป็นแม้เด็กเรียกร้องก็ต้องไม่ได้
แล้วขอบเขตกฎเกณฑ์ที่เราจะให้กับเด็กแต่ละคนก็ต้องเหมือนกัน
ไม่ใช่ให้เพราะมีข้อแม้ว่าเขามาจากครอบครัวที่แตกแยก หรือเขามีปัญหามาก่อน
จึงต้องได้มากกว่า ลักษณะแบบนี้แหละค่ะที่จะทำให้เด็กซึ่งมาจากครอบครัว
ที่แตกแยกมีปัญหาเพิ่มขึ้น นอกจากมีปัญหาครอบครัวแตกแยกแล้วยังมีนิสัยที่ไม่ดีอีกด้วย
อันที่สองก็คือ การเลี้ยงที่ไม่สม่ำเสมอกลับไปกลับมา
บางวันอยู่กับแม่แล้วบางวันก็มาอยู่กับพ่อ คุณแม่อาจจะเลี้ยงแบบหนึ่ง
คุณพ่ออาจจะเลี้ยงอีกแบบหนึ่ง สลับไปสลับมา
ที่พบบ่อยในครอบครัวแบบคนไทยหลังจากที่เลิกร้างกันแล้ว คือ
ความโกรธแค้นระหว่างผู้ใหญ่ยังมีอยู่ และบางครั้งที่เอาเด็กมาเป็นตัวกลาง
เช่น พ่อถือโอกาสว่าแม่ผ่านเด็กไป เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเด็กกลับมาอยู่กับพ่อ
พ่อก็จะฝากว่าคุณแม่กลับไปด้วย กลับกันไปกลับกันมา
โดยใช้เด็กเป็นสื่อกลาง แบบนี้สุดท้ายเด็กก็แย่
วิธีแก้ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวโดยเอาเด็กมาเลี้ยงนั้น
วิธีแรกคือ เมื่อไหร่เด็กกลับมาอยู่ภายใต้บรรยากาศที่สงบสุข
ก็จะช่วยทำให้ความก้าวร้าวนั้นสงบลง
วิธีที่ 2 คือ การแสดงความรัก เด็กทุกคนยังต้องการความรัก ความมั่นคง
ความสม่ำเสมอ ในการแสดงออกของความรักอย่างตรงไปตรงมา
แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และแสดงออกอย่างชัดเจน
วิธีที่ 3 คือ เด็กต้องการขอบเขตที่ชัดเจนว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้
จุดนี้โดยเฉพาะคุณต้องระวังนะคะ เพราะคุณอยู่ในฐานะแม่เลี้ยง
เท่าที่พูดคุยกับคนที่อยู่ในตำแหน่งแม่เลี้ยง
สิ่งที่จะเป็นปัญหามากก็คืออันที่หนึ่งสงสารเด็ก
ความที่สงสารเด็กว่าเขามาจากครอบครัวที่แตกแยก
จะทำให้คนตามใจเขามากกว่าปกติ คุณจะยอมเขามากกว่า
คุณยอมลูกอีกด้วยซ้ำ เพราะคุณกลัวว่าเขาจะหาว่ารักไม่เท่ากัน
บางครั้งจะให้มากเกินไปในสิ่งที่เด็กไม่ควรได้
อันที่สองคือไม่สม่ำเสมอ ความที่คุณกลัวว่าเดี๋ยวคนอื่นจะมาว่าคุณ
ว่าคุณเลี้ยงลูกเขาไม่ดี เพราะฉะนั้นมันจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึก
ของคุณโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ต้องระวังส่วนนี้จะเป็นจุดอ่อนอย่างยิ่ง
สิ่งใดที่เราทำกับลูก ก็ทำกับลูกเลี้ยงในลักษณะเดียวกัน
สิ่งใดเราห้ามลูกเรา ก็ห้ามลูกเลี้ยงในลักษณะเดียวกัน
สิ่งใดที่เรายอมลูกเรา ก็ยอมลูกเลี้ยงในแบบเดียวกัน
และที่สำคัญเด็ก 2 คนอยู่ในช่วงอายุคนละอายุกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรายอม
ให้ลูกคนโตซึ่งเป็นลูกติดสามีทำได้ และลูกคนเล็กจะพยายามที่จะเอาบ้าง
เราก็คงจะต้องบอกลูกคนเล็กว่าลูกจะทำได้เมื่อลูกโตเท่ากับพี่ หรือในขณะที่
ลูกคนเล็กพยายามอ้อน และลูกคนโตอยากจะอ้อนเอาอย่าง คุณก็บอกเลยว่า
อยากอ้อนแบบน้องก็มาให้แม่กอดให้แม่รักได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งหนูโตแล้วนะคะ
หนูก็จะต้องเติบโตช่วยตัวเองได้มาก อย่างนี้แม่ก็รักและแม่ก็ชอบด้วย
ก็อยากจะบอกคุณไว้ด้วยว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่แตกแยกจะมีจุดอ่อน
อยู่ในหัวใจก็คือกลัวว่าจะไม่เป็นที่รัก เขาจะหวั่นไหวมาก
เพราะจากประสบการณ์ที่เคยได้รับมาว่าพอหลังจากพ่อแม่เลิกกัน
ความรักที่เขาเคยได้มามันหดหายไปเยอะ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เขา
มาอยู่กับคุณเขาเห็นคุณแสดงความรัก มันเป็นโดยธรรมดา โดยธรรมชาติ
เราต้องรักลูกเรามากกว่าลูกคนอื่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นขอให้รู้ว่าเวลา
เราแสดงความรักกับลูกคนโต เราอาจรักเขาระดับหนึ่ง อาจจะไม่เท่ากับ
ความรักที่เรารักลูกตัวเอง แต่ความรักที่เราให้กับเขาต้องแสดงให้ชัดสม่ำเสมอ
รักแค่นี้ก็คือรักแค่นี้ การที่เรารักเขามันคนละเรื่องกับการที่เรายอมตามใจเขา
การที่เรายอมตามใจเขาแสดงว่าเรารักเขามากหรือเปล่า ก็คือเปล่า
การแสดงความรักนั้น สิ่งที่เด็กต้องการก็คือการแสดงออกอย่างชัดเจน
ต้องมีการกอดกัน มีการหอมแก้มกัน มีการลูบไหล่ ลูบตัว ลูบหัว
หรือไม่ก็จะมีอาการจ้องมองสบตาและก็ยิ้มให้กัน
พฤติกรรมที่แสดงความรักนี่แหละค่ะ
ขอให้แสดงออกให้ชัดเจนตรงนั้นก็เป็นหัวใจสำคัญ
เพราะว่าเด็กคนนี้อายุแค่ 3 ขวบ ยังต้องการคนที่ชี้แนะอย่างจริงใจ
และก็ต้องการความมั่นคงที่สำคัญที่สุด
************************
พ.ญ.วินัดดา ปิยะศิลป์
************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น