การพยาบาลเด็ก - การพยาบาลโรคระบบทางเดินอาหาร
บิด (Dysentery)
บิดเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินอาหารโรคหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเดินได้
โรคบิดแบ่งตามชนิดของเชื้อเป็น 2 แบบ คือ
ก. บิดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียใน Genus Shigella
เรียกโรคบิดชนิดนี้ว่า Shigellosis หรือ Bacillary dysentery
ข. บิดที่เกิดจากเชื้ออมีบา
เรียกโรคบิดชนิดนี้ว่า Amoebiasis หรือ Amoebic dysentery หรือบิดมีตัว
ก. Shigellosis
โรคนี้ระบาดเป็นประจำในที่ที่มีผู้คนอยู่กันอย่างแออัด และการสาธารณสุขไม่ดีพอ เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กซึ่งมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเป็นแล้วไม่เกิดภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปใหม่สามารถเป็นได้อีก
สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Shigella ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดกรัมลบ ไม่สร้างสปอร์ เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่สร้างก๊าซ แบคทีเรียชนิดนี้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่ม A Shigella dysenteriae
กลุ่ม B shigella flexneri
กลุ่ม C Shigella boydii
กลุ่ม D Shigella sonnei
โรคที่เกิดจากเชื้อ Shigella dysenteriae จะมีความรุนแรงที่สุด ส่วนที่เกิดจาก Shigella sonnei รุนแรงน้อยที่สุด
ระยะฟักตัว ประมาณ 1-7 วัน โดยทั่ว ๆ ไปประมาณ 3 วัน แต่อาจเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ภายหลังได้รับเชื้อ
พาหะของโรค คนหรือสัตว์ โดยเชื้อจะอยู่ในอุจจาระของคนหรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคนี้
การติดต่อ โดยการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม น้ำหรือนมที่ปนเปื้อนเชื้อโดยแมลงวันนำเชื้อมาสู่อาหาร, ภาชนะ
ระยะติดต่อ ในรายที่ไม่ได้ให้การรักษาเฉพาะ ระยะติดต่อตั้งแต่เกิดอาการจนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระเป็นเวลา 2-3 วัน ในรายได้รับยาปฏิชีวนะจนครบจำนวน
พยาธิสภาพ เชื้อเมื่อเข้าสู่กระเพาะอาหาร ส่วนน้อยจะถูกน้ำย่อยทำลาย เชื้อจะผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ได้ ถ้าได้รับเชื้อ 200 ตัว จะทำให้เกิดอาการได้โดยเชื้อจะเข้าไปแบ่งตัวในเซลของมิวโคซ่า และสับมิวโคซ่า ทำให้เกิดการบวมและเลือดคั่งในบริเวณดังกล่าว มีจุดเลือดออกและขับมูกออกมามากกว่าปกติ ในรายที่รุนแรง ซึ่งมักเกิดจากเชื้อ Shigella dysenteriae และ Shigella flexneri มิวโคซ่าจะอักเสบมากบวมมาก และมีมูกปนเลือดออกมาตลอดเวลา เซลบุส่วนผิว ๆ อาจหลุดลอกออกมาทำให้เกิดแผลตื้น ๆ และเลือดออก พิษอีกชนิดหนึ่งที่เชื้อนี้สร้างขึ้นคือ neurotoxin ทำให้เด็กชักได้บ่อยและรุนแรงร่วมกับอาการไข้สูง ถ้าชักอยู่นานจะเกิดการเสียหายที่สมองอย่างถาวร
เชื้อ Shigella โดยทั่วไปไม่เข้ากระแสเลือด ยกเว้น Shigella dysenteriae ซึ่งมี sepsis ได้
อาการและอาการแสดง
เนื่องจากมีการอักเสบของมิวโคซ่าและสับมิวโคซ่า ดังนั้น จะทำให้ผู้ป่วยปวดท้อง ปวดเบ่ง และท้องเดิน โดยทั่วไปอาการมักเริ่มโดยการมีไข้อย่างทันที อาเจียนและปวดท้องบ่อย ๆ เนื่องจากการถ่ายอุจจาระเหลว กระปริบกระปรอยบ่อย ๆ ครั้ง ภายใน 6-24 ชั่วโมง ต่อมาอุจจาระจะมีมูก หนองและเลือดใหม่สดปน จำนวนการถ่ยมีได้ตั้งแต่ 10-20 ครั้งต่อวัน ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย เพ้อ น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาวะขาดน้ำและขาดความสมดุลย์ของเกลือแร่ ซึ่งมักจะมีโซเดียมและโปรตีนต่ำในเลือด
ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการปวดเบ่งรุนแรงและ rectum ยื่นโผล่ออกมานอกทวารหนักได้ ตาลึกโหล ผิวกายและริมฝีปากแห้ง มีภาวะกรดในเลือด (acidosis) สูง บางคนอาจเพ้อ และชัก อาการท้องอืดจะเกิดขึ้นเมื่อลำไส้เคลื่อนไหวบีบตัวน้อยลง
ในรายที่เป็นเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยมีอาการไข้ต่ำ ๆ ท้องเดินเป็นครั้งคราว อุจจาระมีมูกปนมาก แต่มีเลือดปนน้อย หรือไม่มีปนเลย ผู้ป่วยมักจะมีภาวะขาดอาหารและน้ำหนักค่อย ๆ ลดลง อาจมีอาการปวดท้องบ้าง ซีด ตัวบวม เนื่องจากภาวะขาดอาหารและวิตามิน
การวินิจฉัยโรค
1. จากอาการและอาการแสดง
2. จากการตรวจอุจจาระ ถ้าดูอุจจาระสดใหม่จะเห็นมูกเลือดแยกจากเนื้ออุจจาระ เลือดมักเป็นสีแดงกลิ่นคาว แต่ไม่เหม็นเน่า เมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก เชื้อแบคทีเรียมีน้อย และมี macrophage มาก
3. เพาะหาเชื้อในอุจจาระใหม่ ๆ หรือจากการป้ายอุจจาระภายในทวารหนัก (Rectal swab) ใส่ในอาหารเพาะเชื้อ (Deoxycholate citrate agar) ทันที
4. ทำ Sigmoidoscopy จะพบเนื้อเยื่อผลิตเยื่อเมือก มีลักษณะบวมแดง เลือดออกง่าย พบฝีสีเหลืองซีด ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ซึ่งอาจแตกเป็นแผลตื้น ๆ ไม่สม่ำเสมอและมีขนาดต่าง ๆ กัน
โรคแทรกซ้อน
1. ในทารก อาจเป็นปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ หรือถ้าอาการรุนแรงอาจชักได้
2. ในรายขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจเกิดการไหลเวียนของเลือดส่วนปลายล้มเหลวและไตวายได้ มักเกิดในเด็กหรือผู้ใหญ่สูงอายุที่มีอาการรุนแรง
3. มีเลือดออกในลำไส้ ลำไส้ทะลุ ซึ่งพบได้น้อยเนื่องจากแผลมักจะไม่ลึกถึงชั้นสับมิวโคซ่า เมื่อหายจะเป็นแผลขนาดใหญ่ซึ่งอาจหดตัว ทำให้ลำไส้ตีบได้ อาจมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียอื่นซ้ำเติม เกิดเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบได้อีก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเชื้อ Shigella
การรักษา
แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1. การรักษาเฉพาะ โดยให้ยาปฏิชีวนะทำลายเชื้อ เช่น Nalidixic acid, CO-trimoxazole หรือ Neomycin, Ampicillin ยาที่ให้ต้องให้นานอย่างน้อย 5 วัน หรือจนตรวจอุจจาระไม่พบเชื้อ 3 วันต่อกัน
2. การรักษาทั่วไป
ในรายที่มีอาการรุนแรง ให้น้ำและอีเล็คโทรลัยต์ให้เหมาะสม ถ้าปวดท้องมากให้ยาคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหรืออนุพันธ์ของมอร์ฟีน ให้ Kaolin เพื่อช่วยแก้อาการไม่สบายในท้อง ยาลดไข้ป้องกันการชัก ช่วยลดการสูญเสียน้ำ และช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้น
ข. Amoebiasis
โรคบิดจากเชื้ออมีบา หรือบิดมีตัว หรืออาจจะเรียกว่า Amoebic dysentery, Amoebic enteritis/Amoebic colitis เป็นการอักเสบของลำไส้ใหญ่ที่มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดถ่ายบ่อย พบได้ทั่วไปในบริเวณเขตร้อน และชิดเขตร้อน ในที่มีการสาธารณสุขยังไม่ดี
สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Entamoeba histolytica ซึ่งอยู่ใน 2 แบบคือ Trophozoite และ cyst
ระยะฟักตัว ประมาณ 5 วัน หรือ 3-4 อาทิตย์ อาจนานถึง 2-3 เดือน
พาหะของโรค คนที่เป็นโรค โดยเชื้อจะอยู่ในอุจจาระ
การติดต่อ โดยการรับประทานอาหารที่ปนเชื้อโรค หรือแมลงวันนำเชื้อมาสู่อาหาร เชื้อโรคนี้อยู่ในรูปของ cyst
ระยะติดต่อ ตั้งแต่เชื้ออยู่ในลำไส้จนกระทั่งตรวจอุจจาระไม่พบเชื้อ 3 วันติดต่อกัน
พยาธิสภาพ เมื่อคนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มี cyst เข้าไป เมื่อถึงกระเพาะอาหารจะถูกย่อยไปบ้าง แล้วจะผ่านเข้าลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่บริเวณ caecum ตัวอมีบาเล็ก ๆ 4 ตัว ออกมาจาก cyst ระยะนี้เชื้ออยู่ในระยะ trophozoite และ trophozoite เหล่านี้แบ่งตัวรวดเร็วโดยวิธี binary fission และผ่านเข้าไปในมิวโคซ่าและสับมิวโคซ่าของลำไส้ใหญ่ เมื่อทำลายชั้นสับมิวโคซ่า ทำให้เลือดจากชั้นนี้ไปเลี้ยงชั้นมิวโคซ่าไม่ได้หรือได้ไม่ดี ทำให้ชั้นมิวโคซ่าขาดเลือดเกิดเป็นแผลขึ้น แต่การทำลายในชั้นสับมิวโคซ่าเป็นไปอย่างกว้างขวางแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นแผลปากแคบ ก้นกว้าง (flask-shaped ulcer) ถ้าสภาพในลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสม trophozoite ก็จะเปลี่ยนตัวเองกลายเป็น cyst ซึ่งจะผ่านออกมากับอุจจาระ เมื่อคนกิน cyst นี้เข้าไปก็จะเกิดเป็นบิดได้ดังกล่าว เชื้อใน cyst จะไม่ออกจาก cyst ในตัวคนเดียวกัน trophozoite ที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ต้องอาศัยแบคทีเรียในลำไส้นั้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าแบคทีเรียในลำไส้ตาย อมีบาก็จะตายไปด้วย
แผลในลำไส้ใหญ่พบมากบริเวณ caecum, ascending colon, sigmoid colon, transverse colon และ rectum ลักษณะแผลพบว่าขอบแดง บวม มีมูกและเม็ดเลือดขาว แต่ไม่มากเท่าในราย Shigellosis มีเม็ดเลือดแดงอยู่เป็นกลุ่ม ๆ อาจพบพยาธิสภาพเฉพาะที่ caecum เรียกว่า Amoeboma ลักษณะเป็นการอักเสบมี gramulation tissue เป็นก้อนขนาดใหญ่ ดูคล้าย ๆ มะเร็งของลำไส้ใหญ่ ทำให้เข้าใจผิดได้
อาการและอาการแสดง
แบ่งตามลักษณะของโรคเป็น 3 แบบ
1. แบบเฉียบพลัน จะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว ปวดท้อง ปวดเบ่ง แต่น้อยกว่า Shigellosis ไม่มีไข้ อุจจาระครั้งต่อ ๆ ไปจะไม่มีเนื้ออุจจาระ มีมูกปนเลือดออกมาครั้งละไม่มาก กลิ่นเหม็นมากเหมือนหัวกุ้งเน่า กดเจ็บทั่วไปบริเวณของลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงบริเวณที่เป็น ส่วนใหญ่จะถ่ายอุจจาระวันละไม่เกิน 10 ครั้ง ตรวจอุจจาระพบ trophozoite ของเชื้อ E.histolytica
2. แบบเรื้อรัง จะมีอาการท้องเดินเรื้อรังหรือสลับท้องผูก และปวดท้องอย่างเรื้อรัง ตรวจอุจจาระพบได้ทั้ง Trophozoite และ cyst ของ E.histolytica
3. ลำไส้ใหญ่อักเสบ แบบนี้มักท้องผูก
การวินิจฉัยโรค
1. ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ การเพาะเชื้อได้ผลน้อย
2. ทำ Sigmoidoscopy และ Colonoscopy พร้อมกับขูดเนื้อเยื่อผิวบริเวณแผลมาตรวจหาเชื้อ
ในรายที่มี Amoeboma การตัดชิ้นเนื้อมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะแยกจากเซลมะเร็งได้
โรคแทรกซ้อน
1. เลือดออก
2. ลำไส้ทะลุ และทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
3. ลำไส้ตีบภายหลังแผลหาย
4. โรคบิดอมีบาที่ตับ ฝีบิดในตับ
การรักษา
1. การรักษาเฉพาะ ใช้ยารักษาอมีบา รวมทั้งการเจาะดูดเอาหนองออกจากฝีบิดในตับ ยาที่ใช้ได้แก่ Emetine, Metronidazole, Antibiotics เช่น Tetracycline Erythromycin, Aminosidine
2. การรักษาทั่วไป ให้ผู้ป่วยได้พักผ่อน ให้อาหารที่มีคุณค่าในการบำรุงร่างกายให้น้ำและอีเล็คโทรลัยต์ทดแทน
การพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นโรคบิด
1. ควรแยกผู้ป่วยไว้ต่างหาก รวมทั้งการแยกเครื่องใช้ประจำตัวผู้ป่วย ภายหลังให้การพยาบาลผู้ป่วย ต้องล้างมือให้สะอาด สิ่งที่ออกมาจากตัวผู้ป่วย เช่น อุจจาระ อาเจียน ควรมีภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ไม่ให้แมลงวันตอม และควรทำลายด้วยการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาไลโซล (Lysol) 2-5 เปอร์เซ็นต์ หรือฟอร์มาลิน 10 เปอร์เซ็นต์ นานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนนำไปทิ้งหรือเผาหรือฝัง ส่วนภาชนะที่ทำความสะอาดได้ เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ให้แยกทำความสะอาดจากผู้ป่วยอื่น โดยแช่ในน้ำยาไลโซล 2% หรือฟอร์มาลิน 5% นาน 1 ชั่วโมง หรือต้มในน้ำเดือดก่อนนำไปซัก ที่นอนเมื่อไม่ใช้แล้วควรนำไปผึ่งแดด
2. จัดให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนในที่ที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีแมลงวันหรือยุงรบกวน
3. ดูแลความสะอาดของร่างกายทั่ว ๆ ไป เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน รักษาความสะอาดของปาก ฟัน ผิวหนัง อวัยวะสืบพันธุ์
4. ในรายอ่อนเพลียมาก ๆ ควรพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยบ่อย ๆ เพื่อให้การไหลเวียนเลือดดี ป้องกันแผลกดทับ
5. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ถ่ายบ่อย ควรให้การดูแลและการพยาบาลอย่างใกล้ชิด สังเกตและบันทึก vital signs รวมทั้งลักษณะจำนวนของอุจจาระ ปัสสาวะ ดูแลให้ได้รับสารน้ำและอีเล็คโทรลัยต์ให้เพียงพอ
6. ในรายที่เลิกงดอาหารและน้ำแล้ว ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือน้ำอีเล็คโตรลัยต์ นม น้ำผลไม้ เริ่มให้อาหารเหลวครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้งก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อน เมื่ออาการดีขึ้นมาก จึงให้อาหารธรรมดา อาหารควรมีโปรตีนสูงจะช่วยให้แผลในลำไส้หายเร็วขึ้น และบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
7. ขณะมีไข้ ควรทำ tepid sponge จะช่วยลดไข้ ป้องกันอาการชัก และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบาย เสื้อผ้าผู้ป่วยควรแห้ง ไม่เปียกชื้น
8. การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เริ่มแรกนับว่ามีความจำเป็นและสำคัญมาก ดังนั้นพยาบาลควรดูแลการเก็บอุจจาระสดใหม่เพื่อส่งตรวจ โดยเก็บส่วนที่เป็นมูกเลือด รวมทั้งการป้ายอุจจาระในทวารหนักส่งไปห้องชันสูตรโรคทันทีที่เก็บได้
การให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติ
เนื่องจากโรคบิดพบมากในแหล่งที่ที่ชุมชนแออัด การสาธารณสุขไม่ดีพอ ฉะนั้น การให้สุขศึกษาแก่ประชาชนจะสามารถป้องกันและลดอัตราการเกิดของโรคนี้ได้ ควรแนะนำผู้ป่วยและญาติ ดังนี้
1. ให้สุขศึกษาให้มีความรู้ในเรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคล การสุขาภิบาลภายในบ้านเรือนและบริเวณใกล้เคียง การถ่ายอุจจาระในที่สมควร สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ การล้างมือภายหลังอุจจาระปัสสาวะ ก่อนปรุงอาหารและรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารดิบ เช่น ผักดิบ ตลอดจนการปกปิดอาหารไม่ให้แมลงวันตอม ทั้งควรกำจัดแมลงวันและแหล่งเพาะพันธุ์ด้วย
2. เมื่อมีผู้ป่วยโรคบิดภายในบ้าน ให้แยกผู้ป่วย ไม่ให้ทำการปรุงอาหาร ควรทำลายเชื้อในอุจจาระก่อนที่จะนำไปกำจัดโดยการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ห้ามใช้อุจจาระหรือของโสโครกอื่นใดเป็นปุ๋ยปลูกผัก ภาชนะเสื้อผ้าของผู้ป่วยต้องต้มหรือแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำไปซักและล้าง เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคนี้แล้ว ให้ทำความสะอาดห้องนอน และนำที่นอนหมอนมุ้งออกผึ่งแดด นอกจากนี้ควรตรวจอุจจาระของทุกคนในครอบครัวหรือบุคคลอื่น ๆ ที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจจะติดโรคมา และให้คำแนะนำรักษาจนกว่าจะไม่มีเชื้อโรคในอุจจาระ
ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever หรือ Enteric fever)
ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อโดยทางอาหารและน้ำเป็นส่วนใหญ่ คนที่เป็นแล้วสามารถเป็นได้อีก และบางคนที่รับการรักษาไม่เพียงพอก็เป็นพาหะของโรคได้
สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Salmonella typhi หรือ typhosa เป็นพวก Bacillus อยู่ในน้ำและน้ำแข็งได้เป็นเวลานาน
ระยะฟักตัว ประมาณ 10-14 วัน
พาหะของโรค ผู้ป่วยหรือคนที่มีเชื้อในร่างกายแต่ไม่มีอาการ ปล่อยเชื้อออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ อาเจียน
การติดต่อ โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
พยาธิสภาพ หลังจากรับประทานอาหารที่มีเชื้อเข้าไปถึงลำไส้เล็กส่วนต้นแล้ว เชื้อจะเข้าสู่ทางเดินน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลือง เข้า Thoracic duct ไปสู่กระแสเลือด ดังนั้น ในระยะ 7 วันแรก จะพบเชื้อในกระแสโลหิต อวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ไต และไขกระดูก เชื้อจะมีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นจนร่างกายกำจัดไม่ได้ เชื้อจะล้นกลับมาในกระแสโลหิตอีก และกลับเข้าสู่ลำไส้อีกทางท่อน้ำดีและถุงน้ำดี เกิดการแบ่งตัวที่เนื้อเยื่อน้ำเหลืองของลำไส้เล็ก คือ Payer's patches และ Lymphoid follicle ทำให้เกิดไตอักเสบและตาย กลายเป็นแผลมีเลือดออกหรือลำไส้ทะลุได้
ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นฝีที่ไต สมอง ปอด เนื่องจากมีเชื้อกระจายอยู่ทำให้เกิดการอักเสบได้
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ไข้จะสูงขึ้นวันละเล็กละน้อยภายใน 7-10 วัน จนถึง 38.8-40.5 องศาเซลเซียส และจะคงอยู่ในระดับนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นไข้จะค่อย ๆ ลดลง ในระหว่างที่มีไข้สูงนั้น ชีพจรจะต่ำกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับความสูงของไข้ ในสัปดาห์ที่สองอาจมีผื่นสีดอกกุหลาบ (rose spot) ขนาด 3-4 มิลลิเมตร ตามบริเวณท้อง หน้าอก หรือหลัง ภายใน 3-4 วันจะหายไป อาจพบการอักเสบของหลอดลม เจ็บคอ ไอ เลือดกำเดาออก ปวดท้อง ท้องอืด กดเจ็บ หรืออาเจียน บางรายอาจเกิด septicemia เกิดอาการเฉพาะที่ซึ่งเชื้อโรคเข้าไปอยู่ เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ ไตอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ปอดบวม
การวินิจฉัยโรค
1. จากอาการและอาการแสดง
2. จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ก. จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ
ข. การเพาะเชื้อ
ในสัปดาห์แรก จากไขกระดูกและเลือด
ในสัปดาห์ที่สอง จากอุจจาระและปัสสาวะ
ค. Widal Test-Agglutination Reaction for Antibody ซึ่งจะเริ่มเกิดขึ้นในโลหิตระหว่างสัปดาห์ที่ 2 และค่อย ๆ สูงขึ้น จนราวปลายสัปดาห์ที่ 3
โรคแทรกซ้อน
1. เลือดออกในลำไส้
2. ลำไส้ทะลุ
3. ไตอักเสบ
4. ถุงน้ำดีอักเสบ
5. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
6. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
7. ข้ออักเสบ
8. ปอดบวม
9. ผมร่วง
การรักษา
1. การรักษาเฉพาะ นิยมใช้ยาเพื่อทำลายเชื้อที่อยู่ภายในเซล เช่น Trimetroprim, Ampicillin, Choramphenicol
2. การรักษาทั่วไป ให้การรักษาพยาบาลตามอาการ เช่น ดูแลความสมดุลย์ของน้ำและอีเล็คโทรลัยต์รวมทั้งวิตามิน ให้อาหารเหลวไม่มีกาก และแคลอรีสูง (ประมาณ 3,600-4,800 แคลอรีต่อวัน) ลดไข้ในระยะที่มีไข้สูง
ถ้ามีโรคแทรกให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยา ให้เลือด หรือผ่าตัด
การพยาบาล
1. แยกผู้ป่วยจากผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ในระยะที่เป็นเฉียบพลันป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ออกจากผู้ป่วย เช่น เสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะ โดยการแยกห้องนอนของใช้ประจำตัวผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ตลอดจนญาติจะต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วย ทำลายเสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะ และทำความสะอาดของใช้ เสื้อผ้าด้วยน้ำยาไลโซล 1 : 10 เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
2. หมั่นสังเกตและบันทึก vital signs อาการท้องเดิน เพื่อทราบอาการเปลี่ยนแปลง
3. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำ และอีเล็คโทรลัยต์ ตลอดจนอาหารให้เพียงพอ
4. ระยะที่มีไข้ การทำ Tepid sponge แม้จะไม่ทำให้ไข้ลดลง แต่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายขึ้น
5. ดูแลความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะขณะที่มีอาการท้องเดิน มีไข้ เสื้อผ้าต้องแห้งไม่อับชื้น
6. หมั่นพลิกตะแคงตัวให้ในรายที่อ่อนเพลียมาก จัดให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในท่าที่สบาย ไม่มีส่วนใดถูกกดทับเป็นเวลานาน ๆ
7. ระวังปัญหาภาวะแทรกซ้อน หากพบว่ามีเลือดออกจากทางเดินอาหารต้องงดอาหารและน้ำทันที พร้อมกับรายงานพยาบาลหัวหน้าเวร ระยะท้องผูกไม่ควรสวนอุจจาระให้ เพราะอาจทำให้ลำไส้ทะลุได้ อาจใช้ยาพวกกลีเซอรีนเหน็บทวารหนักให้ได้ ในรายไม่รู้สึกตัว เพ้อคลั่ง ควรระมัดระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
การให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติ (Health education)
ควรให้สุขศึกษาแก่ประชาชนให้ทราบถึงอันตราย การติดต่อและการป้องกันโรคดังนี้
1. แนะนำเรื่องสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงขายไว้ตามตลาด สุขนิสัยเกี่ยวกับการขับถ่าย และการกำจัดอุจจาระปัสสาวะ ให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
2. แนะนำผู้ป่วยที่หายป่วยให้ล้างมือภายหลังถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และก่อนรับประทานอาหาร และห้ามปรุงอาหาร ในผู้ป่วยเด็กที่ยังไม่เข้าใจการทำความสะอาดตนเอง ญาติต้องทำให้และควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดโรคจากผู้ป่วยเด็ก
3. แนะนำให้ญาติพาเด็กมารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ เมื่อมีการระบาดของโรค หรือในฤดูร้อน ทั้งนี้เพราะในฤดูร้อน เชื้อโรคเจริญแพร่พันธุ์ได้ดีในอาหารและนม สำหรับเด็กปกติให้ฉีดวัคซีนเมื่อเข้าเรียนหนังสือปีแรก (อายุ 4--7 ปี) และก่อนออกจากโรงเรียนชั้นประถม (อายุ 11-14 ปี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น