เวาะดือแรแฮ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Knema furfuracea (Hook.f. & Thomson) Warb.
ชื่อวงศ์ MYRISTICACEAE
เทือกเขาบูโดที่เป็นที่รู้จักกันดีในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกจำนวน 6 ชนิด ที่มีการสำรวจและวิจัยโดยมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นข้อมูลที่น่าดีใจเพราะนกเงือกนั้นเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจจากชาวบ้านเล่าว่า ผลไม้บางชนิดที่นกเงือกกินเป็นอาหารนั้น เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้ในวิถีชุมชนมุสลิมรอบป่าเทือกเขาบูโดมานาน นั่นคือ ยาแก้คันจาก เวาะดือแรแฮ
"เวาะดือแรแฮ"
คือ ผลของเลือดควายใบใหญ่ เป็นพืชในตระกูล MYRISTICACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ Knema furfuracea (Hook.f. & Thomson) Warb. แต่ในความรู้ของชาวบ้านเป็นที่รู้กันดีว่า "เวาะดือแรแฮ" คือ อาหารเฉพาะของนกเงือกและเป็นผลไม้ที่นกทั่วไปไม่กิน เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ ชาวบ้านยังบอกอีกว่าเป็นผลไม้ที่มีรสเบื่อเมา หรือเป็นพิษสำหรับนกทั่วไปนั่นเอง แต่นกเงือกกินได้เพราะมีกระบวนการดูดซึมอาหารที่แตกต่างจากนกชนิดอื่น
ภูมิปัญญาชาวบ้านเรียนรู้โดยนำผลของ "เวาะดือแรแฮ" เคี่ยวในน้ำมันเป็นยาแก้คันตามผิวหนัง ซึ่งจากการไปเก็บข้อมูลกับหมอตำแยเมาะมีเนาะ หมู่บ้านสูกา ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ก็บอกตรงกันว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านของคนโบราณที่นำมาใช้แก้คัน กลากเกลื้อน เช่นเดียวกับข้อมูลของ "แมะ" หรือนางมือลอ มะแซ หมู่บ้านกำปงบือแน ตำบลเก๊ะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ก็ใช้ลักษณะเดียวกัน ส่วนหมอยายูนุ๊ มูซอ หมอยาพื้นบ้านที่จำหน่ายยาพืชสมุนไพรในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี บอกว่าเป็นตำรับยาที่ขายดีที่สุดเรื่องแก้คันตามผิวหนัง ส่วนวิธีการทำยาแก้คันจากเวาะดือแรแฮ จากภูมิปัญญาของผืนป่าบูโด คงต้องติดตามกันต่อไป
----------------------------------------------------------------------
สาปีนะห์ แมสาโมง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น