ยอง หรือ ไทยอง
...ชาวล้านนาจะออกเสียงเป็น "ญอง" แต่กลุ่มชาวไทยองมักออกเสียงเป็น "ยอง"
ชื่อยอง หรือ ไทยอง นี้ ใช้เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง
และกระจายอยู่ทั่วไปในแถบเมืองต่างๆ ในรัฐฉานด้านตะวันออกของพม่า เขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน
เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ กลุ่มชาวเมืองยองได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนเป็นส่วนใหญ่
ด้วยสาเหตุของสงครามการรวบรวมกำลังคน ต่อมาก็ได้กระจายไปอยู่ในหัวเมืองต่างๆ ในล้านนา
...จากการสำรวจครั้งล่าสุด (พ.ศ.๒๕๓๖) การเดินทางจากประเทศไทยไปเมืองยอง ตามเส้นทางที่เริ่มจากท่าขี้เหล็ก
ผ่านเมืองโก ตลาดท่าเดื่อ (เมืองเลน) ถึงเมืองพะยาก ระยะทาง ๘๓ กิโลเมตร สภาพทางอยู่ในระหว่างการปรับปรุงให้กว้างขึ้น
ก่อนถึงเมืองพะยากเป็นตลาดซึ่งมีทางแยก หากแยกขวาจะไปเมืองยอง แยกทางซ้ายไปเชียงตุง
ถนนจากเมืองพะยากไปเมืองยองระยะทาง ๗๔ กิโลเมตร ถนนแคบเต็มไปด้วยฝุ่น รถวิ่งได้เฉลี่ย ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (สรัสวดี อ๋องสกุล พ.ศ.๒๕๓๗)
...คำว่ายองหรือ "ญอง" อันเป็นชื่อเมืองนั้น ตำนานเมืองยองอธิบายว่า เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง
ครั้งหนึ่งมีนายพรานมาจากอาฬวีนคร ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "มหิยังคนคร" (ตำนานเมืองยอง)
ทั้งนี้ในภาษาล้านนา คำว่า "ยอง" แปลว่าสดใส เปล่งปลั่ง
...เมืองยองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเชียงตุง ห่างกันประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายประมาณ ๑๕๗ กิโลเมตร
บริเวณเมืองยองเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออก
แม่น้ำสายสำคัญ คือ น้ำลาบ น้ำวัง และน้ำยอง จึงไหลไปทางทิศตะวันออก
...เมืองยองมีประตูเวียง ๗ ประตู คือ ประตูเสื้อเมือง ประตูน้อย ประตูดินแดง ประม่อนแสน ประตูปางหิ่ง ประตูหูหูด และประตูผาบ่อง
บริเวณใจกลางเมืองมีต้นสรี หรือต้นโพธิ์มีไม้ค้ำโดยรอบ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่องไม้ค้ำสรีเช่นเดียวกับคนเมืองในล้านนา
...เมืองยอง เป็นเมืองที่มีตำนานกล่าวถึงพัฒนาการของบ้านเมืองที่เริ่มขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
โดยเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนพื้นเมือง ซึ่งได้แก่พวกลวะหรือทมิฬ
ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีกลุ่มคนไทยจากเมืองเชียงรุ่ง นำโดยเจ้าสุนันทะโอรสของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง
ได้พาบริวารเข้ามามีอำนาจปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง
โดยมีทั้งปัจจัยภายในเป็นสิ่งสนับสนุน
ได้แก่ การผสมผสานระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอยู่แต่เดิมกับพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง
กับได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง
ส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติและระบบบรรณาการกับเมืองเชียงรุ่ง เชียงตุงและ
การสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มเมืองในที่ราบเชียงราย บนฝั่งแม่น้ำโขงตอนกลาง
เช่น เชียงแสน เชียงของ เป็นต้น เมืองยองในยุคต้นของตำนานจึงมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับเมืองเชียงรุ่งอย่างใกล้ชิด
...จากความสัมพันธ์ดังกล่าว คนเมืองยองจึงสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมืองอื่นๆ ในสิบสองพันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ
และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๔๘ คนทั่วไปจึงเรียกว่า "คนเมืองยอง"
เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ (Nation State) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น
ในสมัยนั้นผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียกขานกันตามชื่อบ้านเมืองเดิม
เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น
ในกรณีของคนเมืองยองต่อมาคำว่า "เมือง" ได้หายไป คงเหลืออยู่แต่คำว่า "ฅนยอง"
ดังนั้น "ยอง" จึงมิใช่เป็นชาติพันธุ์
เมื่อวิเคราะห์จากพัฒนาการและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมืองยองแล้ว คนยองก็คือคนเผ่าไทลื้อนั่นเอง
...เมืองยอง ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบไม่กว้างใหญ่นัก มีภูเขาล้อมรอบ มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำที่ดี
นับเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจึงมีผู้คนอพยพจากที่ต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดเวลา
เขตกำแพงเมืองลักษณะกลมรีตั้งอยู่บนเนินสูง มีคูน้ำคันดิน ที่ตั้งประกอบด้วยประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ดังนี้
ด้านเหนือ ติดกับดอยปางหนาว มีประตูม่อนแสน
ด้านใต้ ติดที่ราบโดยมีแม่น้ำยองไหลผ่าน มีประตูเสื้อเมือง
ด้านตะวันออก ติดที่ราบ มีประตูป่าแดง และประตูน้อย
ด้านตะวันตก ติดเทือกเขา มีประตูปางหิ่ง
...ในยุคที่อาณาจักรล้านนาสมัยราชวงศ์มังรายเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจ เมื่อกองทัพฮ่อยกกองทัพเข้ายึดเมืองยองได้และเลยมาตีถึงเชียงแสน สมัยพระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.๑๙๔๗-๑๙๔๘) กองทัพเชียงใหม่สามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเชียงแสนและเมืองยองได้
เมืองยองจึงได้หันมาส่งบรรณาการให้กับเชียงใหม่ ในสมัยที่ล้านนามีอำนาจสูงสุด พระญาติโลกราช (พ.ศ.๑๙๘๔-๒๐๓๐) ได้ขึ้นไปปกครองเมืองยองอยู่ระยะหนึ่งในราว พ.ศ.๑๙๘๕ เพราะตำนานเมืองยอง และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการขยายอำนาจของล้านนาไปจนถึงดินแดนสิบสองพันนา
พระญาติโลกราช ซึ่งในตำนานได้ระบุว่า "พระเจ้าอโศก" ได้บูรณะพระธาตุจอมยอง และทรงทะนุบำรุงพุทธศาสนาในเมืองยองให้เจริญมั่นคง
สันนิษฐานว่าพุทธศาสนาแบบลังกาได้ขึ้นไปเผยแผ่ถึงหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบนระยะเวลานี้ด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยองกับเชียงใหม่ ที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย
...ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ ในยุคที่อาณาจักรขนาดใหญ่ได้ขยายตัวออกไปโดยการทำสงคราม เช่น พม่า จีน หรือสิบสองพันนา
ดังนั้น ล้านนาและล้านช้างจึงให้ความสำคัญต่อการเพิ่มกำลังคน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการขยายอำนาจและการสร้างอาณาจักร และยังใช้เป็นสิ่งที่แสดงอิทธิพลเหนือดินแดนต่างๆ ในปริมณฑลแห่งอำนาจหรือเมืองชายขอบ
จากสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เมืองยองจึงอยู่ท่ามกลางการขยายอำนาจ และการแสดงอิทธิพลของศูนย์อำนาจต่างๆ ตลอดเวลา
การอยู่ในฐานะรัฐกันกระทบหรือรัฐกันชน (Buffer State) ระหว่างอาณาจักรใหญ่ จึงต้องปรับตัวโดยการสร้างความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจจากฝ่ายต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ทำให้เมืองยองมีลักษณะเป็นเมืองที่เรียกกันว่า "เมืองสามฝ่ายฟ้า" เพราะมีความสัมพันธ์ในเชิงบรรณาการ (tribute) และเชิงอำนาจกับจีน พม่า และเชียงใหม่
ในเวลาเดียวกันในยามทำสงคราม เมืองยองจึงถูกดึงเข้าสู่การสู้รบโดยถูกเกณฑ์ทั้งเสบียงอาหารและผู้คน ตลอดจนการกวาดต้อนผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆ
ครั้งที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ เมื่อกองทัพเชียงใหม่สมัยพระเจ้ากาวิละ นำโดยเจ้าอุปราชธัมมลังกา และเจ้าคำฝั้น ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบนที่เคยมีความสัมพันธ์กันในด้านสังคมและวัฒนธรรม มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของพระเจ้ากาวิละ โดยการสนับสนุนของกรุงเทพฯ เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองต่างๆ ในล้านนา เพราะได้รับความเสียหายจากสงครามและการยึดครองของพม่า
...เมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายที่พม่าได้ใช้เป็นฐานกำลังสำคัญในการควบคุมหัวเมืองต่างๆ ในดินแดนทางตะวันออกบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ได้ถูกกองทัพของเจ้ากาวิละตีแตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗ ในปีถัดมา พ.ศ.๒๓๔๘ กองทัพจากหัวเมืองต่างๆ นำโดยกองทัพเมืองเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปถึงเมืองยองและได้ "เทครัว" คือนำผู้คนในเมืองยองและหัวเมืองใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ให้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้คนเบาบาง
การ "เทครัว" จากเมืองยองครั้งนี้ เป็นการอพยพผู้คนครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ที่มีการนำมาทั้งระบบของเมืองอันประกอบด้วยเจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และผู้นำท้องถิ่นระดับต่างๆ ตลอดจนไพร่พลจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน
...ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละและญาติ ได้ตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เวียงป่าซางเขตเมืองลำพูน จนมีกำลังคนเพียงพอแล้ว จึงได้เข้ามาตั้งมั่นและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละยังได้ดำเนินการรวม และกวาดต้อนผู้คนต่อมาอีกหลายครั้ง และได้ขยายขอบเขตการกวาดต้อนผู้คนออกไปยังบริเวณอื่น โดยเฉพาะในแถบตะวันออกของแม่น้ำคง
ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ดำรงตำแหน่งเจ้าประเทศราช ในปี พ.ศ.๒๓๔๕ ทำให้พระเจ้ากาวิละเป็นที่ยอมรับของหัวเมืองต่างๆ ในล้านนาและหัวเมืองทางตอนบน
อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากในคราวที่พระเจ้ากาวิละยกกองทัพไปตีเชียงแสน ในปี พ.ศ.๒๓๔๕-๒๓๔๗ ก็ได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากกรุงเทพฯ เวียงจันทน์ เมืองลำปาง เมืองน่าน และครั้งที่ยกไปตีและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๓๔๘ นั้น ก็ได้รับการสนับสนุนกองทัพจากเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน และเชียงตุง ที่มีกำลังคนถึง ๑๙,๙๙๙ คน นับเป็นการยกทัพครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยพระเจ้ากาวิละ
...หลังจากทัพพม่าที่เชียงแสนถูกทัพจากเชียงใหม่ตีแตกในปี พ.ศ.๒๓๔๗ แล้ว ทัพเชียงใหม่ได้ยกขึ้นไปตีเมืองยองก่อนเมืองอื่น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะของเมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ว่าเป็นศูนย์อำนาจย่อยของหัวเมืองบริเวณใกล้เคียง
ดังเช่นในสมัยพระเจ้าสุทโธธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๙๑) พม่าได้มอบหมายให้เมืองยองดูแลหัวเมืองต่างๆ ถึง ๑๒ หัวเมืองมาก่อน
การที่ทัพเชียงใหม่ยกมาครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เมืองยอง โดยเห็นได้จากภายหลังที่เมืองยองยอมสวามิภักดิ์แล้ว มีผลทำให้หัวเมืองอื่นๆ ในบริเวณแถบนี้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ทำให้กองทัพเชียงใหม่สามารถขยายอิทธิพลเข้าไปถึงสิบสองพันนาและหัวเมืองอื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของพม่าได้สะดวก
..."ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" เป็นเอกสารพื้นเมืองเพียงฉบับเดียวที่ให้รายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่กองทัพเชียงใหม่ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ ในการที่พระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองยองครั้งนี้ ก็อ้างว่าเป็นการกระทำดังที่กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายได้ปฏิบัติมาก่อน แต่จากการที่เมืองยองได้ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี และยังได้ถวายสิ่งของต่างๆ รวมไปถึงนางหน่อแก้วเกี๋ยงคำ น้องต่างมารดาของเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองให้กับเจ้าอุปราชธัมมลังกาด้วย พร้อมกับผู้คนอีก ๑๙,๙๙๙ คน และอาวุธต่างๆ เช่น ปืนใหญ่ถึง ๑,๙๙๙ กระบอก กับช้างม้าเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทางเมืองยอง ก็ได้มีกำลังไพร่พลและอาวุธอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
...เป็นที่น่าสังเกตว่า "ตำนานเมืองยอง" ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม กลับกล่าวถึงการสู้รบอย่างหนักติดต่อกันนานถึง ๓ วัน กองทัพของเชียงใหม่ที่ยกมายังประกอบด้วยกองทัพของเจ้าเชียงตุงและเจ้าจอมหง (เจ้าเชื้อสายเชียงตุง) การรบครั้งนี้ทำให้เจ้าจอมหงแม่ทัพคนสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายเชียงใหม่เสียชีวิต แต่เมืองยองก็แพ้ต่อกองทัพเมืองเชียงใหม่
ดังที่ "ตำนานเมืองยอง" กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "...แต่นั้นครั้นรบกัน ได้แพ้ (ชนะ) เมืองยองแล้ว ก็เอากันไปหาบ้านเมืองแห่งเขาหั้นและ..."
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองยองไม่ได้ยอมสวามิภักดิ์ตามที่ "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" กล่าวไว้ และในขณะที่เอกสารที่เขียนโดยชาวอังกฤษชื่อ เจ ยอร์จ สกอตต์ (J.George Scott) ได้กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ว่า คนเมืองยองได้ตื่นตระหนกตกใจหนีเข้าป่าไปจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งถูกบังคับและกวาดต้อนไป บ้านเมืองถูกทำลายและได้รับความเสียหายจากกองทัพสยาม
...ในขณะที่กองทัพเชียงใหม่พักไพร่พลอยู่ที่เมืองยองในปี พ.ศ.๒๓๔๘ นั้น ก็ได้ถือโอกาสยกทัพออกไปปราบปรามและกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองยองและดินแดนสิบสองพันนา ได้แก่ บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองกาย เมืองขัน เชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองหน (หุน) เมืองแช่ เมืองราย (ฮาย) เมืองเจื่อง ท่าล้อ เมืองพาน เมืองม้า เมืองของ เมืองวัง เมืองมาง เมืองขาง เมืองงาด เมืองออ เมืองงิม เมืองเสี้ยว เชียงรุ่ง ทำให้อำนาจของเชียงใหม่ขยายกว้างใหญ่ดังที่เป็นมาแล้วในสมัยราชวงศ์มังราย
ครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละน่าจะได้มอบหมายให้เจ้าเมืองยองและไพร่พลเข้ามาตั้งอยู่ที่เขตเมืองเชียงใหม่และลำพูน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแบ่งไพร่พลเมืองยองให้กับเมืองต่างๆ เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าไพร่พลเหล่านั้นของตนไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใดของเมืองเชียงใหม่หรือลำพูน แต่น่าจะเป็นบริเวณรอบๆ ตัวเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ เพราะในปัจจุบันมีชื่อหมู่บ้านและชุมชนกระจายตัวอยู่รอบๆ ตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น บ้านเมืองวะ บ้านเมืองก๋าย บ้านเมืองเลน บ้านเมืองลวง บ้านวัวลาย บ้านตองกาย บ้านท่าสะต๋อย บ้านเชียงขาง วัดเชียงรุ่ง เป็นต้น
จะมีเพียงเจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องพร้อมกับไพร่พลเท่านั้นที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนและมีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองร่วมกับกลุ่มเจ้าเจ็ดตน
การตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน
...ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๔๗ ก่อนการรื้นฟื้นเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองลำพูน ด้านการปกครองยังคงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่จนถึงปี พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งและฟื้นฟูเมืองลำพูนอันเป็นนโยบายการเตรียมกำลังคนเพื่อสนับสนุนเชียงใหม่เมื่อมีการสงคราม
นอกจากนี้กำลังคนในเมืองลำพูนก็ลดลงไป ในครั้งที่พระเจ้ากาวิละพาไปตั้งที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๓๙ ครั้งหนึ่งแล้ว ยังสูญเสียไปกับความไม่สงบและสงครามหลายครั้ง
เมืองลำพูนจึงอยู่ในสภาพที่จะรองรับผู้คนที่มาจากเมืองยองและเมืองต่างๆ
นอกจากนี้เมืองลำพูนยังอยู่ติดกับเชียงใหม่ ทำให้สามารถควบคุมดูแลได้ง่าย กับทั้งยังเป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่ญาติพี่น้องที่ได้ช่วยกันทำศึกสงครามมาเป็นเวลานานและเป็นการขยายตำแหน่งทางการเมือง เพื่อป้องกันการขัดแย้งในการขึ้นดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหมู่พี่น้องตระกูลเจ้าเจ็ดตนในอนาคตอีกด้วย
...ดังนั้นเมื่อเดือน ๗ (ราวเดือนเมษายน) ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ พ.ศ.๒๓๔๘ พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าคำฝั้นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่และเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตร ภรรยา น้องทั้ง ๔ ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์ และไพร่พลจากเมืองยองนับ ๑๙,๙๙๙ คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันพุธขึ้น ๘ ค่ำ จึงเข้ามารื้อฟื้นลำพูนได้ พระสงฆ์จำนวน ๑๙๘ รูป สวดมงคลพระปริตรในที่ไชยยะมงคล ๙ แห่งในเมืองลำพูน
...เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง และพระสงฆ์ระดับสูง ได้ตั้งเข้าอยู่บริเวณเวียงยอง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ส่วนไพร่พลอื่นๆ ได้แยกย้ายกันออกไปตั้งใจพื้นที่ต่างๆ ของลำพูน
...การที่ชาวยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นจำนวนมาก ในระยะแรกกลุ่มเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูนได้ยินยอมให้เจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างจากเจ้าเมืองอื่นๆ ที่อพยพมาในคราวเดียวกัน
...ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๔๕ ได้จัดทำสำมะโนประชากรในเมืองลำพูนเป็นครั้งแรก ในสมัยของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ ๙ พบว่ามีประชากรทั้งหมด ๑๙๙,๙๓๔ คน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งสอดคล้องกับที่ ร้อยโท ดับเบิ้ลยู ซี แมคเคลาด์ (W.C. McCloed) ข้าราชการชาวอังกฤษ ได้รายงานไว้ในช่วงระยะเวลาที่เดินทางเข้ามาในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.๒๓๘๙
..."ฅนยอง" หรือ "ชาวยอง" จึงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูน ประชากรมากกว่าร้อยละ ๘๙ สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียง
เช่น เมืองยู้ เมืองหลวย ในแถบหัวเมืองทางตอนบน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสหภาพพม่าและสิบสองพันนาของจีน องค์ประกอบด้านประชากรจึงแตกต่างไปจากหัวเมืองอื่นๆ ในล้านนา การผสมผสานและการปรับตัวของคนยองในเมืองลำพูน จึงไม่ใช่เป็นลักษณะของคนส่วนน้อยในสังคม (Minority Group) ดังเช่นกลุ่มชาวเขิน ลื้อ ลวะ กะเหรี่ยง ยางแดง ไทใหญ่ หรือเงี้ยว จีน หรือฮ่อ ที่อพยพเข้ามาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ "ฅนยอง" ในเมืองลำพูน จึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ภาษาไว้ได้ค่อนข้างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับเมืองยอง
๑. กลุ่มชาวลวะหรือทมิฬ ได้จัดตั้งชุมชนในบริเวณหนองน้ำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองยอง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
๒. ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เจ้าสุนันทะ บุตรชายเจ้าเมืองเชียงรุ่ง พาบริวารมาตั้งถิ่นฐานและอยู่ร่วมกับคนพื้นเมืองคือชาวลวะหรือทมิฬ ต่อมาได้มีอำนาจปกครองเมืองยอง
๓. พุทธศาสนาจากเมืองเชียงรุ่งได้เผยแผ่เข้ามาถึงเมืองยอง สมัยพระยาสุรังควุฒิ เจ้าเมืองลำดับที่ ๘ (พ.ศ.๑๙๔๕-๑๙๘๔) มีการนำเอาพระธาตุมาบรรจุและสร้างพระธาตุบนเนินเขาด้านทิศใต้บนฝั่งแม่น้ำยอง เรียก "พระธาตุจอมยอง" และมีการปลูกต้นโพธิ์หรือไม้สรีด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองเพื่อเป็นสรีเมือง ปัจจุบันเรียก "ไม้สรีฅำ"
๔. พระญาติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในตำนาน "เมืองยอง" ระบุเป็น พระเจ้าอโศกธัมมิกราช ปกครองเมืองยองเป็นลำดับที่ ๙ อยู่ในช่วงสั้นๆ พระพุทธศาสนาได้รับการทะนุบำรุง บ้านเมืองสงบปราศจากศึกสงคราม
๕. ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๓๐-๒๐๓๘ เมืองยองส่งบรรณาการให้ทั้งเชียงใหม่และเชียงรุ่ง
๖. พ.ศ.๒๐๕๐-๒๑๐๐ เมืองยองไปขึ้นกับพม่า
๗. พ.ศ.๒๑๙๑ เมืองยองขึ้นกับเมืองเชียงแขง ภายใต้การดูแลของเชียงรุ่ง
๘. หลังปี พ.ศ.๒๑๙๑ เมืองยองกลับไปขึ้นกับพม่าอีกครั้งหนึ่ง และได้รับมอบหมายให้ดูแลหัวเมืองต่างๆ ทางตอนบน เจ้าเมืองยองหลายคนพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพม่าแต่ไม่สำเร็จ
๙. พ.ศ.๒๓๔๘ สมัยเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองลำดับที่ ๓๓ เชียงใหม่ได้ส่งกองทัพมากวาดต้อนผู้คนนับได้ ๑๙,๙๙๙ คน จากเมืองยองลงมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน
๑๐. พ.ศ.๒๓๕๖ พระเจ้ากาวิละได้พาเจ้าสุริยวงศาเจ้าเมืองลำดับที่ ๓๔ และไพร่พลที่เหลืออยู่ลงมาที่เชียงใหม่ ลำพูน
๑๑. พ.ศ.๒๔๘๔ ทหารจีนกองพล ๙๓ กรมที่ ๒๗๘ จากสิบสองพันนา ยกเข้าตั้งที่เมืองยอง ผู้คนแตกตื่นหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมาก
๑๒. ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๗-๒๔๘๘ กองทัพไทยได้ยกเข้าไปตั้งที่เมืองยองแทนทหารจีนกองพล ๙๓ จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ถอยกลับมา
๑๓. สมัยเจ้าหม่อมหงส์ฅำ เจ้าเมืองลำดับสุดท้ายถึงปี พ.ศ.๒๔๙๗ รัฐบาลพม่าได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง ให้เมืองยองมีฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดเชียงตุงจนถึงปัจจุบัน
...เมืองยองในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๑) ประกอบด้วยหมู่บ้านประมาณ ๗๙ หมู่บ้าน มีประชากรราว ๑๑,๙๙๙-๑๓,๙๙๙ คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองต่างๆ ในสิบสองพันนาปะปนกับชาวดอย เช่น แอ่น ว้า อีก้อ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่