วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

หน้าที่หลักทางคลินิกของพยาบาลวิชาชีพ

หน้าที่หลักทางคลินิกของพยาบาลวิชาชีพ

1.การประเมินผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการ (Assessment)
..........การประเมินผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการ หมายถึง การปฏิบัติดังต่อไปนี้
..........1.1 การประเมินปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการอย่างถูกต้องครบถ้วนทันทีที่รับไว้ในความดูแล การติดตามเฝ้าระวังและการประเมินปัญหา / ความต้องการอย่างต่อเนื่องตลอดการดูแล จนกระทั่งจำหน่ายจากการดูแล
..........1.2 การรวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานการดูแล / การพยาบาลที่กำหนด และข้อมูลนั้นมีคุณภาพเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหา การวางแผนการดูแล รวมทั้งเพียงพอต่อการประเมินผลการพยาบาล

2. การจัดการกับอาการรบกวนต่าง ๆ (Symptom Distress Management)
..........การจัดการกับอาการรบกวนต่าง ๆ หมายถึง การช่วยเหลือชจัดหรือบรรเทาอาการรบกวนต่าง ๆ ทั้งอาการรบกวนด้านร่างกายและจิตใจ ได้แก่ อาการที่คุกคามชีวิตและอาการรบกวนความสุขสบาย เช่น การช่วยฟื้นคืนชีพ การช่วยหายใจ การบรรเทาอาการปวด อาการคลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ วิตกกังวล กลัว เป็นต้น

3. การดูแลความปลอดภัย (Provision for Patient Safety)
..........การดูแลความปลอดภัย หมายถึง การปฏิบัติดังต่อไปนี้
..........3.1 การจัดการให้ผู้ป่วย / ผุ้ใช้บริการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ เคมี รังสี ความร้อน แสงและเสียง โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่าง ๆ เช่น การพลัดตกหกล้ม การบาดเจ็บจากการผูกยึด การบาดเจ็บจากการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล
..........3.2 การจัดการดูแลอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้เพื่อการรักษาพยาบาลให้มีเพียงพอ พร้อมใช้ในภาวะฉุกเฉิน มีความปลอดภัยในการใช้งานกับผู้ป่วย เพื่อให้สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ไม่พร้อมหรือไม่ปลอดภัย
..........3.3 การจัดการ การส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับมีการปฏิบัติงานตามมาตรฐานหรือแนวทางที่กำหนดเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำงาน

4. การป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างรักษาพยาบาล (Prevention of Complication)
..........การป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษาพยาบาล หมายถึง กิจกรรมการพยาบาลใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย แต่ละราย หรือแต่ละกลุ่มโรค / อาการ รวมทั้งการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากผลข้างเคียงของการรักษาด้วย เช่น การป้องกันอันตรายจากการให้ยาบางชนิด การให้เลือด การให้ออกซิเจน การห้ามเลือด การจำกัดการเคลื่อนไหวผู้ป่วย / อวัยวะด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นต้น

5. การให้การดูแลต่อเนื่อง (Continuing of Care)
..........การให้การดูแลต่อเนื่อง หมายถึง การจัดการให้เกิดการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่ การเฝ้าระวังสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง การส่งต่อแผนการรักษาพยาบาล การประสานงานกับหน่วยงานหรือทีมงานที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารเพื่อการส่งต่อผู้ป่วยทั้งการส่งต่อภายในหน่วยงาน ระหว่างหน่วยงานในโรงพยาบาล ระหว่างโรงพยาบาลหรือหน่วยงานภายนอกโรงพยาบาล รวมทั้งการช่วยเหลือกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วย

6. การสนับสนุนการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการและครอบครัว (Facilitation of Patient & Family Self Care)
..........การสนับสนุนการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการและครอบครัว หมายถึง กิจกรรมการช่วยเหลือ การสื่อสารเพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และการฝึกทักษะที่จำเป็นในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการผิดปกติ การแก้ไขอาการเบื้องต้น การป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การใช้ยา การปฏิบัติตนตามการรักษา การขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพ การปฏิบัติเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และการมาตรวจตามนัด ทั้งนี้รวมถึงการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น การอธิบายก่อนลงนามยินยอมรักษาพยาบาล หรือก่อนการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลแห่งอื่น และการแจ้งข่าวร้ายกรณีผู้ป่วยเสียชีวิต

7. การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการ (Enhamcement of Patient Satisfaction)
..........การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการ หมายถึง กิจกรรมการพยาบาลบนพื้นฐานของสัมพันธภาพ และการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการ ด้วยบุคลิกภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะเกี่ยวกับการช่วยเหลือเอาใจใส่ การให้ข้อมูลและการตอบสนองความต้องการ / ความคาดหวังของผู้ป่วย / ผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

หน้าที่และความรับผิดชอบของพยาบาลศัลยกรรม

หน้าที่และความรับผิดชอบของพยาบาลศัลยกรรม
..........การพยาบาลผู้ป่วยในแผนกศัลยกรรม เป็นการพยาบาลผู้ที่มีอาการของโรคซึ่งส่วนมากจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาอาจเป็นการบำบัดอาการของโรคโดยตรงหรือรักษาอาการแทรกซ้อนของโรคที่เกิดขึ้น หรือเป็นการบรรเทาอาการของผู้ป่วยในบางราย เช่น อาการปวดในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง อาจทำการผ่าตัดเพื่อ block nerve ให้ทุเลาอาการปวด เป็นต้น ตามปกติแล้วการผ่าตัดมักจะทำเมื่อการรักษาโดยการใช้ยาหรือวิธีอื่นไม่ได้ผลแล้ว
..........การรักษาโรคทางศัลยกรรม มีการแยกผู้ป่วยออกเป็นหลายประเภท เช่น ผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมออร์โธปิดิคส์ ศัลยกรรมจักษุ โสด ศอ นาสิก และลาริงซ์ ศัลยกรรมทรวงอก ศัลยกรรมช่องท้อง ศัลยกรรมประสาท และสมอง เป็นต้น
..........ผู้ป่วยที่มารักการรักษาทางแผนกศัลยกรรมมีทั้งผู้ป่วยเพศหญิง เพศชาย รวมทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ด้วย นอกจากนั้นบางรายเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการผ่าตัดทั้นที ส่วนบางรายต้องคอยการตรวจต่าง ๆ ให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วจึงจะได้รับการผ่าตัด

การให้การพยาบาลผู้ป่วย
..........ก่อนที่จะให้การพยาบาลผู้ป่วย ผู้ให้การพยาบาลจะต้องศึกษาอาการ อาการแสดงของโรคและความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยการศึกษาจากตัวผู้ป่วย รายงานผู้ป่วย และจากปฏิกิริยาที่ผู้ป่วยแสดงออกมา ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลมีอาการมากน้อยไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ระดับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วย อายุ เพศ และขนบธรรมเนียมประเพณี ฉะนั้น ผู้ให้การพยาบาลจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

..........1. ให้ความสุขสบายแก่ผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
..........ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคที่เห็นได้ชัดเจน มิใช่ว่าอาการของเขาจะจำกัดอยู่ที่บริเวณที่เป็นโรคเท่านั้น แต่เขาจะมีอาการทางจิตใจร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยที่แขนหักต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
..........1.1. กระวนกระวายใจ นอนไม่หลับ เพราะไม่คุ้นเคยกับสถานที่ ไม่คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ ไม่เข้าใจกฎระเบียบของโรงพยาบาล
..........1.2. ว้าเหว่ที่ต้องจากบ้านมา กลัวถูกทอดทิ้งโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยสูงอายุ เขาจะรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง
..........1.3. ความกลัวของผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มักจะเกิดความกลัวจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น กลัวการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค, กลัวการเตรียมบริเวณเพื่อทำการผ่าตัด, กลัวการดมยาสลบ, กลัวที่จะต้องถูกผ่าตัด, กลัวจะพบความเจ็บปวดและความไม่สบายต่าง ๆ หลังผ่าตัด, กลัวจะต้องถูกตัดอวัยวะบางส่วนออกไปทำให้พิการ, กลัวเมื่อผ่าตัดแล้วจะไม่หาย หรือไม่สวยงาม เช่น ในรายที่ผ่าตัดเพื่อเสริมความงาม หรือผ่าตัดตบแต่งเพื่อให้อวัยวะใช้การได้, ฯลฯ
..........ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวจะมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ ซึมเศร้า ร้องไห้ ไม่อยากพูดกับพยาบาลซึ่งเป็นคนเปลกหน้า ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการตรวจรักษา ฉะนั้นผู้ให้การพยาบาลจะต้องเข้าใจผู้ป่วย ให้ความสนิทสนม เอาใจใส่ ชวนพูดคุย ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย ต้องมีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีความกังวลใจ หรือไม่สบายใจ ต้องให้ผู้ป่วยพูดออกมาเพื่อเป็นการระบายความรู้สึก และควรหาโอกาสชี้แจงหรือแนะนำเกี่ยวกับการักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยเข้าใจอย่างถูกต้องและย้ำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจต่อการรักษาที่เขาจะได้รับ การช่วยอีกวิธีหนึ่งคือ จัดให้ผู้ป่วยที่มาคอยรับการผ่าตัดได้พูดคุยกับผู้ที่เป็นโรคเดียวกัน และได้รับการบำบัดโดยการผ่าตัดมาแล้ว จะช่วยทำให้ผู้ป่วยสบายใจขึ้นบ้าง
..........ในการให้การพยาบาลผู้ป่วยนั้น จะต้องมีการวางแผนให้ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย ตามปกติมนุษย์ทุกรูปทุกนามมีความต้องการอยู่ตลอดเวลาทั้งในยามปกติและยามเจ็บป่วย โดยเฉพาะยามเจ็บป่วยมักมีความต้องการมากกว่าธรรมดา ซึ่งผู้ให้การพยาบาลจะต้องช่วยเหลือทั้งด้านการตอบคำถาม ชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจในการรักษาพยาบาล จะช่วยให้ผู้ป่วยลดความกลัวและความวิตกกังวลลงได้ ทั้งนี้ผู้ให้การพยาบาลจะต้องมีความเมตตากรุณา มีความรู้ความสามารถในการให้การพยาบาลผู้ป่วยเป็นอย่างดี มีท่าทีอบอุ่นและเต็มใจที่จะช่วยผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา

..........2. ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
..........การที่จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องนั้น ผู้พยาบาลจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรค อาการและการแสดงของโรคตลอดจนการพยาบาลผู้ป่วยทางศัลยกรรมเป็นอย่างดี สามารถนำความรู้มาปรับเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ให้การดูแลได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
..........การป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้นยังอาศัยจากการสังเกตอาการของผู้ป่วย การที่จะทราบอาการของผู้ป่วยนั้น ผู้ให้การพยาบาลจะต้องเข้าใจคำว่า Signs และ Symptoms ด้วย
..........signs หมายถึง อาการที่ผู้อื่นสังเกตเห็น เช่น ขณะที่ผู้ป่วยมีไข้จะมีหน้าตาแดง ตัวร้อน ซึ่งเราทราบได้โดยการสัมผัส แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยตัวร้อนมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้ปรอทวัดความร้อนของร่างกายวัดดูจึงจะทราบชัดเจนว่าร้อนเท่าใด
..........symptoms หมายถึง อาการแสดงซึ่งเกี่ยวกับพยาธิสภาพของโรคที่ทำให้การทำงานของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น ใจสั่น ปวดท้อง อ่อนเพลีย เป็นต้น
..........การสังเกตอาการของผู้ป่วย ประกอบด้วย
..........2.1 การมอง พยาบาลจะต้องมีไหวพริบ และมีความชำนาญพอจึงจะสังเกตอาการของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติงานมานาน จะสังเกตอาการคนไข้ได้ว่า จากการมองนั้นได้อะไรจากผู้ป่วยบ้าง เช่น มองเห็นความผิดปกติของสีหน้าผู้ป่วย ท่านอนของผุ้ป่วย ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีหรือไม่ ร่างกายมีบาดแผล มีเลือดออก หรือรอยฟกช้ำดำเขียวที่ไหนบ้าง
..........2.2 การสัมผัส จากการแตะต้องผู้ป่วย จะทราบได้ว่าผู้ป่วยมีไข้หรือไม่ หรือความตึงตัวของกล้ามเนื้อเป็นอย่างไร
..........2.3 การได้กลิ่น จะต้องสังเกตกลิ่นต่าง ๆ ที่ขับถ่ายออกจากตัวผู้ป่วยว่ามีกลิ่นผิดปกติอย่างไรหรือไม่ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ หนอง หรือกลิ่นแผลของผู้ป่วย
..........2.4 การฟัง ฟังเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน เช่น ฟังเสียงพูดว่ามีเสียงแหบแห้งอย่างไร เสียงการเต้นของหัวใจ เสียงปอด ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
..........จากการสังเกตดังกล่าว ผู้ที่ให้การพยาบาลสามารถที่จะหาวิถีทางป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยไม่ให้เป็นอันตรายหรือถึงแก่ชีวิตได้
..........ผู้ให้การพยาบาลแผนกศัลยกรรมต้องมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้กับผู้ป่วย สามารถบอกวิธีใช้และทราบว่า เครื่องมือนั้นทำงานสะดวกหรือมีข้อติดขัดอย่างไร เช่น ผู้ป่วยที่มีสายยางต่อจากกระเพาะอาหารเข้ากับเครื่อง suction ตามปกติจะมีน้ำสีค่อนข้างเขียวออกมาในขวดที่ติดอยู่กับเครื่อง ถ้าหากไม่มีน้ำออกมาในขวดเลย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืดมาก กระสับกระส่าย ผู้พยาบาลจะต้องค้นดูสาเหตุที่ทำให้น้ำกระเพาะอาหารไม่ออกมา ซึ่งอาจจะเนื่องจากผู้ป่วยนอนทับสายยาง สายยางหักพับงอ หรือปิดจุกขวดไม่แน่น ดังนี้เป็นต้น
..........การให้ยาจะต้องให้ตรงตามเวลาและถูกวิถีทาง ถ้าเกิดมีการผิดพลาดไม่ว่าจะโดยสาเหตุอะไรก็ตาม ควรรายงานเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที โดยไม่ปกปิดเอาไว้
..........นอกจากนี้ ควรป้องกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การตกเตียง หกล้ม เป็นต้น

..........3. ส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย เพื่อให้กลับไปมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
..........การส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถำาพนี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยกลับจากห้องผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องคอยให้ผู้ป่วยฟื้นจากยาสลบเสียก่อนแล้วจึงจะเริ่มลงมือส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพให้ นอกจากนั้นพยาบาลยังต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยในระยะก่อนกลับบ้าน และอธิบายให้ญาติเข้าใจถึงการดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับไปบ้านแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตลอดชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่มี colostomy พยาบาลจะต้องสอนการทำความสะอาด การสังเกตอาการ สอนเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ชนิดของอาหารที่ควรและไม่ควรรับประทาน การป้องกันโรคแทรกซ้อน การออกกำลังกายหรือการปฏิบัติภารกิจประจำวัน ขณะที่สอนควรสังเกตอาการและปฏิกิริยาของผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งให้ผู้ป่วยหรือญาติลองฝึกหัดทำด้วย เพื่อว่าในกรณีที่มีข้อสงสัยจะได้อธิบายให้ทราบก่อนกลับบ้าน

..........4. ให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้ป่วย
..........การเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้ป่วยอาจกระทำได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
..........4.1 เวลาพูดคุยหรืออธิบายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ป่วย ควรเรียกชื่อผู้ป่วยแทนการใช้สรรพนามอย่างอื่น
..........4.2 ก่อนที่จะลงมือให้การพยาบาลผู้ป่วย ควรแจ้งจุดประสงค์ของการกระทำให้ผู้ป่วยทราบก่อนทุกครั้ง
..........4.3 ควรให้ผู้ป่วยได้ทราบ หรือออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตัวเขาเองด้วย
..........4.4 ขณะที่ให้การรักษาพยาบาลไม่ควรเปิดเผยผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
..........4.5 ในกรณีที่ทำการพยาบาลเกี่ยวกับอวัยวะในที่สูง ควรจะขอโทษผู้ป่วยเสียก่อน
..........4.6 ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวต้องให้การรักษาพยาบาลด้วยความระมัดระวัง และไม่เปิดเผยเช่นเดียวกัน
..........4.7 ไม่แสดงท่ารังเกียจ เหยียดหยาม เบื่อหน่าย ทอดทิ้งผู้ป่วย

..........5. รักษาผลประโยชน์และความลับของผู้ป่วย
..........พยาบาลจะต้องรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่น ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
..........5.1 การรักษารูปคดี ในรายที่เกิดอุบัติเหตุหรือคดีอื่น ๆ ไม่ควรแจ้งผลการรักาาให้คู่กรณีทราบโดยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น
..........5.2 รายงานการรักษาของแพทย์ ต้องเก็บไว้เป็นความลับไม่นำไปให้ผู้อื่นอ่าน
..........5.3 ประวัติของผู้ป่วย ไม่นำมาพูดคุย ถกเถียง หรือล้อเลียนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากตัวผู้ป่วย
..........5.4 การนำเรื่องราวเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายมาทำกรณีศึกษา (case study) ควรจะได้บอกเล่าให้ผู้ป่วยทราบก่อนทุกครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระเจ้าไม้

พระเจ้าไม้
..........หมายถึง พระพุทธรูปที่แกะจากไม้ชนิดต่าง ๆ ตามความเชื่อ ซึ่งโดยทั่วไปแกะขึ้นจากไม้ท่อนเดียวชนิดเดียว แต่บางองค์แกะจากไม้หลายชนิดประกอบกัน

ไม้สร้างพระเจ้า
..........จากการศึกษาของ ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงใหม่ พบว่าไม้ที่นิยมนำมาสร้างเป็นพระพุทธรูปหรือพระเจ้านั้น โดยทั่วไปเห็นจะได้แก่ ไม้สัก, ไม้สะหรี (โพธิ์), ไม้สะเลียม (สะเดา), ไม้แก่จันทน์ (จันทน์หอม) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีไม้ชนิดอื่น ๆ อีก เช่น ไม้แก้ว (พิกุล), ไม้จำปา, ไม้จำปี, ไม้เดื่อปล่อง เดื่อเกลี้ยง, ไม้ประดู่, ไม้แดง, ไม้ซ้อ, ไม้ขนุน เป็นอาทิ

..........คติเกี่ยวกับไม้มงคลที่นำมาสร้างพระเจ้านั้นบางส่วนได้รับความเชื่อมาจากไม้โพธิฤกษ์ คือไม้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ประทับใต้ร่มไม้นั้น ๆ ในการตรัสรู้ อย่างที่ปรากฏตำนานมูลศาสนา ได้แก่ ไม้ทองกวาว, ไม้แคฝอย, ไม้ไทร, ไม้บุนนาค, ไม้มะเกลือ, ไม้มะเดื่อ, ไม้สะเดา, ไม้จำปา, ไม้ฝาง เป็นต้น

..........พระเจ้าไม้ที่มีขนาดใหญ่บางองค์มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพศรัทธา เช่น พระเจ้าที่สร้างด้วยไม้สัก คือ พระพุทธนเรศวร์สักชัยไพรีพินาศ วัดบุพพาราม อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ พระเจ้าที่สร้างด้วยไม้สะเดา คือ พระเจ้าสะเลียมหวาน วัดพระศรีธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และพระเจ้าแก่นจันทน์ วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พระพุทธนเรศวร์สักชัยไพรีพินาศ วัดบุพพาราม 

..........โดยปกติแล้ว พระเจ้าไม้ขนาดใหญ่ มักเป็นพระเจ้าของเจ้าภาพระดับผู้มีอำนาจหรือคนหมู่มากระดับชุมชน แต่ที่มีโดยทั่วไปมักเป็นพระเจ้าขนาดเล็กแกะจากไม้ท่อนเดียวมีทั้งหมด 4 อิริยาบถ คือ พระเจ้ายืน พระเจ้าเดิน พระเจ้านอน และพระเจ้านั่ง ที่ปรากฏมากที่สุดคือ พระเจ้านั่ง ซึ่งมี 2 ปาง คือ ปางสมาธิและปางชนะมาร ปางชนะมารมีจำนวนมากที่สุด ส่วนมากอายุประมาณ 70-150 ปี สร้างถวายวัดเพื่อหวังอานิสงส์และสืบต่ออายุพระศาสนา

..........ส่วนพระเจ้าที่แกะจากไม้หลายชนิดประกอบกันเป็นองค์พระ มักเป็นพระเจ้าไม้ประจำชะตาปีเกิด สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้สักการบูชาหวังความเป็นสิริมงคล พระเจ้าไม้ประเภทนี้ มีตำราในการสร้าง อย่างที่ ศรีเลา เกษพรหม ปริวรรตจากคัมภีร์ใบลานวัดแม่ต๋ำ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ว่า

.........."...ที่นี้จักกล่าวอุปเทสอันจักสร้างแปลงยังพุทธรูปเจ้าหื้อวุฑฒิจำเริญแลอยู่ดีมีสุข...หื้อมีเครื่องปูชา มีข้าวตอกดอกไม้ไปปูชาเอาไม้เดื่อปล่อง ซอจิ่มไม้เดื่อปล่องนั้นด้วยคำปราถนามักแห่งตน แล้วเอามาตากแห้งไว้ แล้วสลักแปลงพุทธรูปเจ้า แล้วลงโขงชะตาใส่ในแผ่นเงิน...ขดพันแผ่นเงิน...เข้าใส่ในกลวงพระเจ้า...เอาไม้ม่วงพระญายอมาแปลงเป็นจิกโมลีติดปลายบน...ไม้หนุนมาแปลงเป็นแท่น...ไม้ทันเป็นแขนขวา ไม้หมากเป็นแขนซ้าย...แล้วฝังน้ำรักหื้อหมั้น..."

..........ความว่า ณ ที่นี้จะขอกล่าวอุปเทศแห่งการสร้างพระพุทธรูปอันจะทำให้เกิดความสุขความเจริญ ให้นำข้าวตอกดอกไม้ไปทำพิธีพลีเอาไม้มะเดื่อปล่องด้วยคำตั้งความปรารถนา นำมาตากแห้งไว้แล้วแกะเป็นพระพุทธรูป ผูกดวงชะตาลงในแผ่นเงินม้วนใส่ในโพรงขององค์พระ เอาไม้มะม่วงพระญายอมาทำเป็นโมลี ไม้ขนุนทำเป็นแท่นบัลลังก์ ไม้พุทราเป็นแขนขวา ไม้หมากเป็นแขนซ้าย ใช้น้ำยางรักเชื่อมรอยให้สนิทแน่น

การสร้างพระเจ้าไม้
..........ตำราของวัดแม่ต๋ำ กล่าวถึงสัดส่วนของพระเจ้า ซึ่งสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนแห่งการสร้างพระพุทธรูปที่สร้างด้วยวัสดุอื่น ๆ โดยทั่วไป และน่าจะนำมาเป็นมาตราการวัดเพื่อสร้างพระเจ้าไม้ด้วยเช่นกัน ตำราดังกล่าวระบุว่า

.........."...หื้อแทก (วัดขนาด) แต่หัวเขาทัง 2 เข้าหากัน กว้างเท่าใดหื้อเอามาหักเป็น 4 ส่วนเอาส่วนนึ่งแทกแต่นั่งขึ้นเถิงสายดือ แต่สายดือขึ้นเถิงอก แต่อกเถิงคาง แต่คางถึงตีนผม ปล้องแขนแต่แค้าแร้ (รักแร้) ถึงศอกข้างในเท่าหน้า แต่ศอกถึงข้อมือเท่าหน้า แต่ข้อมือถึงปลายนิ้วเท่าหน้า นิ้วมือยาวเกิ่งหน้า ข้อมือหัก 3 ฝ่ามือกว้างเท่าเกิ่ง หน้าผากพาดกว้างเกิ่งหน้า ปล้องขาปล้องแค่ง (แข้ง) เท่าหน้า ฝ่าตีนเท่าหน้า นิ้วเท้าให้เอาความยาวใบหน้าตีนเอาหน้าหัก 3 เอานึ่ง หักนิ้วเป็น 2 เป็นค่อ (ข้อ) ตีน แต่นมถึงจอมบ่าเท่าหน้าแหล่ (ไหล่) กว้าง 2 หน้า เอาหน้าหัก 4 ทุม (ทิ้ง) 1 เป็นหว่างนมทั้ง 2 เอาหน้าหัก 3 เอาหนึ่งเป็นปาก เป็นตายาว เป็นหน้าผาก ตุ่มตานั้น หือกลมดังกลีบงัวอุสุภราช หน่วยตาหื้อเหลี้ยม (แหลม) ดังกลีบหอมเทียม (กระเทียม) คิ้วก่อง (โก่ง) ดังธนูอินท์ หูยาวเท่าหน้า ปลายหูเพียง (ระดับ) คิ้วเทิอะ..."

..........แปลความว่า

..........วัดขนาดช่วงเข่าทั้งสอง แบ่งเป็น 4 ส่วน
..........เอาส่วนหนึ่งเป็นขนาดที่นั่งถึงสะดือ สะดือถึงอก อกถึงคาง คางถึงตีนผม (ช่วงใบหน้า) รักแร้ถึงศอก สีข้างเท่ากับใบหน้า ศอกถึงข้อมือเท่าใบหน้า ข้อมือถึงปลายนิ้วมือเท่าใบหน้า นิ้วมือยาวเท่ากับครึ่งหนึ่งของใบหน้า ฝ่ามือและนิ้วมือให้แบ่งเป็น 3 ส่วน สองส่วนเป็นความยาวฝ่ามือ หนึ่งส่วนเป็นความยาวนิ้วมือปล้องขาและปล้องแข้งเท่าใบหน้า ฝ่าเท้าเท่าใบหน้า นิ้วเท้ายาว 1/3 ความยาวของใบหน้า แบ่งความยาว 2/3 ของใบหน้าเป็นข้อเท้า
..........วัดตั้งแต่นมถึงบนบ่า และความกว้างของช่วงไหล่ยาวเท่ากับความยาวสองเท่าของใบหน้า
..........เอา 3/4 เป็นระยะห่างของนมทั้งสอง
..........เอา 1/4 ของความยาวใบหน้าเป็นความยาวของปาก ตา และหน้าผาก
..........นัยน์ตาให้กลมดั่งกลีบเท้าวัวอุสุภราช ตาแหลมดั่งกระเทียม
..........คิ้วโก่งดั่งคันธนูของพระอินทร์
..........หูยาวเท่ากับใบหน้า ส่วนบนสุดของใบหูอยู่ระดับเดียวกับคิ้ว
..........กล่าวเฉพาะการสร้างพระเจ้านี้ เท่าที่สังเกตพระเจ้าไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ส่วนหนึ่งมิได้เคร่งครัดตามตำรา คงสร้างโดยอาศัยการกำหนดขนาดจากของช่างผู้แกะเป็นส่วนใหญ่
..........อนึ่ง ความยาวหรือความสูงของพระเจ้าไม้ โดยทั่วไปนิยมให้มีขนาดเท่าความยาว 1 คืบ หรือ 1 ศอก ของผู้ที่เป็นเจ้าภาพสร้างพระเจ้าองค์นั้น ด้วยเชื่อว่าจะเพิ่มความเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น
..........เมื่อได้ขนาดตามสัดส่วนแล้วจึงลงมือแกะเป็นรูปตามด้วยการสลักเสลาจนเสร็จสิ้นแล้วขัดสีตกแต่ง ลงรักปิดทองให้งดงาม ดังที่ท้ายตำราข้างต้นกล่าวว่า "ขัดหื้อดี แล้วทารักใส่คำหื้องาม..."

การอบรมสมโภช
..........พิธีกรรมสำคัญยิ่งหลังเสร็จสิ้นการสร้างองค์พระคือ "การบวชพระเจ้า" "เบิกบายรวายสีพระเจ้า" หรือ "อบรมสมโภชพระเจ้า" คือพิธีพุทธาภิเษกเพื่อสถาปนาองค์พระให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ โดยกำหนดให้ประกอบพิธีในวันเกิดของเจ้าภาพ ซึ่งในพิธีต้องจัดเตรียมเครื่องพิธีดังปรากฏในตำราของวัดเมืองราม ตำบลนาเหลือง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ว่า

.........."เราเกิดวันใดหื้อเบิกบายวันนั้น หื้อมี เบี้ยหมื่น หมากหมื่น พลูยาแลอันแลห่อ เทียนใหญ่ 4 คู่ เทียนหน้อย 8 คู่ น้ำต้น หม้อ สาด หมอน กล้วยเครือ พร้าวเครือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ...นิมนต์พระสังฆเจ้าหื้อพอ 5 ตน สูตรมหามังคละเบิกบายรวายสี แล้วสระสรงอบรมด้วยเครื่องปูชาแล..."

..........ความว่า ให้ประกอบพิธีในวันเกิดของตน โดยจัดเตรียมเบี้ยหมื่น (เบี้ย 100 เส้น) หมากหมื่น (หมากแห้ง 100 เส้น) พลูและยาเส้นอย่างละ 1 ห่อ เทียนใหญ่ 4 คู่ เทียนเล็ก 8 คู่ คนโท หม้อน้ำ เสื่อ หมอน กล้วย 1 เครือ มะพร้าว 1 ทะลาย ข้าวเปลือก และข้าวสาร พร้อมนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป สวดสมโภช แล้วบูชาด้วยเครื่องสักการะ

วัตถุประสงค์ในการสร้าง
..........การสร้างพระเจ้าไม้มีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง อย่างหนึ่งสร้างขึ้นถวายไว้เพื่อสืบต่อพระศาสนา แล้วตั้งความปรารถนารับอานิสงส์ไปตลอด ตราบจนเข้าพระนิพพานเป็นที่สุด อีกอย่างหนึ่งสร้างเป็นพระพุทธรูปประจำตัว หรือประจำชาตาปีเกิด เพื่อตั้งไว้สักการบูชา โดยมุ่งหวังความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งอย่างแรกถวายไว้กับวัดในโอกาสต่าง ๆ อย่างที่สองประดิษฐานไว้ ณ หอพระซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเคหสถานที่ยื่นออกนอกชายคาเรือน ต่อมาประดิษฐานบนหิ้งพระประจำบ้าน


พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร
..........ไม้แกะสลัก ศิลปะแบบล้านนา (ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย) สร้างแบบศิลปะสมัยทวารวดี ประมาณ 100 ปี
An image of Buddha holding an alms-bowl
..........Lanna style wood carving made during the Dvaravati period around 2400BE.

อานิสงส์สร้างพระเจ้าไม้
..........ในคัมภีร์ "อานิสงส์สร้างพระเจ้า" ของวัดศรีสุพรรณ ตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา กล่าวถึงอานิสงส์สร้างพระเจ้าไม้ว่าได้อานิสงส์ 25 กัปป์ ดังข้อความว่า "โย ชโน อันว่า คนทังหลายผู้ใด กโรติ แลได้สร้างแปลง พุทธปฏิมัง ยังรูปแห่งพระพุทธเจ้า กัฏฐานัง แล้วด้วยไม้ดั่งอั้น โส ชโน อันว่าคนผู้นั้น อนุภวติ ก็ได้เสวยยังผละ อานิสงส์บุญอันนั้น ปัญจวีสติกัปปานิ ได้ 25 กัปป์แล"

..........ส่วนในเรื่องเดียวกันของวัดบ้าท่อ ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าหากผู้ใดได้สร้างพระเจ้าด้วยไม้จันทน์และไม้ศรีมหาโพธิ์จะได้อานิสงส์มากมายหาที่สุดไม่ได้ ดังข้อความว่า "ทายกะผู้ใด อันได้สร้างพุทธพิมพาสารูป แล้วด้วยไม้จันทน์แลไม้มหาโพธิ์ อนุภวันติ ก็จักได้เสวยยังผละอานิสงส์ อนันตานิ อันหาที่สุดบ่ได้ อัปปมาณานิ อันหาประหมาณบ่ได้ แท้ดีหลีแลฯ"

..........การสร้างรูปเคารพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สามารถสร้างได้จากวัสดุต่าง ๆ กัน ดังที่คัมภีร์อานิสงส์สร้างพระพุทธรูปฉบับต่าง ๆ ระบุไว้มีทั้งทองคำ เงิน รัตนชาติ โลหะ งาช้าง หิน อิฐ ไม้ ครั่ง ดิน หรือแม้กระทั่งวาดรูปลงบนใบไม้ ทั้งหมดล้วนได้อานิสงส์มากน้อยต่างกันไปตามราคาและคุณภาพของวัสดุนั้น ๆ

..........กระนั้นความนิยมก็ยังอยู่ที่การสร้างด้วยไม้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่า การวาดรูปบนใบไม้อาจเห็นว่าไม่คงทนถาวร การปั้นด้วยดิน ครั่งหรือแกะจากอิฐอาจดูไม่สวยงาม ส่วนนอกนั้นอาจเป็นเพราะหายากหรือราคาแพงเกินกำลังจัดหา

..........อย่างไรก็ตาม การสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้ก็หาได้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์หรือฐานันดรอย่างเดียวไม่ เพราะจำนวนพระเจ้าไม้ในล้านนามีจำนวนมากมาย และในจำนวนเหล่านั้น จากการสังเกตชื่อเจ้าภาพจากจารึกบนฐานพระพบว่ามีทั้งเจ้าภาพที่มีฐานะเป็นกษัตริย์ เจ้าเมือง ขุนนาง คหบดี และชาวบ้านทั่วไป กอรปกับการสังเกตฝีมือช่างมีทั้งระดับช่างหลวง และช่างฝีมือทั่วไป ความนิยมสร้างด้วยจึงน่าจะขึ้นอยู่กับความศรัทธามากกว่า เพราะไม้ที่ตำราระบุมีชนิดหรือให้เลือกในเชิงความหมายมากกว่าวัสดุอื่น ๆ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งเป็นไม้โพธิฤกษ์ อีกส่วนหนึ่งล้วนแต่มีความหมายอันมงคลต่อชีวิตของผู้ถวาย พระเจ้าไม้จึงดาษดื่นในแดนล้านนาและรัฐประเทศใกล้เคียง

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

หำยนต์

หำยนต์

..........เป็นไม้แกะสลักติดทาบกับขอบบนของกรอบประตูลงมา มักอยู่ที่ห้องนอนของผู้เป็นประธานของบ้าน มีทั้งที่เป็นไม้แผ่นเดียวและไม้ 2 แผ่น ถ้าเป็น 2 แผ่น แผ่นบนมักแคบกว่า ตีประกบกับแผ่นล่างแล้วทับรอยต่อด้วยไม้อีกแผ่นเรียกว่ากระดูกงู ด้านล่างปลายส่วนที่ห้อยหัวลงมีทั้งแบบเรียบและหยักหรือโค้งแบบโก่งคิ้วรูปทรงต่าง ๆ
..........คำว่า "หำยนต์" นี้บางคนเรียก "หำโยน" หำเป็นคำเมืองแปลว่าอัณฑะ ยนต์เป็นคำสันสกฤตแปลว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามทัศนคติของชาวล้านนาดั้งเดิม หำยนต์มีไว้เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะปกป้องคุ้มครองเจ้าของบ้าน ขับไล่อำนาจชั่วร้ายต่าง ๆ จากภายนอกมิให้กล้ำกรายเข้ามาในบ้าน หำยนต์นี้ตามปกติจะทำขึ้นมาพร้อมกับการสร้างบ้านใหม่ ขนาดกว้างเท่าประตูซึ่งกำหนดตามความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน เช่นเป็น 3 หรือ 4 เท่าของความยาวเท้า ต้องเลือกไม้อย่างดี ก่อนจะทำจะต้องมีพิธีตามคติพราหมณ์และพุทธประกอบกัน เมื่อได้ไม้แล้วจะต้องให้ผู้มีวิชาหรือพระเถระผู้เฒ่ารดน้ำมนต์ แล้วจึงนำมาผูกติดกับเสาเอกก่อนจะนำไปให้ช่างแกะสลักลวดลายตามที่ต้องการ เมื่อสร้างบ้านเสร็จพร้อมกับแกะสลักไม้หำยนต์เสร็จแล้วก็ต้องทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง มีอาจารย์วัดทำพิธีกล่าวคำอัญเชิญเทพยดาทั้งหลายให้มาช่วยปกป้องรักษา
..........กล่าวกันว่าเมื่อเจ้าของบ้านตายลง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าของก่อนเจ้าของเดิมตาย ผู้เข้ามาอยู่ใหม่ก็ต้องทำพิธีทุบหรือตีไม้หำยนต์เพื่อไล่ความศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าของบ้านเดิมทำไว้และเพื่อขออนุญาตเข้ามาอยู่ในบ้านได้
..........การแกะสลักไม้หำยนต์มีลีลาอันหลากหลาย เป็นสิ่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ของเรือนกาแลและกลายเป็นของสวยที่คนสมัยใหม่พากันซื้อหาราคาแพง
..........ลวดลายต่าง ๆ บนไม้หำยนต์พอจะแบ่งประเภทได้คือ ลายกนกแบบล้านนาหลายประเภท ลายเครือเถาหลายแบบ ลายดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ลายเมฆหรือลายเมฆไหลที่เป็นแบบล้านนาโดยเฉพาะ ลายพญานาคและลายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีลายซุ้มที่คงจะเลียนแบบมาจากซุ้มอาคารต่าง ๆ ในพุทธศาสนา

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ฝายพญาคำ เชียงใหม่

ฝายพญาคำ


.........."พญาคำ" ในที่นี้ คือ พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ เป็นชาวบ้านฮ่อม ชุมชนบ้านฮ่อมอยู่ฝั่งทิศใต้ของถนนท่าแพ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2480 ชื่อเดิมคือ "นายคำ ศรีวิชัย" ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมถนนท่าแพใกล้ร้านขายยาสะหล่ามอง สมัยนั้นบ้านริมถนนท่าแพมักเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวที่เรียกว่า "เฮือนแป"


..........บริเวณด้านหลังบ้านของพญาคำในอดีตเคยเป็นหนองน้ำธรรมชาติ ชาวบ้านฮ่อมทั่วไปเรียกว่า "หนองพญาคำ" คนรุ่นเก่าที่ยังไม่มีการทำส้วมไว้ในบ้าน มักจะไป "ถ่ายทุกข์" กันที่หนองน้ำแห่งนี้ หน้าฝนจะเป็นที่เก็บน้ำ และระบายไปยังหนองน้ำใกล้เคียงถัดไปทางด้านทิศใต้ ชื่อว่า "หนองท้าวคำปัน" หลังจากนั้นก็ไหลไปยังหนองน้ำด้านหลังวัดช่างฆ้อง เลยไปยังหนองน้ำบริเวณโรงแรมแม่ปิงในปัจจุบันและไหลลงลำน้ำแม่ข่าสู่แม่น้ำปิง


.........."พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์" เคยบรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาเล่าเรียนที่วัดพันตอง ต่อมาสนใจด้านวิชากฎหมายจึงเรียนกฎหมายและเข้ารับราชการอยู่ในคุ้มหลวงของเจ้าอินทวิชยานนท์ มีความสามารถมีผลงานจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์" ต่อมาได้ออกมาทำหน้าที่เป็นทนายความ


..........ด้านครอบครัว พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ แต่งงานกับแม่คำแสน มีบุตรธิดา คือ นายบุญเลิศ ศรีวิชัย, นางคำใส ศรีวิชัย, นางจันดี ชยานนท์, นายสมบูรณ์ ศรีวิชัย อดีตนักการวิทยาลัยเทคนิค รุ่นลูกล้วนเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น


..........รุ่นหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ (เมื่อปี พ.ศ. 2549) คือ บุตรธิดาของนางจันดี ชยานนท์ (สามีคือ นายเพชร ชยานนท์) คือ นางสาวอำพร ชยานนท์ ขณะนั้นอายุ 75 ปี เล่าเรื่องพญาคำว่า


.........."พญาคำ เป็นพ่อเฒ่า (ปู่) เป็นผู้ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ นอกจากนี้ได้สร้างศาลาแดงที่หน้าสุสานประตูหายยา และสร้างศาลาที่มุมถนนก่อนถึงโรงพยาบาลสวนดอกไว้เป็นที่พักของคนเดินทาง ปัจจุบันศาลาแดงที่สุสานหายยาเป็นของเทศบาลและสร้างเป็นศูนย์เยาวชน พญาคำ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2480"


..........คนบ้านฮ่อมมักจะรู้จักนางจันดี ชยานนท์ บุตรสาวของพญาคำ ชาวบ้านเรียกกันว่า ป้านายจันดี อาชีพค้าเพชรพลอย แหวนทับทิม ที่บ้านของป้านายจันดีสอนฟ้อน ยามเมื่อมีงานปอยหลวงจะมีเด็กมาฝึกหัดฟ้อน ช่างฟ้อนที่บ้านป้านายจันดีมักเป็นตัวแทนของวัดเชตวันยามเมื่อมีการจัดคณะศรัทธาไปร่วมงานปอยตามวัดต่าง ๆ สามีของป้านายจันดี ชื่อนายเพชร พิการทางสายตา ต่อมาบ้านของป้านายจันดีขายต่อให้อาจารย์พินิจ นรากร อดีตอาจารย์วิทยาลัยครูเชียงใหม่ และป้านายจันดี ย้ายไปอยู่บ้านถัดไปทางทิศใต้ (อาจารย์ประพันธ์ ศิริมณี,สัมภาษณ์)

พญาคำ
..........ฝายพญาคำได้ชื่อว่าได้สร้างประโยชน์ต่อเมืองเชียงใหม่ไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะการสร้างฝายทดน้ำจากแม่น้ำปิงไปเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรที่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรจำนวนมาก

..........การทำบุญครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์จากเอกสารราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ.2462 สมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏข้อความว่า

.........."พญาคำวิจิตร์ธุรราษฎร์ ทนายความ พร้อมด้วยบุตร์ภรรยาบริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนนักธรรมขึ้นที่วัดเชตะวันหลัง 1 กว้าง 3 วา 2 ศอก ยาว 5 วา 1 ศอก เสา พื้น ฝา ใช้ไม้กระยาเลย หลังคามุงกระเบื้อง แล้วเสร็จ เปนเงิน 1,650 บาท ผู้บริจาคทรัพย์ทั้งนี้ขอพระราชทานถวายเป็นพระราชกุศล กระทรวงธรรมการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงอนุโมทนาในส่วนกุสลนี้ด้วยแล้ว

..........แจ้งความมา ณ วันที่ 3 กันยายน พระพุทธศักราช 2462 ลงนามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ จางวางเอกเสนาบดี" (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 36 หน้า 1626 วันที่ 7 กันยายน 2462)

..........เงินจำนวน 1,650 บาท สมัยรัชกาลที่ 6 คือ เมื่อเกือบ 100 ปีล่วงมา คงมีค่ามหาศาลซึ่งบ่งบอกความศรัทธาของพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

..........นอกจากนี้ สมัยที่ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ผู้หนึ่งที่ร่วมสนับสนุนการทำบุญกุศลในครั้งนั้น คือ พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ผู้นี้ ในหนังสือประวัติบุคคลสำคัญที่ได้รับประกาศเชิดชูเกียรติคุณวันครบรอบ 50 ปีสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ปี พ.ศ. 2528 ระบุว่าพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ เป็นบุคคลที่ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัย

..........ฝายพญาคำ บริเวณใกล้หน้าค่ายกาวิละแห่งนี้ หลังจากพญาคำวิจิตรธุระราษฎร์เป็นผู้นำในการทำฝายไว้แล้วคาดว่าคงมีการชำรุดทรุดโทรม และมีการบูรณะหลายครั้ง จนปี พ.ศ. 2514 ทางราชการจึงได้ของบประมาณมาปรับปรุงจำนวน 95,000 บาท