วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวง
สถานที่ตั้ง
..........วัดเจดีย์หลวงตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่นับเป็นวัดสำคัญมากวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต เป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองเชียงใหม่


พระอัฏฐารส
..........พระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ปางห้ามญาติสูง 8.23 เมตร (16 ศอก 23 ซม.) พร้อมทั้งพระอัครสาวกทั้ง 2 องค์ คือ พระโมคคัลลานะสูง 4.43 เมตร และพระสารีบุตรสูง 4.19 เมตร หล่อโดยพระนางติโลกะจุฑา เมื่อ พ.ศ.1955 นอกจากทำการหล่อพระอัฏฐารส/พระอัครสาวกทั้งสององค์แล้ว ยังได้หล่อพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวนมาก ประดิษฐานรายล้อมพระอัฏฐารสอยู่ด้านหน้าและผินพระพักตร์สู่ทิศต่าง ๆ 
..........การหล่อพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ ครั้งนั้น ต้องใช้เบ้าเตาหลอมทองจำนวนมากเป็นพันเตาพันเบ้า ต่อมาสถานที่ตั้งเตาหลอมทองหล่อพระพุทธรูป ได้สร้างเป็นวัดและเรียกชื่อว่า วัดพันเตา

ประวัติความเป็นมา
..........วัดเจดีย์หลวง หรือ "โชติการาม" หรือ "ราชกูฏา" หรือ "กุฏาราม" แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า "โชติการาม" คือเวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนักสามารถมองเห็นได้แต่ไกล

เจดีย์หลวงตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาของชาวลัวะ
..........คติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ในยุคแรกสะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะซึ่งได้ผสมผสานกับความเชื่อของพราหมณ์ ในระยะต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก ได้ใช้พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล ตั้งอยู่กลางใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล


โบราณวัตถุสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวง
..........1. พระธาตุเจดีย์หลวง นั้นถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ หรือล้านนา คือสูงประมาณ 80 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ.1928-1945) ต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) ในสมัยมหาเทวีจิรประภารัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหว พระมหาเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือแต่เพียงครึ่งองค์ จากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานกว่า 4 ศตวรรษ พระมหาเจดีย์หลวงที่เห็นปัจจุบันกรมศิลปากรเพิ่งจะบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จไปเมื่อ พ.ศ.2535


ช้างรอบพระธาตุเจดีย์หลวง
..........ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้น ที่มีการตั้งชื่อให้เฉพาะ เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกราน ให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง ซึ่งแต่ละชื่อมีความหมายดังนี้


..........1. เมื่อศัตรูยกพลเสนามารุกราน ล่วงล้ำเข้ามาในเขตพระราชอาณาจักร จะเกิดอาเพศ ท้องฟ้ามืดมิดด้วยเมฆหมอกปกคลุม ทำให้ผู้รุกรานหวาดผวาภัยพิบัติตกใจกลัวแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า "เมฆบังวัน"


..........2. เมื่อผู้รุกรานยกทัพเข้ามาใกล้ แม้จะมีพลโยธาทหารกล้าเรือนแสน ก็จะเกิดอาการมึนเมาลืมหลงแตกพ่ายหนีไป จึงได้ชื่อว่า "ข่มพลแสน"


..........3. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีศาสตรา มีด พร้า ด้ามคมเป็นแสน ๆ เล่ม ก็ไม่อาจเข้าใกล้ทำร้ายได้ จึงได้ชื่อว่า "ดาบแสนด้าม"


..........4. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามารานรบ แม้จะมีกำลังพลกล้าหาญมากมาย มีศาสตราอันคมยาว หอกแหลนหลาวเป็นแสน ก็ไม่อาจเข้ามาราวีได้ จึงได้ชื่อว่า "หอกแสนลำ"


..........5. เมื่อข้าศึกศัตรูผู้รุกรานเข้ามาแม้จะมีกำลังพลจำนวนมาก มีอาวุธปืนเป็นแสนกระบอก ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ จึงได้ชื่อว่า "ปืนแสนแหล้ง"


..........6. เมื่อผู้รุกรานบุกรุกเข้ามา แม้จะมีกำลังพลมากมาย มีหน้าไม้คันธนูเป็นแสน ๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้ จึงได้ชื่อว่า "หน้าไม้แสนเกี๋ยง"
..........7. เมื่อข้าศึกอาจหาญล้ำแดนเข้ามา แม้ด้วยกำลังพลหัตถีนึก กองทัพช้างมีเป็นแสนเชือก ก็ไม่อาจหักหาญเข้ามาได้ จึงได้ชื่อว่า "แสนเขื่อนกั้น" (บางแห่งเป็น แสนเขื่อนก๊าน)
..........8. เมื่อข้าศึกเข้ามาหมายย่ำยี ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าเหมือนเพลิงเผาผลาญรอบด้าน จึงได้ชื่อว่า "ไฟแสนเต๋า"

..........2. พระวิหาร พระอุโบสถ พระวิหารหลวง หรือพระวิหารกลาง ปัจจุบันเป็นทั้งพระอุโบสถด้วย ตั้งอยู่ห่างพระธาตุเจดีย์หลวงประมาณ 15.84 เมตร ไปทางทิศตะวันออก เป็นสถาปัตยกรรมทรงล้านนาประยุกต์ ส่วนอุโบสถหลังเก่าศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิมที่อยู่หลังวัด ด้านตะวันตกขององค์เจดีย์หลวงได้เลิกใช้งานตั้งแต่ปี 2522 เพราะคับแคบเกินไป

..........3. เจดีย์รายองค์ใต้ เป็นเจดีย์องค์ใต้ที่เก่าแก่คู่พระธาตุเจดีย์หลวง ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ 3 ชั้น ฐานปัทม์ย่อเก็จ 2 ชั้น คอระฆังหุ้มทองจังโกปิดทองคำเปลว ปลียอดและฉัตรทำด้วยทองเหลืองปิดทองคำเปลว บูรณะใหม่ พ.ศ.2536

..........4. เสาอินทขีล เชื่อกันว่าเป็นหลักเมืองเชียงใหม่ เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล หรือวัดสะดือเมือง ข้างศาลากลางหลังเก่า) พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 โปรดให้ย้ายเสาอินทขีลจากวัดสะดือเมือง มาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2343

..........5. ต้นยางใหญ่ ปลูกเมื่อสมัยพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร


..........6. กุมภัณฑ์ พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 2 ตน ไว้หน้าวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ยักษ์หรือกุมภัณฑ์ 2 ตนนี้คอยพิทักษ์เสาอินทขีลหลักเมืองเชียงใหม่


..........สร้างเมื่อวันเสาร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ.2343 พระเจ้ากาวิละให้ก่อรูปกุมภัณฑ์ 2 ตนไว้หน้าวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ยักษ์/กุมภัณฑ์ 2 ตนนี้ คอยพิทักษ์เสาอินทขิลหลักเมืองเชียงใหม่ (ตำนานเมืองเชียงใหม่ ฉบับพระพุทธิมา ผูก 7 หน้า 13)
Phaya Yakkharaj (Southern Pavition)
..........Phaya Yakkharaj or two Guardian Yaksha were buile in 1800 by Prince Kawila in front of Wat Jotikaram (Wat Chedi Luang). They are destined to protect Inthakhin, the city pillar of Chiang Mai.

..........7. หอธรรม เมื่อปี พ.ศ.2017 พระเจ้าติโลกราช ได้ทรงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นใหม่ พร้อมทั้งให้สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฎก) ไว้ทางด้านเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์





..........8. พระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ แต่ไม่ปรากฏว่า สร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง


พระพุทธไสยาสน์
..........พระพุทธไสยาสน์/พระนอน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ สันนิษฐานว่า สร้างสมัยพระเมืองแก้วรัชกาลที่ 11 ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2030-2060) มีพระพุทธลักษณ์งดงามมาก หันพระเศียรสู่ทิศใต้ พระพักตร์หันเข้าหาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง สูง 1.93 เมตร ยาว 8.70 เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารสร้างใหม่สมัยพระพุทธิโศภณ (แหวว ธมฺมทินฺโน) เมื่อ พ.ศ.2498
Reclining Buddha
..........Reclining Buddha or Pha Buddhasaiyat is an old Buddha statue. It is believed to have been built during the reign of Phra Muang Kaeo, the 11th monarch of Mang Rai Dynasty (1487-1517). The head reclines toward the south and faces the Grand Pagoda. It measures 1.93 meters high and 8.70 meters long, enshrined in a new pavilion built in 1955 when Ven. Phra Buddhisophon was the abbot.
..........พระนอนองค์นี้หันพระเศียรไปทางทิศใต้ ไม่ตรงตามตำนานเดิม คงจะเนื่องจากท่านผู้สร้างมีความประสงค์จะให้พระพุทธรูปที่สร้างหันพระพักตร์ไปทางองค์พระเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก จึงหันพระเศียรไปทางทิศใต้

..........ตามตำนานพระนอน ปรากฏตามพุทธประวัติก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงสำเร็จสีหไสยาตะแคงขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก เหนือแท่นปรินิพพานไสยา ระหว่างไม้สาละทั้งคู่


..........9. พระมหาสังกัจจายน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเล็ก อยู่ห่างจากพระธาตุเจดีย์ไปทางทิศเหนือ เชื่อว่ามีความเก่าแก่พอ ๆ กับพระนอน


..........10. พระวิหารจัตรุมุขบุรพาจารย์ เป็นวิหารที่สร้างด้วยไม้แกะสลักเป็นลายเครือมัน ลายดอกไม้มีการเริ่มลายด้วยรูปสับปะรด

..........11. วิหารท่านพระอาจารย์มั่นภูริทัตโต เป็นวิหารไม้กับปูนเป็นการปิดทองและประดับด้วยกระจกสี










วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่องของส้มป่อย

เรื่องของส้มป่อย

..........ตามหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 หน้า 869 ใช้คำอธิบายว่า ส้ม ว.เปรี้ยว ฯลฯ ส้มป่อย น. ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ใบเป็นฝอยคล้ายชะอม ใช้ทำยาก็ได้ ฝักใช้สระหัวต่างสบู่
..........อธิบายลักษณะของต้นส้มป่อยพอมองเห็น เพราะส้มป่อยมีใบคล้ายชะอมจริง และส้มป่อยเป็นไม้เถา อาศัยกอดพันกับสิ่งอื่น ส่วนฝักของมันนั้นมีลักษณะแบน ๆ เป็นข้อ ๆ เหมือนฝักกระถิน แต่หนาและแข็งกว่า สรรพคุณใช้ทำยาได้ การเอาน้ำส้มป่อยลูบดำหัวนั้นไม่ใช่ใช้แทนสบู่ คือ เราต้องสระผมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะเอาน้ำส้มป่อยลูบผมอีกครั้งหนึ่ง เป็นการแก้เสนียดจัญไรดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ส้มป่อยไม่มีฟองเหมือนสบู่
..........นอกจากใช้ "ดำหัว" แล้วน้ำส้มป่อยยังใช้พรมใส่เครื่องรางของขลัง หรือบุคคลที่ถือเวทมนตร์คาถาเพื่อให้อยู่ยงคงกระพันซึ่งได้ไปลอดใต้สิ่งที่ทำให้ความขลังเสื่อมไป การพรมด้วยน้ำส้มป่อยจะทำให้ความขลังและความศักดิ์สิทธิ์คืนมาดังเดิม ความเชื่อนี้ยังคงถือกันมาจนถึงปัจจุบัน
ตำนานส้มป่อย (พรหมจักรชาดก ฉบับลานผูก ของวัดดวงดี อำเภอเมือง เชียงใหม่)
..........ส้มป่อย เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งประเภทไม้เถา ชาวบ้านนิยมนำเอาใบอ่อนมาแกงส้มปลาบ้าง ต้มส้มเนื้อบ้าง มีรสหอม เปรี้ยว และกลิ่นหอมน่ารับประทาน ส่วนผลส้มป่อย มีลักษณะเป็นฝักอย่างมะขามหรือฉำฉา ไม่ใช้รับประทาน หากแต่ใช้เป็นเครื่องรางโสรจสรงชำระเศียรเกล้าให้หายจากสิ่งที่ชั่วร้ายและมีความสวัสดี ผู้เขียนได้สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านว่าการใช้ส้มป่อยแช่น้ำสระเกล้าดำหัวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ท่านเหล่านั้นต่างก็ตอบไปตามความเข้าใจของตน ดังนี้
..........1. เป็นเครื่องขับไล่สิ่งชั่วร้ายเสนียดจัญไร
..........2. เป็นการสร้างพลังให้เกิดขึ้น สามารถเอาชนะศัตรูได้
..........3. เป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสุขสวัสดี
..........4. เป็นของสูง ใช้ในการสักการะสิ่งที่ตนเคารพ เช่น ใช้สรงพระพุทธรูป ใช้รดน้ำบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น
..........5. ใช้เป็นเครื่องขอสมาลาโทษที่ได้ล่วงเกินผู้ใหญ่
..........6. เป็นเครื่องประกอบพิธีสำคัญ ๆ ทุกอย่างในล้านนาไทย (สัมภาษณ์พระครูวิรุฬหธรรมโกวิท วัดเจดีย์สถานเหมืองผ่า ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม เชียงใหม่)
..........สาเหตุที่นำเอาส้มป่อยมาใช้เป็นเครื่องสรงในพิธีมงคลและอวมงคลต่าง ๆ นั้น คนล้านนาไทยคงได้ค่านิยมทางความเชื่อมาจากคัมภีร์พรหมจักรชาดก และรามจักรชาดก ที่พระเถระชาวล้านนาไทยได้นำเอาเรื่องรามายณะ (รามเกียรติ์) ของอินเดียมาดัดแปลงให้เข้ากับคตินิยมทางพุทธศาสนา บางตอนก็เพิ่มคติความเชื่อถือของคนในท้องถิ่นเข้าไปด้วย เช่น ตอนเกี่ยวกับผลส้มป่อยและผลมะขามป้อม ตอนทรพีรบกับทรพา ดังนี้
..........ตามประวัติที่กล่าวไว้ในพรหมจักรนั้น ปรากฏว่า พญาทรพา เป็นมหิงสาผู้มีฤทธิ์เดชมากเป็นที่เกรงขามของเทพยดาและมนุษย์ ปกครองเหล่ามหิงสามาเป็นเวลานาน ต่อมามีคำทายทักว่าทรพาจะต้องตายเพราะลูกตัวผู้ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อควายตัวเมียบริวารของตนตัวใดออกลูกมาเป็นตัวผู้ทรพาจะขวิดตายหมด แต่ถ้าออกลูกมาเป็นตัวเมียก็จะเหลือไว้ไม่ทำลาย คราวหนึ่งแม่ควายในฝูงตั้งท้องขึ้น เมื่อท้องแก่ ความคิดของแม่ควายไม่ต้องการให้ทรพาทำลายลูกในท้องของตน จึงแอบหนีจากฝูงไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ และคลอดลูกออกมาเป็นควายตัวผู้ ลักษณะบึกบึน ล่ำสันยิ่งนัก แม่ควายได้ทะนุถนอมเลี้ยงลูกอยู่ในถ้ำเป็นเวลาหลายปี จนมหิงสาน้อยเติบใหญ่ มีเรี่ยวแรงแข็งกล้าทรงมหิทรานุภาพ แม่ควายเรียกลูกชายของตนว่า ทรพี และบอกลูกว่าที่ได้มาพำนักอยู่ในถ้ำนี้ก็เพราะพญาทรพาผู้พ่อจะขวิดลูกควายตัวผู้หมด แม่ต้องทนว้าเหว่ก็เพราะรักลูก ทรพีได้ฟังคำแม่กล่าวจึงมีความโกรธเคืองยิ่งนัก ได้ออกไปท้าพ่อของตนมาต่อสู้กันให้รู้ดำรู้แดง ใครแข็งก็อยู่ ใครอ่อนก็ตาย
..........สถานที่พญาควายทั้งสอง คือ ทรพาผู้พ่อ กับทรพีผู้ลูก ต่อสู้กันนั้น เป็นป่าโปร่งมีต้นมะขามป้อมและต้นส้มป่อยขึ้นอยู่มาก พญาควายทั้งสองได้ต่อสู้กันด้วยมหิทรานุภาพอันยิ่งใหญ่ เสียงอึกทึกฝุ่นผงฟุ้งมืดมนโกลาหลไปทั่วบริเวณ ระหว่างที่พญาควายทั้งสองพันตูกันนั้น เผอิญพญาควายทรพาได้เอาหลังไปชนเอาต้นมะขามป้อม ทำให้ต้นไม้สั่นสะเทือน ผลมะขามป้อมหล่นลงมาถูกตัวของทรพา ทำให้เรี่ยวแรงที่มีอยู่เสื่อมถอยลงอย่างน่าประหลาด พญาทรพาหวาดหวั่นพรั่นใจกลัวจะพ่ายแพ้แก่ทรพี จึงพยายามอึดใจรุกกระหน่ำไล่ขวิดทรพีอย่างเต็มแรง ดันทรพีไปทรุดลงใต้ต้นเถาส้มป่อย หลังของทรพีไปถูกต้นเถาส้มป่อยสั่นสะเทือน ฝักส้มป่อยหล่นลงมาถูกตัวของทรพี เกิดเรี่ยวแรงขึ้นอย่างอัศจรรย์ จึงลุกขึ้นดันทรพาผู้พ่อไปสุดกำลัง เมื่อทรพาทรุดลงไป ทรพีได้ทีเข้าขวิดทรพาเป็นพัลวันจนทรพาเหวอะหวะ มีเลือดแดงฉาน ขาดใจตายในเวลาไม่นาน ทรพีทำร้ายพ่อด้วยการทำลายให้สิ้นชีวิต คนทั้งหลายจึงกล่าวถึงทรพีว่าเป็นคนอกตัญญูทำปิตุฆาต ฆ่าพ่อของตน เป็นคนคบไม่ได้ เวลาลูกใครทำร้ายพ่อแม่ ชาวโลกจะตราหน้าว่าเป็นลูกทรพีก็เนื่องมาจากสาเหตุนี้
..........ความเชื่อเรื่องการกินมะขามป้อม ลูกสมอ หรือล้านนาเรียกว่า "หมากนะ" นั้นมีอยู่เสมอ แม้ในพระวินัยสงฆ์ยังกล่าวถึงผลไม้หรือใบไม้ที่ดองด้วยน้ำมูตรเน่า ในบาลีที่ว่า "ปูติปัณณะ เภสัชชัง" คือยาที่ดองด้วยน้ำมูตร แก้โรคกระษัยและช่วยลดความต้องการทางเพศลง พระสงฆ์จึงนิยมฉันมะขามป้อมและลูกสมอดองตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งทุกวันนี้ สำหรับส้มป่อยนั้น ถือว่าฝักที่ตกลงมาถูกตัวของทรพีทำให้เกิดกำลังขึ้นเป็นทวีคูณ สามารถชนชนะทรพาผู้พ่อได้ ชาวบ้านจึงเอามาแช่น้ำบริสุทธิ์ให้น้ำมันออก นำมาละลายกับน้ำใช้โสรจสรงให้มีกำลังและกำจัดภัยต่าง ๆ ใช้ทั้งงานมงคลเพื่อความเจริญสวัสดีและงานอวมงคลเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย
..........งานมงคลที่ต้องใช้น้ำส้มป่อยประพรม เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวชนาค งานแต่งงาน งานทำบุญอายุ งานอบรมสมโภช งานฉลองต่าง ๆ ฯลฯ
..........งานอวมงคล เช่น ใช้น้ำส้มป่อยไล่ผีในการสร้างบ้าน เวลาจากป่าช้ามาบ้านต้องสรงน้ำส้มป่อย ใช้พรมในงานพิธีสืบชะตาบ้าน ชะตาเมือง ใช้พรมในบ้านที่มีคนตาย
..........การใช้ส้มป่อยแช่ในน้ำมนตร์นั้น นิยมเอาไปจี่ไฟก่อนเพื่อให้มีกลิ่นหอม ผู้เขียนสันนิษฐานว่าฝักส้มป่อยที่เก็บไว้นาน ๆ อาจมีเชื้อราหรือแมลงมีพิษ เช่น บุ้ง เป็นต้น เข้าไปอยู่ หากเอาไปแช่น้ำแล้วมาประพรมอาจจะเกิดผื่นคันขึ้นได้ เขาจึงจัดการจี่ไฟเสียก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม การใช้ส้มป่อยในงานมงคลนั้นได้คตินิยมมาจากเรื่อง พรหมจักรชาดก ที่กล่าวถึงเรื่องการรบระหว่างพญาทรพากับทรพี ชาวบ้านคิดถึงส้มป่อยเป็นลูกไม้วิเศษเพียงแค่ตกลงมาถูกก็มีพละกำลังมหาศาล การที่ได้ส้มป่อยมาใช้ในงานมงคลก็เพื่อเป็นจตุรพิธพรข้อที่ 4 คือ พละ นั่นเอง

แมงสี่หูห้าตา


ประวัติแมงสี่หูห้าตา
..........วรรณกรรมจากคัมภีร์ใบลานของล้านนา และจากนิทานมุขปาฐะที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อ ๆ กันมามีจำนวนมากมายที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและได้สาระจากคติธรรมคำสอนหรือข้อคิดที่โบราณาจารย์ได้สอดแทรกไว้ นิทานเรื่อง "แมงสี่หู ห้าตา" เป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่แพร่หลายมาก เป็นที่รู้จักกันดี ชาวบ้านที่เล่ามักบอกว่าเป็นเรื่องที่แสดงเหตุที่มาว่าทำไมผู้ชายจึงรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวง
..........คำว่า "แมง" นอกจากจะใช้เป็นคำนำหน้าสัตว์เล็ก ๆ แล้ว ยังใช้เป็นคำนำหน้าสัตว์ใหญ่ ๆ ในเชิงตลกขบขันได้อีกด้วย "แมงสี่หู ห้าตา" เป็นสัตว์ใหญ่คล้ายหมี มีหู 4 หู มีตา 5 ตา ในความเป็นจริงไม่ปรากฏสัตว์ประเภทนี้ในโลก แต่มีเรื่องเล่าในล้านนามาแต่โบราณกาล และมีการบันทึกในรูปแบบของวรรณกรรมลายลักษณ์ในเอกสารประเภทใบลาน ซึ่งมีปรากฏให้พบเห็นตามวัดโดยทั่วไป ตัวอย่างของเรื่องนี้ได้เนื้อความจากคัมภีร์ใบลานชื่อ "ธรรมสี่หู ห้าตา" ของวัดแช่ช้าง ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจารด้วยอักษรธรรมล้านนา จำนวน 1 ผูก (61 หน้าลาน) ผู้จารคือ "พิมมสารภิกขุ" เมื่อจุลศักราช 1276 (พ.ศ.2457) ความในคัมภีร์ดังกล่าว กล่าวถึงเรื่องแมงสี่หูห้าตา กับทั้งยังได้เชื่อมโยงสัตว์นี้เข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนาด้วย โดยว่าจำนวนสี่หูและห้าตานั้นที่แสดงถึงหลักธรรมพรหมวิหาร 4 และศีล 5 การสร้างสี่หู ห้าตา (พระอินทร์จำแลงกายเป็นแมงสี่หู ห้าตา กินถ่านไฟแดง ถ่ายออกมาเป็นทองคำ) โดยสังเขปดังนี้
..........มีเมืองเหนึ่งชื่อเมือง "พันธุมติ" กษัตริย์ผู้ครองเมืองชื่อ "ท้าวพันธุมติ" ซึ่งมีมเหสีอยู่ 7 องค์ ทิศเหนือของเมืองนี้มีครอบครัวหนึ่งมี 3 พ่อแม่ลูกอาศัยอยู่ สองสามีภรรยาเป็นยาจกมีบุตรชายคนเดียว เมื่อบุตรมีอายุ 7 ขวบ มารดาสิ้นชีวิตลง ต่อมาเมื่ออายุ 11 ขวบบิดาก็สิ้นชีวิต ก่อนสิ้นใจบิดาได้สั่งเสียว่าให้เอาศพฝังไว้ใกล้ ๆ กระท่อม นานเข้าศีรษะของบิดาก็จะหลุดให้นำเอาศีรษะไปสักการะบูชาทุกค่ำเช้า ถ้าอายุครบ 16 ปีให้เชือกผูกศีรษะนั้นลากไปสู่นครพันธุมติ ซึ่งมีภูเขาอยู่ หากศีรษะไปติดข้องที่ใดให้ทำแร้วเป็นกับดักสัตว์ที่นั้น เมื่อบิดาสิ้นชีวิตบุตรชายได้ฝังศพไว้ใกล้กระท่อมแล้วไปขออาศัยอยู่กับลุงซึ่งเป็นนายจ่าบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) โดยอาศัยเลี้ยงวัวเลี้ยงควายหาฟืนให้เป็นสิ่งตอบแทน จนอายุได้ 16 ปี จึงได้ทำตามที่บิดาสั่งไว้โดยลากศีรษะบิดาไปสู่นครพันธุมติจนไปถึงภูเขา เมื่อลากศีรษะขึ้นภูเขาไปจนถึงถ้ำแห่งหนึ่งศีรษะไปติดข้องอยู่ปากถ้ำ จึงทำแร้วดักสัตว์ใหญ่ ณ ที่นั้นแล้วกลับบ้าน รุ่งเช้าเขาไปดูแร้วที่ดักไว้ ปรากฏว่ามีสัตว์ใหญ่ติดอยู่ สัตว์นั้นรูปร่างคล้ายหมีมีหูสี่หู มีห้าตา เขาได้ตัดเอาเถาวัลย์ผูกสัตว์นั้นนำกลับมาบ้าน แล้วหาสิ่งกำบังอย่างมิดชิด จากนั้นไปหาหญ้าและใบไม้มาให้กิน สัตว์สี่หูห้าตา ไม่ยอมกินเอาแต่นอนหลับ อ้ายทุกคตะได้เห็นแมงสี่หูห้าตามาติดบ่วงแร้วนั้นก็ไหว้ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า สัตว์ประหลาดตัวนี้ ทำให้ตนเข้าใจว่า เป็นพ่อได้กลับมาเกิดเป็นแมงตัวประหลาดตัวนี้ หลังจากนั้น เขาก็นำแมงสี่หูห้าตาไปเลี้ยงที่บ้าน และล้อมคอกไว้โดยไม่ให้ใครเห็น เอาข้าวเอาน้ำให้มันกินแต่มันก็ไม่ยอมกินอะไรที่เขาให้เลย และเขาก็ไม่มีเวลามาดูแลหรือให้ความสนใจกับแมงสี่หูห้าตามากนักเพราะต้องเลี้ยงวัว เลี้ยงควายตามปกติ
..........ในช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว เมื่ออ้ายทุกคตะกลับมา ก็เอาไม้มาจุดไฟเพื่อก่อกองไฟ จนเป็นถ่านและมีถ่านหนึ่งกระเด็นออกไปหาแมงสี่หูห้าตา ด้วยความหิวกระหาย มันจึงกินถ่านไฟแดงตรงนั้น อ้ายทุกคตะเกิดความแปลกใจจึงก่อกองไฟและเขี่ยถ่านให้แมงสี่หูห้าตากินอย่างไม่ขาด วันต่อมาแมงสี่หูห้าตาได้ถ่ายขี้ออกมาเป็นทองคำจำนวนมาก เมื่อคิดได้เช่นนี้ ในแต่ละวัน อ้ายทุกคตะจึงก่อกองไฟแล้วนำถ่านไฟแดงร้อน ๆ มาให้แมงสี่หูห้าตากินอย่างไม่ขาด และมันก็ขี้ออกมาเป็นทองคำทุก ๆ วัน อ้ายทุกคตะก็ขุดดินฝังทองคำจนเต็มไร่เต็มสวน
..........กล่าวถึงท้าวพันธุมติผู้ครองนครมีราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งอายุได้ 16 ปี มีรูปโฉมงดงามเป็นที่หมายปองของบรรดากษัตริย์หัวเมืองต่าง ๆ และมีหลายเมืองต่างส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อขอราชธิดาไปเป็นมเหสี ท้าวพันธุมติรู้สึกลำบากใจจึงหาทางออกโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าหากเจ้าเมืองใดสามารถสร้างลินคำ (รางน้ำทองคำ) ตั้งแต่เมืองของตนมาจนถึงวังของราชธิดาได้ก็จะยกราชธิดาให้เจ้าเมืองนั้น เงื่อนไขนี้ไม่มีเจ้าเมืองใดสามารถทำได้ ฝ่ายชายกำพร้าผู้ยากได้ทราบข่าว จึงไปขอให้ลุงไปทูลราชธิดาของท้าวพันธุมติ ส่วนลุงก็ได้แต่เวทนา วันหนึ่งมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อกลุ่มหนึ่งมาพักแรมที่บ้านชายนั้น เขาจึงได้ว่าจ้างให้พ่อค้าเหล่านั้นสร้างลินคำตั้งแต่บ้านตนจนไปถึงวังของราชธิดาสิมมาจนสำเร็จภายในคืนเดียว รุ่งเช้าท้าวพันธุมติเห็นลินคำเป็นอัศจรรย์ ก็ให้เสนาอำมาตย์ติดตามไปดู เมื่อพบว่าเจ้าของเป็นใครจึงจัดขบวนแห่ไปรับเอาชายเข็ญใจไปเป็นราชบุตรเขย เมื่ออภิเษกให้เป็นคู่ครองราชธิดาสิมมาแล้วจึงไต่ถามว่าได้ทองคำมาอย่างไร เขาจึงเล่าเรื่องแมงสี่หูห้าตาให้ฟัง ท้าวพันธุมติจึงให้เสนาไปขุดทองในสวนมาไว้ในพระคลังให้หมดและให้ราชบุตรเขยไปนำแมงสี่หูห้าตามา เขาก็ไปจูงเอามาแต่เมื่อจูงมาชาวเมืองต่างมามุงดู แมงสี่หูห้าตาก็ตกใจวิ่งหนีกลับไปอยู่ถ้ำตามเดิม ท้าวพันธุมติก็ให้ตามเอามาอีก คราวนี้ชาวเมืองต่างมามุงดูเป็นจำนวนมากขึ้น แมงสี่หูห้าตาก็ยิ่งตกใจวิ่งหนีไปอีกท้าวพันธุมติเห็นดังนั้น จึงวิ่งไล่ตามจับจนเลยเข้าไปในถ้ำ ครั้งนี้หินถล่มลงปิดปากถ้ำไว้ โดยที่เสนาวิ่งตามไม่ทันทำให้ท้าวพันธุมติถูกขังอยู่ในถ้ำกับแมงสี่หูห้าตา ท้าวพันธุมติถูกขังอยู่ในถ้ำเป็นเวลาหลายวันเพราะไม่มีทางออก มีเพียงรูเล็ก ๆ โดยใช้ตาข้างเดียวแนบส่องดูภายนอกได้เท่านั้น ท้าวพันธุมติคิดในใจว่าตนคงต้องตายในถ้ำนี้แน่นอน คงไม่มีโอกาสอยู่กับมเหสีอีก จึงสั่งเสนาไปตามมเหสีทั้ง 7 มา เมื่อมเหสีมาแล้วพระองค์จึงขอให้เปิดผ้าถุงให้ดูเป็นครั้งสุดท้ายก่อนตาย มเหสีตั้งแต่ลำดับที่ 1 ถึง 6 ไม่ยอมเปิดผ้าถุงเพราะความอาย แต่มเหสีองค์ที่ 7 รู้สึกเห็นใจ จึงยอมเปิดผ้าถุงให้ดู ทันใดนั้นถ้ำอดหัวเราะไม่ได้ก็ระเบิดหัวเราะออกมาปากถ้ำจึงเปิด พระยาพันธุมติได้โอกาสจึงวิ่งหนีออกมาได้ เมื่อกลับมาถึงเมือง ท้าวพันธุมติได้อภิเษกให้บุตรเขยเป็นกษัตริย์ครองเมืองแทน จนถึงอายุขัยพระองค์ก็ถึงแก่พิราลัย บุตรเขยผู้เป็นกษัตริย์ได้ครองเมืองโดยธรรม และได้สร้างโรงทานถึง 6 หลัง เพื่อให้ทานแก่ยาจกคนยากไร้ จากนั้นได้เทศนาสั่งสอนเสนาอำมาตย์และชาวเมืองให้ตั้งอยู่ในธรรมมีมรรคแปดเป็นต้น ชาวเมืองพันธุมติก็ดำรงชีพตามวิสัยอย่างสงบสุข เรื่องราวที่มเหสีองค์เล็กเปิดผ้าถุงให้ท้าวพันธุมติดูเป็นเหตุให้สามีทั้งหลายรักเมียน้อยมากกว่าเมียหลวง และถ้ำดังกล่าวได้ชื่อว่า "ถ้ำยุบ" ตั้งแต่นั้นมา ความตอนนี้ในคัมภีร์กล่าวว่า "ส่วนถ้ำอันนั้น ก็ได้ชื่อว่าถ้ำยุบว่าอั้น ตราบต่อเท้าเถิงกาละบัดนี้แล ส่วนท้าวพระยาทั้งหลายก็ลวดรักเมียปลายเหลือกว่าเมียเค้าตราบต่อเท้าเถิงกาละบัดนี้แล" ในแง่ของความเป็นมาเรื่อง "แมงสี่หูห้าตา" นี้มีข้อน่าสังเกตสองประการ ประการแรกอาจเป็นนิทานชาวบ้านที่เรียกว่า "เจี้ย" เล่าสืบต่อกันมาจนได้รับความนิยม ต่อมามีนักศาสนานำมาเขียนผูกโยงกับคำสอนทางศาสนา เพื่อดึงดูดความสนใจ ประการที่สองมีการเขียนลงในใบลานมาก่อน แล้วพระนำมาเทศนาธรรม ชาวบ้านก็ได้จดจำมาเล่าสู่กันฟัง
ทั้งสองประการนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการถ่ายทอดทั้งโดยมุขปาฐะและลายลักษณ์ในสังคมพื้นบ้านล้านนามาช้านาน มีพระสงฆ์มาเผยแพร่พระพุทธศาสนา แล้วนำพระบรมพุทธสารีริกธาตุนิ้วก้อยข้างซ้ายของพระพุทธเจ้ามาถวาย ในฐานะที่เป็นเจ้าเมือง พระยาธรรมมิกะราชจึงโปรดให้สร้างวัดวาอารามต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และได้สร้างวัดดอยเขาควายแก้ว โดยนำเอาพระบรมพุทธสารีริกธาตุนิ้วก้อยข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า บรรจุใส่ไว้ในเจดีย์ของวัดดอยเขาควายแก้วอีกด้วย วัดนั้นสร้างตรงยอดดอยที่มีถ้ำที่แมงสี่หูห้าตามาติดบ่วงแร้วได้ที่นั่น และเป็นวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน
..........ความประทับใจของชาวล้านนาต่อนิทานเรื่องนี้ ทำให้ได้มีการสร้างรูปปั้นของแมงสี่หูห้าตาไว้ที่วัดดอยถ้ำเขาควาย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และชื่อเมือง "พันธุมติ" ก็เกี่ยวโยงกับชื่อเก่าแก่ของเมืองเชียงรายด้วย

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ วัดสวนดอก เชียงใหม่



พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ จำนวน 2 องค์
..........พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานด้านทิศเหนือ-ใต้ในระนาบเดียวกับพระเจ้าค่าคิงพญากือนา เฉพาะพระพุทธรูปทรงเครื่องด้านทิศเหนือ บริเวณกลางฐานพระพุทธรูปมีแผ่นหินอ่อนจารึกอักษรพม่า ตัวเลขโหรา ภาษาพม่า 6 บรรทัด ตัวเลขโหราปิดทับด้วยกระจก อ่านได้ว่า จุลศักราช 1294 (พ.ศ.2475) พญาตะก่า (อุบาสก) วารินะ พญาอะมะ (อุบาสิกา) มะนังเอ่ง ซึ่งเป็นภรรยา พร้อมทั้งลูกชายลูกหญิง ได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ขอเป็นปัจจัยถึงพระนิพพาน
..........ลักษณะพระพุทธรูปทั้งสองเป็นศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พระวรกายทาสีขาว พระเนตรและพระโขนงทาสีดำ พระโอษฐ์ทาสีแดง ซึ่งเป็นการทาสีในสมัยหลัง วงพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระโขนงโก่งโค้ง ไม่ต่อกัน กลางพระนลาฏมีอุณาโลม พระศอเป็นปล้อง พระวรกายได้สัดส่วน แต่งองค์งดงาม

ขันแก้วทั้งสาม


ขันแก้วทั้งสาม เป็นพานไม้ทรงสูงที่ใช้โดยทั่วไปในล้านนา
แบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ ส่วนใบขัน ส่วนเอว และส่วนขา
ตัวใบขันใช้ไม้แผ่นกว้างราว 15 เซนติเมตร 3 แผ่นมาประกบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ปากผายก้นสอบ ส่วนเอวขันจะคอดและทำคล้ายอกไก่ (กระดูกงู) แล้วจึงผายออกอีกครั้งเพื่อรับกับขาที่ทำเป็นสามขา อาจจะสลักเป็นรูปพญานาค ตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง ประดับกระจกจืน (หมายถึงกระจกเกรียบที่ฉาบด้วยแผ่นตะกั่วอย่างบาง เวลาใช้สามารถตัดด้วยกรรไกรให้เป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ) มักวางอยู่หน้าพระประธานในวิหาร
ขันแก้วนี้ใช้สำหรับใส่ดอกไม้ ธูป เทียน มาใส่เพื่อสักการะพระรัตนตรัย ที่ชาวล้านนาเรียกว่า แก้วทั้งสาม เมื่อศรัทธาชาวบ้านไปถึงวิหาร หลังจากกราบพระแล้วต้องใส่ขันแก้วทั้งสามก่อน ผู้ใส่ขันแก้วทั้งสามก่อนต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น หากผู้หญิงไปถึงก่อน โดยที่ผู้ชายยังไปไม่ถึงจะต้องรอให้ผู้ชายมาใส่ก่อน เวลาใส่ดอกไม้ต้องแยกเป็น 3 ส่วนวางตามมุมทั้ง 3 ของขัน แต่เมื่อมีชาวบ้านมาใส่ดอกไม้มากบางครั้งอาจจะไม่เห็นถึงการใส่ดอกไม้ทั้ง 3 มุมก็ได้ เมื่อถึงพิธีกรรมไหว้พระรับศีลหรือสวดมนต์ถวายไทยทานนั้น จะมีไวยาวัจกร หรือมัคทายกมายกเอาขันแก้วไปแตะกับแท่นแก้วเบา ๆ ถือเป็นการประเคน แล้ววางไว้หน้าพระประธาน อันแสดงถึงการถวายแด่พระรัตนตรัย ขันแก้วทั้งสามนี้บางแห่งทำเป็นพานทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 15-20 นิ้ว สูงราว 30 นิ้ว มีฐานเป็นรูปพญานาค 3-5 ตัวเทินพานไว้ หรือเป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยมก็ได้

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

วัดพวกเปีย ชุมชน ความเป็นมาแต่กาลเก่า

พวกนอกเวียงด้านใต้ (บ้านพวกเปีย)


..........ย้อนไป ในปี พ.ศ.2516
"ไปไหนวะ หล้า?" ทอน วัยรุ่นบ้านพวกเปียถามเพื่อนที่ขี่รถจักรยานผ่านหน้าบ้าน
"ไปหาเพื่อนในเวียงหน่อยบ่ะ"


"ในเวียง" ในความหมายนี้ หมายถึง ชุมชนในกำแพงเมืองเชียงใหม่
..........ในสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านจะแยกเป็น "ในเวียง" และ "นอกเวียง" โดยใช้กำแพงเมืองเป็นเส้นแบ่ง และหากบอกว่า "ไปหล่ายหน้า" หมายถึง ไปทางฝั่งน้ำปิงอีกฟากหนึ่ง คือ สันป่าข่อย กำแพงเมืองจึงเป็นเส้นแบ่ง "พวกในเวียง" และ "พวกนอกเวียง"
..........การแบ่งเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นในสมัยยุคปี พ.ศ.2500 เศษ ที่มักมีการยกพวกเข้าชกต่อยทำร้ายกัน และมักแบ่งเป็นกลุ่มนอกเวียง และกลุ่มในเวียง
"พวกนอกเวียง" ด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ย่านหนึ่ง คือ ย่านวัดพวกเปีย เป็นชุมชนที่อยู่นอกกำแพงเมืองเมื่อออกจากประตูสวนปรุงไปทางถนนสายหางดง
..........ย่านนี้มีวัดพวกเปีย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน วัดพวกเปียอยู่ด้านขวามือ ด้านหลังวัดติดกับบริเวณโรงพยาบาลสวนปรุง
กลุ่มวัยรุ่นพวกเปียหลังปี พ.ศ.2510 ประกอบด้วย "ทอน", "หล้า", ศักดิ์", "พัน" รวมถึงวัยรุ่นย่านถนนวัวลายที่เป็นชุมชนติดต่อกันคือ "น้อย", "แดง"
กลุ่มในเวียงที่มักต้องปะทะกันบ่อย คือ กลุ่มวัดพวกแต้มและวัดพวกหงส์ หลัก ๆ คือ "เทพ", "นิด", "แอ๊ด", "แอ"
อีกกลุ่มหนึ่งที่หนาแน่นคือ กลุ่มประตูเชียงใหม่ หัวหน้ากลุ่มคือ "ปั้ง"
วัยรุ่นนักเลงสมัยนั้นยึดถือถิ่นใครถิ่นมัน หากผ่านไปยังถิ่นอื่นแล้วมักถูกไล่ชกต่อย วัยรุ่นต่างถิ่นสมัยนั้นจึงมักไม่อาจหาญไปต่อกรด้วย มักหลบหนีและรอคอยโอกาสที่ให้กลุ่มตรงข้ามเข้ามาในถิ่นตัวเองบ้าง ดังคติ "ทีใครทีมัน"
ยกเว้นหากพบกันนอกสถานที่ก็ต้องสู้กัน สมัยนั้นหนังขายยากลางแปลงมักฉายที่ลานประตูเชียงใหม่ สถานที่นี้จึงมักมีกลุ่มวัยรุ่นแต่ละชุมชนมาพบกันที่นี่ บ้างมาดูแลหญิงสาวในชุมชนของตนเอง บ้างมาจีบหญิงสาวนอกชุมชน ประกอบทั้งเคยมีเรื่องกันมาก่อน
คราวหนึ่ง หลังจากมีการประกาศขายยาแล้วและปิดไฟมืดเพื่อฉายหนังต่อ กลุ่มบ้านพวกเปียอาศัยจังหวะนี้เข้าปะทะกับกลุ่มประตูเชียงใหม่ "ทอน" แห่งบ้านพวกเปียเสียท่าถูกกลุ่มประตูเชียงใหม่ใช้ไม้คานตีเข้าที่ศีรษะเย็บถึง 14 เข็ม เป็นความทรงจำสมัยยังเป็นวัยรุ่นเลือดร้อน

..........ชุมชน "ในเวียง" ในอดีตนั้น ถือได้ว่าเป็นย่านของผู้ครองนครเชียงใหม่และเชื้อสายเจ้านายฝ่ายเหนือ หากนับจากแยกกลางเวียงออกมา ส่วนชาวบ้านทั่วไปมักอยู่นอกกำแพงเมือง ทำหน้าที่ทำไร่ทำนาเก็บไว้เป็นเสบียงเพื่อการศึกสงคราม และหากเกิดสงครามมีข้าศึกมารุกรานก็จะนำชาวบ้านเข้ามาหลบภัยในกำแพงเมือง ระยะต่อมากลุ่มชาวบ้านทั่วไปเข้ามาอาศัยในกำแพงเมืองมากขึ้น ๆ จนแทบไม่เห็นความแตกต่างที่ว่าในกำแพงเมืองคือ กลุ่มเจ้านาย
..........การอยู่ "นอกเวียง" ในเชิงจิตวิทยาแล้ว อาจถือว่าเป็นคนชานเมืองได้ ยิ่งในอดีตที่เมื่อพ้นจากกำแพงเมืองออกมาก็ถือว่าเป็นทุ่งนา มีบ้านคนอยู่น้อยหลังและห่างกัน
..........สมัยหนึ่งมักมีการปล้นจี้รถสี่ล้อแดงกันที่บริเวณแยกข้างโรงพยาบาลสวนปรุง เนื่องจากเป็นที่เปลี่ยวมากและมืดไม่ค่อยมีผู้คนผ่านไปมา
..........สอบถามชาวพวกเปียแล้วไม่มีความรู้สึกน้อยใจหรือต่ำต้อยที่อยู่ "นอกเวียง" เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งชาวบ้าน "ในเวียง" เองก็มีฐานะความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกัน

..........วัดพวกเปีย มีประวัติว่าเดิมชื่อว่า วัดพวกเปี๊ยะ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าละแวกบริเวณนั้นชาวบ้านมีความสามารถทางเล่นดนตรีเปี๊ย จึงร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น (วัดร้างในเวียงเชียงใหม่ โดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อ้างการสัมภาษณ์นายไกรศรี นิมมานเหมินท์)
นอกจากนี้ด้านหลังของวัดพวกเปีย มีวัดอีกวัดหนึ่งชื่อวัดเชียงรุ่ง ต่อมากลายเป็นวัดร้างและใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ราชการคือ เป็นโรงพยาบาลสวนปรุง (วัดร้างในเวียงเชียงใหม่, อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว,2539)
..........เลยวัดพวกเปียไปทางใต้เป็นบ้านของคหบดีคนสำคัญของบ้านพวกเปีย เป็นศรัทธาหลักของวัดพวกเปียและทำให้ชาวบ้านมีงานสร้างรายได้ คือ นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี ภรรยาคือ นางปราณี พุ่มชูศรี มีโรงงานคัดใบชาและใบยาสูบ ชาวบ้านพวกเปียมักมารับจ้างคัดใบชาและใบยาที่นี่ ปัจจุบันเป็นบริเวณปั๊มน้ำมันเชลล์และหมู่บ้านระมิงค์ ซึ่งเป็นของตระกูล "พุ่มชูศรี"
..........นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี ตามประวัติ เป็นชาวจังหวัดนครสวรรค์ บุตรของหมื่นสรรพหิรัญรักษ์ (สม พุ่มชูศรี) และนางหอม บิดารับราชการกรมสรรพสามิต สกุลพุ่มชูศรีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองนครสวรรค์ในอดีต หลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียนอัชสัมชัญกรุงเทพฯแล้ว เข้าทำงานที่บริษัทยาสูบอังกฤษ-อเมริกันซึ่งผลิตบุหรี่ส่งขายต่างประเทศ ทำให้นายประสิทธิ์มีความชำนาญด้านยาสูบ ต่อมาเป็นตัวแทนของบริษัทมาทำไร่ยาสูบส่งโรงงานของบริษัทที่จังหวัดเชียงราย ระยะต่อมาจึงลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวโดยทำไร่ยาสูบที่อำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ส่งให้บริษัทแทน เคยมีโรงบ่มใบยาถึง 25 โรงและทดลองและทำสวนชาและสวนส้ม ถือเป็น "พ่อเลี้ยง" คนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่และเป็นผู้บุกเบิกการทำไร่ยาสูบ ไร่ชาและสวนส้มในยุคแรก ๆ อีกด้วย นายประสิทธิ์เสียชีวิตในปี พ.ศ.2512
..........ด้านครอบครัวนายประสิทธิ์ สมรสกับนางปราณี พุ่มชูศรี มีธิดา 2 คน คือ นางสมถวิล มานิตยกูล (สมรสกับ ร.อ.อโนดาห์ มานิตยกูล) และนางเพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ (สมรสกับนายนิตย์ วังวิวัฒน์) (จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี,2512)
..........เลยจากโรงงานของนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เป็นตลาดทิพย์เนตร สมัยก่อนเป็นบ้านและสวนกว้าง ต่อมานายสมพงษ์ เตชะสุขสันต์ เจ้าของบริษัทใบยาเอเชียอาคเนย์ และเป็นลูกเขยกำนันน้อย ไชยซาววงศ์ แห่งตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง มาซื้อและทำเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก
..........ถัดไปทางใต้เป็นชุมชนทิพย์เนตร ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังเนื่องจากมีชาวบ้านจากย่านอื่นอพยพมาสร้างบ้านอยู่อาศัย สมัยหนึ่งเป็นย่านที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดมากจนเป็นที่รู้จักของตำรวจทั่วไป ถัดไปเป็นสุสานหายยาเนื้อที่กว้างขวาง เป็นที่เผาศพทั้งนอกเวียงและในเวียง เลยจากนี้ไปเป็นทุ่งนา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์สรรพสินค้า แอร์พอร์ต สนามบิน ชาวบ้านมักเรียกย่านนี้ว่า "บ้านนอกโต้ง" หรือ นอกทุ่ง (นายสุนทร ยามศิริ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่, สัมภาษณ์)
นั่นแค่เหตุการณ์ย้อนไปแค่ 40 ถึง 50 ปี
แต่หากย้อนไปร่วม 70 ปี บริเวณสนามบินนั้นเป็นวัดและชุมชนหนึ่งกลางทุ่งนา คุณลุงคำตัน ไชยคำเรือง มัคทายกวัดพวกเปียบอกว่า "บริเวณนั้นเดิมมีวัดชื่อว่า วัดป่ากล้วย มีชุมชนรอบวัดประมาณ 50 หลังคาเรือน มองจากประตูหายยาเห็นเจดีย์วัด วิหาร วัดงามสง่าอยู่กลางทุ่งนา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2489) บริเวณวัดป่ากล้วยและชุมชนป่ากล้วย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ เจ้าอาวาสวัดหนีไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านก็เช่นเดียวกันต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น ที่สนามบินมีเครื่องบินญี่ปุ่นมาจอดเตรียมพร้อม ด้วยเหตุนี้เองทำให้วัดป่ากล้วยและชุมชนป่ากล้วยต้องร้างไป ต่อมาทางราชการเวนคืนที่ดินชาวบ้านทำเป็นสนามบิน ชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่สายคันคลองชลประทานด้านตำบลสุเทพ
.........."ชุมชนบ้านพวกเปียเป็นชุมชนเล็ก ข้าง ๆ วัดและหน้าวัดมีบ้านไม่กี่หลัง อยู่ห่าง ๆ กัน แต่ละบ้านมีพื้นที่เป็นไร่ อยู่กันกับชุมชนวัดศรีสุวรรณและวัดหมื่นสาร ถนนสมัยก่อนนั้นก็เป็นลูกรังแคบสัก 3 วา ส่วนใหญ่มีเกวียนแล่น ช่วงเช้าวัวควายจากบ้านพวกแต้มเป็นฝูงถูกไล่ต้อนไปหากินกลางทุ่งนาผ่านหน้าวัด หน้าเกี่ยวข้าวแล้วเกวียนจากทางอำเภอหางดง นำข้าวเปลือกไปส่งเจ้าของนาผ่านเส้นทางนี้เช่นกัน มองจากวัดพวกเปียไปเป็นทุ่งนาโล่ง เป็นทุ่งนาทั้งนั้นมองไปถึงบ้านป่าแดดโน่น นาข้าวเขียว ด้านหลังวัดนอกจากเคยมีวัดเก่าที่ร้างไปแล้ว เดิมโรงพยาบาลสวนปรุงเป็นบ้านและสวนของข้าราชการบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ ส่วนด้านฝั่งบ้านคุณประสิทธิ์ พุ่มชูศรี ก่อนหน้านี้ก็เป็นบ้านและสวนของคุณพระอีกคนหนึ่ง ถัดไปตลาดทิพย์เนตร เดิมเป็นป่าไผ่รก
.........."สะพานคอนกรีตสมัยก่อนเป็นสะพานไม้พอที่เกวียนผ่านได้ เลยไปที่เป็นสุสานหายยาก็เปลี่ยวน่ากลัว หากผ่านบริเวณนั้นตอนเด็กต้องวิ่งหน้าตั้งให้พ้นบริเวณป่าช้าให้เร็วที่สุด ตั้งแต่ประตูสวนปรุงผ่านหน้าวัดพวกเปียทั้งสองข้างมีทางน้ำไหล น้ำใสแจ๋วเรื่อยไป ด้านหน้าสุสานหายยาก็มีทางน้ำด้วยเช่นกัน สมัยก่อนคนฐานะยากจนเป็นส่วนใหญ่ใครตายก็มักไม่ใส่โลง เพียงนำผ้าห่มหรือผ้าขาวคลุมไว้ ถึงเวลาก็หามกัน 4 คน นำไปฝังที่สุสานหายยา สมัยนั้นฝังกันทั้งนั้นเพราะไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ทำกันง่าย ๆ พื้นที่ก็เยอะ จะฝังตรงไหนของสุสานก็ได้ ปัจจุบันจำเป็นต้องเผา บางศพก็เน่าเหม็นเหมือนกัน อย่างศพพ่อหนานมูล คนบ้านพวกเปีย เก็บศพไว้ 7 วัน ส่งกลิ่นแล้ว แมลงวันหัวเขียวบินว่อน ต้องหลบกัน และสมัยนั้นก็ไม่ต้องมีปราสาทสวยงามเหมือนสมัยนี้ อาจจะเป็นระดับชาวบ้าน ๆ ก็เป็นได้
.........."วัดพวกเปีย สมัยก่อนเป็นวัดเล็ก สมัยก่อนหญ้าขึ้นรกขาดการดูแล มีวิหารเป็นปูนเสาด้านในเป็นไม้ คนแก่เล่าว่าเสาเป็นเสาจากโรงช้างของเจ้านาย ศาลาไม้มุงดินขอ กุฏิไม้หลักเล็ก ๆ จนสมัยที่เจ้าอาวาส คือ พระครูโกวิทย์สารธรรม เป็นคนทางวัดหมื่นสาร เจ้าอาวาสองค์เก่ามรณะก็รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสแทน เป็นพระที่เก่ง อู้เก่ง เทศน์คำเมืองเก่ง ศรัทธาติดกันทั่ว ศรัทธาทางสันป่าข่อย ทางหางดงก็มาทำบุญที่นี่ และเป็นพระนักพัฒนา เสาะหาเงินมาพัฒนาใหม่ไม่ว่าจะเป็นวิหาร หอไตร ศาลา หอฉัน ศาลาเอนกประสงค์ โบสถ์ กำแพงวัด สร้างในสมัยพระครูโกวิทย์ทั้งสิ้น" (นายคำตัน ไชยตำเรือง, สัมภาษณ์)
..........พระครูโกวิทย์สารธรรม มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพวกเปียตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 จนถึงปี พ.ศ.2538 ขณะอายุ 66 ปี ก็มรณะภาพ ท่ามกลางความเสียดายของคณะศรัทธา ด้วยคุณความดีและเพื่อให้คนรุ่นต่อมาได้รำลึกถึง คณะศรัทธาวัดพวกเปียจึงได้สร้างรูปเหมือนไว้สักการะบูชาตั้งอยู่ที่วิหารวัดพวกเปียจนทุกวันนี้

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

วัดสกิทาคา หรือวัดผาลาด เชียงใหม่

วัดนี้ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางระหว่างน้ำตกห้วยแก้ว-วัดพระธาตุดอยสุเทพ
..........ปี พ.ศ.1898-1928 เศษนั้น วัดผาลาดเป็นวัดหนึ่งที่พระเจ้ากือนา พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายนครเชียงใหม่ ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสี่ยงทาย แสวงหาสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ