ฉลาด...ใช้ยา ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ยาพาราเซตามอล...เป็นเพื่อนที่แสนดีจริงหรือ?
..........หลายครั้งที่พวกเรามักจะชื่นชอบยาพาราเซตามอลว่าเป็นเพื่อนที่แสนดี เพราะไม่ว่าจะมีอาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดเอว ฯลฯ เราก็จะหยิบยาชนิดนี้มาใช้เพื่อบรรเทาอาการ และได้ผลเป็นอย่างดี ซ้ำยังมีราคาประหยัด ไม่แพง ไม่เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหาร ซึ่งจะกินเมื่อใดก็ได้ ทันทีที่มีอาการเกิดขึ้น
"ยาไม่ใช่ขนม"..."มีคุณอนันต์และโทษมหันต์"
..........แต่อย่างไรก็ตาม "ยาไม่ใช่ขนม" หรือ "มีคุณอนันต์ และ โทษมหันต์" ซึ่งเป็นคำขวัญที่ใช้กับยาทั่วไป และยังเป็นจริงแท้แน่นอน เมื่อนำมาใช้กับยาพาราเซตามอล เพราะยาชนิดนี้ ถ้าหากมีการใช้ในขนาดปกติ (ดูตารางที่ 1) ถือว่าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและประหยัด แต่หากมีการใช้ยาพาราเซตามอลนี้เกินขนาด ก็อาจจะเกิดอันตรายและเป็นพิษ เป็นภัยต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้ยานี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
หากได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด...จะมีพิษต่อตับ
..........ตัวอย่างเช่น ในผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดหัวเป็นประจำ จึงใช้ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด รวมเป็น 1,000 มิลลิกรัม หรือ 1 กรัมติดต่อกันทุก 4 ชั่วโมง เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ซึ่งจะได้รับยาชนิดนี้ทั้งสิ้น 6 ครั้ง ๆ ละ 1 กรัม รวมเป็น 6 กรัมต่อวัน (ขนาดสูงสุดที่แนะนำ คือ 4 กรัมต่อวัน)
..........ยาพาราเซตามอลในขนาดสูงจะส่งผลให้ตับของผู้ใช้ยารายนี้ทำงานหนักยิ่งขึ้น เพื่อขจัดยานี้ออกจากร่างกาย และทำให้เกิดสารพิษสะสม หากมีจำนวนมาก ๆ ก็จะส่งผลทำลายตับ ทำให้ตับวาย และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็อาจจะถึงแก่ชีวิตได้
..........อันตรายต่อตับจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาพาราเซตามอลในขนาดสูง ทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยในแบบเฉียบพลันนี้จะเกิดขึ้นทันที หลังจากที่ได้รับยาชนิดนี้เกินขนาดสูง ๆ เช่น ในผู้ใหญ่ที่ใช้ครั้งละ 6-7 กรัม หรือเด็กที่ได้รับยามากกว่า 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน เป็นต้น ในขณะที่การเกิดพิษแบบเรื้อรัง จะเกิดจากการใช้ยา ในขนาดสูงและติดต่อกันนาน ๆ หลายวัน หลายสัปดาห์ หรือเป็นปี จึงจะเกิดพิษต่อตับได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดพิษของยาพาราเซตามอล
..........นอกจากนี้ ในผู้ใช้ยาบางกลุ่มจะเกิดพิษจากยาพาราเซตามอลได้เร็วและบ่อยกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่อดอาหาร ผู้ที่ขาดอาหาร ผู้ที่ใช้ยาที่มีผลต่อตับ เป็นต้น จึงต้องระวังการใช้ยาพาราเซตามอลไม่ให้ขนาดสูง เพราะจะเกิดพิษได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ยาที่ส่งผลเพิ่มพิษของยาพาราเซตามอล มี 2 ประเภท ได้แก่
..........1. ยาที่มีสูตรผสมตัวยาพาราเซตามอล
..........2. ยาที่เพิ่มการเปลี่ยนแปลงยาพาราเซตามอลที่ตับ
ยาที่มีสูตรผสมตัวยาพาราเซตามอล
..........ยังมียาสูตรผสมอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่มีส่วนผสมของตัวยาพาราเซตามอลด้วย ตัวอย่างเช่น ยาแก้ไข้หวัดชนิดแผง ยาแก้ปวด ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อหวังผลของตัวยาพาราเซตามอลในการแก้ปวด ลดไข้ แก้ตัวร้อน โดยเฉพาะยาแก้ไข้หวัดทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก มีตัวยาพาราเซตามอลเป็นองค์ประกอบด้วยจำนวนมาก
..........หากผู้ใช้ยาหรือผู้ปกครองไม่พึงระวัง และมีการใช้ร่วมกับยาพาราเซตามอลอีก ก็จะเป็นการเพิ่มขนาดของยาพาราเซตามอลโดยไม่ตั้งใจ และอาจจะส่งผลให้เกิดพิษต่อตับจากยาพาราเซตามอลได้
ยาที่เพิ่มการเปลี่ยนแปลงยาพาราเซตามอลที่ตับ
..........ยากลุ่มนี้ไม่ได้มีองค์ประกอบเป็นตัวยาพาราเซตามอล แต่ตัวยาในกลุ่มนี้จะส่งผลให้เพิ่มการทำงานของตับในการทำลายยาพาราเซตามอล ทำให้เกิดพิษต่อตับได้เช่นกัน ได้แก่ isoniazid
ยาพาราเซตามอลมีหลากหลายรูปแบบ
..........สำหรับตารางที่ 2 จะแสดงรูปแบบของยาพาราเซตามอลชนิดเดี่ยว ๆ ที่มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ให้เหมาะกับวัยของผู้ใช้ยา เช่น ชนิดหยด (drop) ชนิดน้ำเชื่อม (syrup) ชนิดน้ำแขวนตะกอน (suspension) และชนิดเม็ด (tablet, caplet)
..........เริ่มตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึง 1 ขวบ ซึ่งอาจจะมีอาการตัวร้อนหรือเป็นไข้ จะแนะนำให้ใช้ในรูปแบบของยาน้ำชนิดหยด ซึ่งมีความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร อาจจะคำนวณขนาดของยาที่จะต้องใช้จากอายุของทารกหรือน้ำหนักตัวก็ได้ และเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่มักจะหนักประมาณ 3 กิโลกรัม จึงใช้ครั้งละ 0.3 ซีซีทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกินวันละ 5 ครั้ง (ดูตารางที่ 1 )
..........ส่วนในเด็กเล็กอายุระหว่าง 1 ถึง 6 ขวบ จะแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม หรือชนิดน้ำแขวนตะกอน ในขนาดความเข้มข้น 120 มิลลิกรัม/ช้อนชา หากเด็กมีน้ำหนักตัว 12 กิโลกรัมก็ควรได้รับยาพาราเซตามอลครั้งละ 1 ช้อนชา (หรือ 5 ซีซี) ซึ่งประกอบด้วย ตัวยา 120 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกินวันละ 5 ครั้งเช่นกัน
..........สำหรับเด็กโตขึ้นและมีอายุตั้งแต่ 6 ถึง 12 ปี จะให้ใช้ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม หรือชนิดน้ำแขวนตะกอน ในขนาดความเข้มข้น 240 หรือ 250 มิลลิกรัม/ช้อนชา หากเด็กมีน้ำหนักตัว 24 หรือ 25 กิโลกรัม ก็ควรได้รับยาในความเข้นข้นนี้ ครั้งละ 1 ช้อนชา (หรือ 5 ซีซี) ซึ่งประกอบด้วย ตัวยา 240 หรือ 250 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกินวันละ 5 ครั้งเช่นกัน
..........กรณีของผู้ใหญ่ มียาพาราเซตามอลในรูปแบบเม็ดให้เลือก 3 ขนาด คือ เม็ดละ 325, 500 และ 650 มิลลิกรัม และมีข้อแนะนำในการใช้ยาพาราเซตามอล 2 แบบ คือ
..........1. ใช้ครั้งละ 325-650 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลาที่มีอาการ
..........2. ใช้ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้งเวลาที่มีอาการ
..........ซึ่งทั้งสองวิธีการใช้นี้ ต้องได้รับยาไม่เกินวันละ 4 กรัม เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
..........เนื่องจากในผู้ใหญ่จะมีน้ำหนักแตกต่างกันมาก บางคนก็หนักเพียง 40 ถึง 50 กิโลกรัม แต่บางคนอาจจะหนักถึง 70, 80 หรือถึง 100 กิโลกรัม ซึ่งหนักเป็น 2 เท่าของคนที่หนัก 50 กิโลกรัม ในการเลือกใช้ขนาดยาพาราเซตามอลจึงควรใช้ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่น้ำหนักตัวน้อย ๆ ผอม ๆ ไม่เกิน 50 กิโลกรัม อาจใช้ยานี้ในขนาด 325 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลาที่มีอาการปวด ลดไข้ แต่ในผู้ที่มีน้ำหนักมาก ๆ เช่น 90-100 กิโลกรัม ก็อาจพิจารณาใช้ยาในขนาดครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง เวลาที่มีอาการปวด ลดไข้
..........อย่างไรก็ตาม หากเป็นไข้ และใช้ยานี้เป็นเวลา 3 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น หรือเด็กที่มีอาการปวดแล้วได้ใช้ยามา 5 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือในผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดแล้วใช้ยามา 10 วัน ยังไม่ดีขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ได้เลยนะครับ
..........สุดท้ายนี้ เพื่อประโยชน์ ความปลอดภัย และประหยัด ก่อนใช้ยาจึงควรอ่านฉลากให้เข้าใจและ/หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้แน่ใจก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือเภสัชกรที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาล หรือร้านขายยา เพื่อช่วยคัดกรอง ให้คำปรึกษา และแนะนำยาที่ดีมีคุณภาพ และเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา