ตะลุยคลังข้อสอบ หลักภาษาไทย ชุดที่ 3
1. ข้อใดแสดงว่าภาษาไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลง
1. "มอง" ภาษาเหนือใช้ "ผ่อ" ภาษาอีสานใช้ "เบิ่ง" และภาษาใต้ใช้ "แล"
2. "เรือน รัก" ในภาษากรุงเทพฯ ออกเสียงเป็น "เฮือน ฮัก" ในภาษาถิ่นเหนือ
3. "ส่งสินค้าออก" ปัจจุบันใช้ว่า "ส่งออกสินค้า"
4. "ดิฉัน" แต่เดิมทั้งผู้หญิงและผู้ชายใช้เป็นสรรพนามแทนตัว
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 แสดงให้เห็นว่า คำที่มีความหมายเหมือนกันจะใช้ศัพท์แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น
ข้อ 2 แสดงให้เห็นว่า คำที่มีความหมายเหมือนกันจะใช้ศัพท์แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น
ข้อ 3 แสดงให้เห็นว่า ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของภาษาต่างประเทศ
ข้อ 4 แสดงให้เห็นประวัติของการใช้คำ
**********************************
2. ข้อใดไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของภาษา
1. มีเสียงวรรณยุกต์
2. มีจำนวนเสียงจำกัด
3. แปรและเปลี่ยนได้
4. มีคำเกิดใหม่ ดำรงอยู่ และตายไป
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ข้อ 1 ทุกภาษามีเสียงสระและเสียงพยัญชนะ แต่เสียงวรรณยุกต์นั้น ไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของภาษา บางภาษามีเสียงวรรณยุกต์ บางภาษาไม่มีเสียงวรรณยุกต์
ข้อ 2 ภาษามีจำนวนเสียงจำกัด เราสามารถนำเสียงในภาษาที่มีจำนวนจำกัดนี้มาประกอบกันได้ต่าง ๆ ทำให้เกิดคำขึ้นเป็นจำนวนมาก
ข้อ 3 ภาษามีการแปรและเปลี่ยนได้ เช่น คำบางคำในปัจจุบันมีความหมายต่างจากในสมัยก่อน
ข้อ 4 ภาษามีคำที่เกิดขึ้นใหม่ บางคำที่ใช้ก็จะดำรงอยู่ และบางคำที่ไม่ใช้ก็จะตายไป
**********************************
3. ข้อใดเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องของข้อความที่ว่า "ห้ามไม่ให้เดินลัดสนาม"
1. เป็นข้อความที่ใช้กันมาแต่โบราณ
2. เป็นการใช้ปฏิเสธซ้อนปฏิเสธเพื่อย้ำความ
3. เป็นข้อความที่มีความหมายในทางบอกเล่า
4. เป็นข้อความที่ใช้เกณฑ์ทางคณิตศาสตร์มาอธิบาย
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ห้ามไม่ให้เดินลัดสนาม เป็นประโยคที่ใช้ปฏิเสธ ห้าม ซ้อนกับปฏิเสธ ไม่ให้ (ซึ่งจะมีความหมายว่า ให้ทำ) ในที่นี้ใช้เพื่อต้องการเน้นย้ำความว่า ไม่ให้ทำ น้ำเสียงจะหนักแน่นยิ่งขึ้น
**********************************
4. คำขวัญต่อไปนี้มีเสียงพยัญชนะสะกดกี่เสียง (ไม่นับเสียงซ้ำ)
"รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ช่วยกันต้านยาเสพติด"
1. 5 เสียง
2. 6 เสียง
3. 7 เสียง
4. 8 เสียง
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
"รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ช่วยกันต้านยาเสพติด" มีเสียงพยัญชนะสะกด 6 เสียง ดังนี้
พยางค์ที่มีเสียง /ก/ สะกด คือ รัก ลูก
พยางค์ที่มีเสียง /ง/ สะกด คือ หลวง ห่วง
พยางค์ที่มีเสียง /ย/ สะกด คือ ใน ช่วย
พยางค์ที่มีเสียง /น/ สะกด คือ หลาน กัน ด้าน
พยางค์ที่มีเสียง /ป/ สะกด คือ เสพ
พยางค์ที่มีเสียง /ด/ สะกด คือ ติด
**********************************
5. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์น้อยที่สุด (ไม่นับเสียงซ้ำ)
1. เติมชีวิตฟูมฟักเจ้านักหนา
2. สูงเกินคนคว้าดอกมาดมได้
3. บัดนี้เจ้าเติบใหญ่แตกก้านกิ่ง
4. นานเพียงไหนจะถนอมดอมกลิ่นเจ้า
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 มีเสียงวรรณยุกต์ 4 เสียง คือ สามัญ โท ตรี จัตวา
เติมชีวิตฟูมฟักเจ้านักหนา มีเสียงวรรณยุกต์เรียงตามลำดับ คือ สามัญ สามัญ ตรี สามัญ ตรี โท ตรี จัตวา
ข้อ 2 มีเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา
สูงเกินคนคว้าดอกมาดมได้ มีเสียงวรรณยุกต์เรียงตามลำดับ คือ จัตวา สามัญ สามัญ ตรี เอก สามัญ สามัญ โท
ข้อ 3 มีเสียงวรรณยุกต์ 3 เสียง คือ เอก โท ตรี
บัดนี้เจ้าเติบใหญ่แตกก้านกิ่ง มีเสียงวรรณยุกต์เรียงตามลำดับ คือ เอก ตรี โท เอก เอก เอก โท เอก
ข้อ 4 มีเสียงวรรณยุกต์ 4 เสียง คือ สามัญ เอก โท จัตวา
นานเพียงไหนจะถนอมดอมกลิ่นเจ้า มีเสียงวรรณยุกต์เรียงตามลำดับ คือ สามัญ สามัญ จัตวา เอก เอก จัตวา สามัญ เอก โท
**********************************
6. คำในข้อใดมีโครงสร้างพยางค์เหมือน "ชาติภูมิ"
1. นพมาส
2. เทศกาล
3. เมรุมาศ
4. ภาพยนตร์
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
"ชาตภูมิ" อ่านว่า ชาด-ติ-พูม มีโครงสร้างพยางค์ดังนี้
ชาด เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงยาว มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์โท
ติ เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์เอก
พูม เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงยาว มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์สามัญ
"เทศกาล" อ่านว่า เทด-สะ-กาน มีโครงสร้างพยางค์ดังนี้
เทด เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงยาว มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์โท
สะ เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์เอก
กาน เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงยาว มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์สามัญ
**********************************
7. คำขวัญในข้อใด ไม่มีคำสมาส
1. คุณค่าของมนุษย์ ดีที่สุดคือผลงาน
2. บ้านเมืองสะอาด ประชาชาติปลอดโรค
3. รักชาติ รักประชาธิปไตย ต้องออกไปเลือกตั้ง
4. น้ำประปามีค่าต่อชีวิต ประหยัดวันละนิด ช่วยเศรษฐกิจชาติได้
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
คำสมาสเป็นการนำคำภาษาบาลีสันสกฤตมาสมาสกัน การออกเสียงคำสมาสจะอ่านออกเสียงสระที่พยางค์ท้ายของคำหน้าต่อเนื่องกับคำหลัง แม้จะไม่ปรากฏรูปสระ
ข้อ 1. ไม่มีคำสมาส คุณค่า เป็นคำซ้อน ผลงาน เป็นคำประสม
ข้อ 2. มีคำสมาส คือ ประชาชาติ
ข้อ 3. มีคำสมาส คือ ประชาธิปไตย
ข้อ 4. มีคำสมาส คือ เศรษฐกิจ
**********************************
8. ข้อใดมีคำสมาสซึ่งมีสนธิทุกคำ
1. กรรมวาจาจารย์ นิติศาสตร์ บริจาริกา ทรัพยากร
2. ทิวากร ตันติภาษา เนาวรัตน์ ศาสตราจารย์
3. ไตรตายุค กรรตุวาจก ปัจจามิตร ศิลปศาสตร์
4. ศัสตราวุธ วิชาชีพ กรรมาธิการ โลกาภิวัฒน์
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ศัสตราวุธ = ศัสตรา + อาวุธ วิชาชีพ = วิชา + อาชีพ
กรรมาธิการ = กรรม + อธิการ โลกาภิวัฒน์ = โลก + อภิวัฒน์
**********************************
9. ข้อใดเป็นคำประสมทุกคำ
1. จานเด็ด จานร้อน จานแบน จานเปล
2. คิดถึง คิดอ่าน คิดค้น คิดดู
3. เตะจมูก เตะตา เตะก้น เตะฉาก
4. คำขวัญ คำคม คำตั้ง คำตาย
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 คำที่ไม่ใช่คำประสมคือ จานแบน
ข้อ 2 คำที่ไม่ใช่คำประสมคือ คิดดู
ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำประสม คือ เตะก้น
ข้อ 4 ทุกคำเป็นคำประสม
คำขวัญ หมายถึง ถ้อยคำที่แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจหรือเพื่อให้เป็นสิริมงคล
คำคม หมายถึง ถ้อยคำที่หลักแหลมชวนให้คิด
คำตั้ง หมายถึง คำที่เป็นหลักให้คำอื่นที่เติมเข้ามาต่อ
คำตาย หมายถึง คำสระเสียงสั้นที่ไม่มีตัวสะกดและคำที่มีตัวสะกดในมาตรา กก กด กบ
**********************************
10. ข้อใดมีคำซ้ำที่แสดงความหมายต่างจากข้ออื่น
1. ฉันไม่ชอบผ้าตาใหญ่ ๆ แบบนี้
2. ต้องตั้งใจทำการบ้านนะอย่าทำส่ง ๆ มา
3. ขอยืมเสื้อสวย ๆ ใส่สักตัวเถอะ
4. อยู่ดึก ๆ มาหลายวัน เลยรู้สึกเพลีย
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 ซ้ำแล้วมีความหมายอ่อนลง ใหญ่ หมายถึง โต
ข้อ 2 ซ้ำแล้วมีความหมายเปลี่ยนแปลงไป ทำส่ง ๆ หมายถึง ทำลวก ๆ ทำหยาบ ๆ
ข้อ 3 ซ้ำแล้วมีความหมายอ่อนลง สวย หมายถึง งาม
ข้อ 4 ซ้ำแล้วมีความหมายอ่อนลง ดึก หมายถึง เวลาค่ำมาก
**********************************
11. ข้อใดเป็นคำซ้อนทุกคำ
1. เปรียบเทียบ พักผ่อน ฟุ้งซ่าน ชิงชัย
2. ปิดบัง เพลี่ยงพล้ำ เฟื่องฟู ลบล้าง
3. ลอดช่อง พิศดู จนถึง สารบรรณ
4. เปิดเผย ฟูมฟัก กรอบเค็ม อุ้มชู
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
คำซ้อน เป็นคำที่เกิดจากการนำคำที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน หรือ ตรงข้ามกันมาประกอบกัน
ข้อ 1 คำซ้อน ได้แก่ เปรียบเทียบ พักผ่อน ฟุ้งซ่าน
ข้อ 2 เป็นคำซ้อนทุกคำ
ข้อ 3 คำซ้อน ได้แก่ พิศดู
ข้อ 4 คำซ้อน ได้แก่ เปิดเผย ฟูมฟัก อุ้มชู
**********************************
12. ข้อใดมีคำที่ไม่ได้มาจากภาษาต่างประเทศ
1. พิธี มุกดา สบู่ ถนน
2. ปิ่นโต บำรุง โกดัง บุหงา
3. ประปา สบาย ปั้นหยา กุหลาบ
4. รสชาติ เวที สำเนียง ประสบ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 ทุกคำมาจากภาษาต่างประเทศ ได้แก่ พิธี มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ถนน มาจากภาษาเขมร
ข้อ 2 ทุกคำมาจากภาษาต่างประเทศ ได้แก่ บุหงา มาจากภาษาชวา ปิ่นโต มาจากภาษาโปรตุเกส
ข้อ 3 ทุกคำมาจากภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ประปา มาจากภาษาสันสกฤต ปั้นหยา มาจากภาษาเปอร์เซีย
ข้อ 4 คำที่ไม่ได้มาจากภาษาต่างประเทศ คือ สำเนียง เป็นคำไทยแท้ แผลงมาจากคำว่า "เสียง"
**********************************
13. คำทุกคำในข้อใดสามารถใช้ความหมายมากกว่าหนึ่งความหมาย
1. พัดลม แก้วตา มือขวา
2. เรือจ้าง แม่พิมพ์ เพื่อนบ้าน
3. เก้าอี้ ผ้าขาว งูพิษ
4. ตุ่มสามโคก หนังหน้าไฟ โรงเลี้ยงเด็ก
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 คำที่มีความหมายอย่างเดียวคือ พัดลม
แก้วตา อาจหมายถึง ส่วนสำคัญของตา โดยปริยายใช้เรียกสิ่งที่รักยิ่ง
มือขวา อาจหมายถึง ที่ไว้วางใจได้ เก่งกล้าสามารถ หรือมือข้างขวา
ข้อ 2 คำที่มีความหมายอย่างเดียวคือ เพื่อนบ้าน
เรือจ้าง อาจหมายถึง เรือรับจ้าง หรือครู
แม่พิมพ์ อาจหมายถึง สิ่งที่เป็นต้นแบบ โดยปริยายหมายถึงคนที่เป็นแบบอย่าง
ข้อ 3 ทุกคำมีมากกว่าหนึ่งความหมาย
เก้าอี้ อาจหมายถึง ที่สำหรับนั่ง หรือตำแหน่ง
ผ้าขาว อาจหมายถึง ผ้าสีขาว หรือผู้บริสุทธิ์
งูพิษ อาจหมายถึง งูที่มีพิษ หรืออาจใช้เปรียบเทียบผู้ที่ร้ายเหมือนงูพิษ
ข้อ 4 คำที่มีความหมายอย่างเดียวคือ โรงเลี้ยงเด็ก
ตุ่มสามโคก อาจหมายถึง ภาชนะใส่น้ำ หรือใช้เรียกคนอ้วน
หนังหน้าไฟ อาจหมายความตามตัวอักษร หรือใช้เป็นสำนวน หมายถึง ผู้รับเดือดร้อนก่อนผู้อื่น
**********************************
ใช้ข้อความต่อไปนี้ตอบคำถามข้อ 14-15
ก. ทุกวันนี้ชาวต่างประเทศชื่นชมกับอาหารไทย ยิ่งมีอุปกรณ์ตกแต่งร้านอาหารเป็นศิลปะไทย ๆ ก็ยิ่งจะเป็นที่นิยมมากขึ้น
ข. คนไทยควรเชิญชวนให้ชาวต่างประเทศหันมาสนใจรับประทานอาหารไทย ซึ่งมีคุณค่าต่อร่างกายไม่แพ้อาหารของชาติอื่น ๆ
ค. ร้านอาหารของคนไทยในต่างประเทศดำเนินการอยู่ได้เพราะชาวต่างประเทศนิยมอาหารที่มีรสชาติแบบไทย ๆ
ง. ตลาดต่างประเทศเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเป็นตลาดที่ใหญ่โตมาก แต่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง
14. ข้อใดใช้คำบุพบทไม่ถูกต้อง
1. ข้อ ก
2. ข้อ ข
3. ข้อ ค
4. ข้อ ง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ข้อความนี้ควรใช้ว่า "ชื่นชมอาหารไทย" ไม่จำเป็นต้องใช้คำบุพบท เพราะ "ชื่นชม" เป็นคำกริยาอยู่แล้ว
**********************************
15. ข้อใดใช้คำสันธานไม่ถูกต้อง
1. ข้อ ก
2. ข้อ ข
3. ข้อ ค
4. ข้อ ง
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อความนี้เป็นประโยคที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน จึงควรใช้คำเชื่อม "และ" เป็นดังนี้ "ตลาดต่างประเทศเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเป็นตลาดที่ใหญ่โตมาก และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง"
**********************************
16. ข้อความต่อไปนี้มีคำประสมจำนวนเท่าใด (ไม่นับคำซ้ำ)
"ปัจจุบันสินค้าต่าง ๆ ที่ขายได้ ไม่ได้ขายด้วยคุณภาพอย่างเดียวแล้ว แต่ขายด้วยภาพลักษณ์ที่ดีด้วย นั่นหมายความว่าห้างนั้นบริษัทนั้นมีชื่อเสียงดี มีสินค้าดี มีภูมิหลังดี และสินค้านั้นเป็นที่น่าเชื่อถือในวงการค้า"
1. 4 คำ
2. 5 คำ
3. 6 คำ
4. 7 คำ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
คำประสม เป็นคำที่เกิดจากการนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป มาประสมกันเกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ แต่อาจมีเค้าความหมายเดิม
ข้อความนี้มีคำประสม 6 คำ คือ สินค้า ความหมาย ชื่อเสียง ภูมิหลัง น่าเชื่อถือ วงการค้า
**********************************
17. ข้อใดเป็นคำสมาสทุกคำ
1. ชาติพันธุ์ ชาติภูมิ ชาตินิยม ชาติรส
2. ชีววิทยา ชีวเคมี ชีวประวัติ ชีวจิต
3. ธรรมจริยา ธรรมกถา ธรรมขันธ์ ธรรมดา
4. ภูมิบาล ภูมิประเทศ ภูมิลำเนา ภูมิภาค
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ข้อ 1 ทุกคำเป็นคำสมาส
ข้อ 2 คำที่ไม่ใช่คำสมาส คือ ชีวเคมี
ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำสมาส คือ ธรรมดา
ข้อ 4 คำที่ไม่ใช่คำสมาส คือ ภูมิลำเนา
**********************************
18. ข้อใดไม่มีคำซ้อน
1. หน้าตาของสลวยดูสดใสขึ้นเมื่อทราบข่าวคนรักของเธอ
2. สาลินไม่รู้จักมักคุ้นกับอัศนีย์ แต่เขาก็มาชวนเธอทำงาน
3. รจนาตกอยู่ในวังวนของความทุกข์ที่ดูจะหาทางออกไม่ได้
4. กนกเขาไม่เดือดร้อนที่คนเข้าใจผิดเรื่องการทำงานของเธอ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 มีคำซ้อน คือ สดใส
ข้อ 2 มีคำซ้อน คือ รู้จักมักคุ้น
ข้อ 3 ไม่มีคำซ้อน "วังวน" เป็นคำประสม
ข้อ 4 มีคำซ้อน คือ เดือดร้อน
**********************************
19. คำซ้ำในข้อใดมีความหมายต่างจากข้ออื่น
1. เรากำลังฟังเพลิน เธอก็หยุดเล่าเสียเฉย ๆ
2. คนช่วยงานเยอะแล้วเรานั่งเฉย ๆ ดีกว่า
3. นักเรียนมักกลัวครูที่ทำหน้าเฉย ๆ
4. ไหนเธอว่าเขาเป็นคนเฉย ๆ ไง
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
"เฉย ๆ" ในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 หมายถึง นิ่งอยู่ไม่แสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา
"เฉย ๆ" ในข้อ 1 หมายถึง โดยไม่ได้บอกกล่าว
**********************************
20. ข้อใดไม่มีคำพ้อง
1. น้องชอบดอกไม้สีเหลืองมากกว่าสีอื่น ๆ
2. วันนี้ฉันหิวมากเลยกินข้าวหลามเสียจนท้องหลาม
3. ผมชักรู้สึกว่าการกระทำของเขาเป็นการชักศึกเข้าบ้าน
4. ช่างเถอะ ไม่มีช่างคนไหนรับซ่อมบ้านให้ ผมซ่อมเองก็ได้
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ข้อ 1 ไม่มีคำพ้อง "สี" ทั้ง 2 คำ หมายถึง ลักษณะของแสงสว่าง ปรากฏแก่ตาให้เห็นเป็น สีขาว ดำ แดง เขียว เป็นต้น
ข้อ 2 มีคำพ้องคือ "หลาม" หมายถึง เอาของใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุก และหมายถึง ล้นแผ่เลยออกมา
ข้อ 3 มีคำพ้องคือ "ชัก" หมายถึง ค่อนข้าง และ หมายถึง นำ (ชักศึกเข้าบ้าน หมายถึงนำศัตรูเข้าบ้าน)
ข้อ 4 มีคำพ้องคือ "ช่าง" หมายถึง ปล่อย, วาง และ หมายถึง ผู้ชำนาญในการฝีมืออย่างใดอย่างหนึ่ง
**********************************
21. คำซ้อนในข้อใดประกอบด้วยคำไทยกับคำเขมรทุกคำ
1. ปรับปรุง แลกเปลี่ยน ล้างผลาญ
2. คุ้มกัน ละเอียดลออ ด่าทอ
3. กล้าหาญ บั่นทอน เพื่อนเกลอ
4. โง่เขลา เงียบสงัด ฝุ่นละออง
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
คำไทย คือ โง่ เงียบ ฝุ่น
คำเขมร คือ เขลา สงัด ละออง
**********************************
ใช้ข้อความต่อไปนี้ตอบคำถามข้อ 22-23
(1) สิงคโปร์เป็นเกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในชัยภูมิอันเหมาะสม จึงได้เป็นศูนย์กลางของสายการบินนานาชาติ
(2) เมื่อสิงคโปร์เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมจนมีผู้อุปถัมภ์มากมาย โดยเฉพาะอเมริกากับอังกฤษเปิดรับสินค้า จากสิงคโปร์อย่างเต็มที่
(3) ประเทศไทยและประเทศกลุ่มอาเซียนอื่น ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้อุปถัมภ์สิงคโปร์แต่ก็เหมือนเป็น
(4) เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับสินค้าจากสิงคโปร์และเป็นผู้ส่งแรงงานราคาถูกให้กับสิงคโปร์ด้วย
22. ข้อความตอนใดใช้บุพบทผิด
1. ตอนที่ (1)
2. ตอนที่ (2)
3. ตอนที่ (3)
4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
"กับ" ควรใช้ "แก่"
**********************************
23. ข้อความตอนใดใช้สันธานผิด
1. ตอนที่ (1)
2. ตอนที่ (2)
3. ตอนที่ (3)
4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
"กับ" ควรใช้ "และ"
**********************************
24. ข้อใดใช้สันธานบอกความสัมพันธ์ของประโยคแตกต่างจากข้ออื่น
1. ฉันไปรอเธออยู่ตั้งนานก็ไม่เห็นมา เลยกลับบ้าน
2. สัปดาห์นี้ไม่ว่างต้องไปเมืองเพชร จากนั้นต้องไปภูเก็ตอีก
3. เขาต้องดูแลพ่อที่ป่วยหนัก จึงต้องลาออกจากงาน
4. แม่ทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก จนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพของตน
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 3 และ ข้อ 4 ใช้สันธานบอกความสัมพันธ์ของประโยคในทางเหตุผล
ข้อ 2 ใช้สันธานบอกความสัมพันธ์ของประโยคในทางเวลา เหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน
**********************************
25. ข้อใดมีคำตายน้อยที่สุด
1. ทั้งไพร่นายรายเรียงกันเรียดไป ตัดใบไม้มุงเหมือนหลังคาบัง
2. พระเปรมปรีดิ์ดีใจอยู่ในพักตร์ มิให้ประจักษ์คนทั้งหลาย
3. คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
4. เสพอาหารหวานคาวเมื่อคราวยาก ล้วนของฝากเฟื่องฟูค่อยชูชื่น
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
คำตาย ได้แก่ พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา และพยางค์ที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ
ข้อ 1 มีคำตาย 2 คำ คือ เรียด ตัด
ข้อ 2 มีคำตาย 4 คำ คือ พระ พักตร์ มิ ประจักษ์
ข้อ 3 มีคำตาย 3 คำ คือ ผูก ถูก ทุก
ข้อ 4 มีคำตาย 3 คำ คือ เสพ ยาก ฝาก
**********************************
26. คำในข้อใดมีโครงสร้างพยางค์เหมือนคำว่า "พรรณนา"
1. ชนนี
2. ปรัชญา
3. ทรรศนา
4. ดุษฎี
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
พรรณนา อ่านว่า พัน-นะ-นา ชนนี อ่านว่า ชน-นะ-นี
ทั้งสองคำมีโครงสร้างพยางค์ดังนี้
พัน / ชน เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์ สามัญ
นะ เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์สามัญ (เสียง นะ ในคำ พรรณนา และชนนี ไม่ได้ออกเสียง อะ เต็มเสียง)
นา / นี เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงยาว ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด เสียงวรรณยุกต์สามัญ
**********************************
27. ข้อใดมีคำซ้อน
1. มาอยู่ในป่าเปลี่ยวเที่ยวซังตาย จะหมายพิงอิงใครก็ไม่มี
2. อนิจจาทุกข์ยากลำบากตัว เกลือกกลั้วปถพีธุลีลม
3. สุริยนเย็นสนธยาค่ำ ประทับลำเรือเรียงเคียงขนาน
4. จนไก่เถื่อนเตือนขันสนั่นแจ้ว ดุเหว่าแว่วหวาดหมายว่าสายสมร
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
คำซ้อนเป็นคำที่เกิดจากการนำคำที่มีความหมายเหมือนกันหรือมีความหมายใกล้เคียงกันหรือมีความหมายตรงข้ามกันมาประกอบกัน
ข้อ 2 มีคำซ้อน คือ ทุกข์ยาก หมายความว่า ความยากลำบาก
เกลือกกลั้ว หมายความว่า คบหาสมาคม คลุกคลี
**********************************
28. ข้อใดมีคำที่เกิดจากการสร้างคำต่างจากข้ออื่น
1. หลานของฉันชอบอ่านหนังสือ "พลอยแกมเพชร"
2. เพื่อนที่ธนาคารหลายคนชอบอ่านนิตยสาร "กุลสตรี"
3. ชาวไทยในต่างประเทศชอบอ่าน "สกุลไทย" กันมาก
4. น้องชอบอ่าน "ขวัญเรือน" เพราะมีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
คำประสมเป็นคำที่เกิดจากการนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำ ขึ้นไปมาประสมกัน เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ แต่อาจมีเค้าความหมายเดิม
คำสมาสเป็นคำที่เกิดจากการนำคำภาษาบาลีสันสกฤตมาสมาสกัน การออกเสียงคำสมาสจะอ่านออกเสียงที่พยางค์ท้ายของคำหน้าต่อเนื่องกับคำหลังแม้จะไม่ปรากฏรูปสระ
ข้อ 1 มีคำที่เกิดจากการสร้างคำด้วยวิธีประสม ได้แก่ หนังสือ
ข้อ 2 มีคำที่เกิดจากการสร้างคำด้วยวิธีสมาส ได้แก่ ธนาคาร นิตยสาร กุลสตรี
ข้อ 3 มีคำที่เกิดจากการสร้างคำด้วยวิธีประสม ได้แก่ ชาวไทย สกุลไทย
ข้อ 4 มีคำที่เกิดจากการสร้างคำด้วยวิธีประสม ได้แก่ ขวัญเรือน น่าสนใจ
**********************************
29. ข้อใดมีคำที่ไม่ใช่คำพ้องความหมาย
1. นาค หัตถี ไอยรา
2. กบิล วานร กระบี่
3. สินธพ อัสดร วลาหก
4. สกุณา ปักษี ทวิช
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 นาค หัตถี ไอยรา แปลว่า ช้าง
ข้อ 2 กบิล วานร กระบี่ แปลว่า ลิง
ข้อ 3 สินธพ อัสดร แปลว่า ม้า วลาหก แปลว่า เมฆ
ข้อ 4 สกุณา ปักษี ทวิช แปลว่า นก
**********************************
30. ข้อใดมีคำที่ไม่ใช่คำประสม
1. ขั้วโลก ข้าวหลาม เข้ารอบ
2. จนมุม จวนตัว ใจเพชร
3. ชูชีพ เชิดหุ่น เชิงกราน
4. ดินดาน เดิมพัน เดินสาย
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำประสม คือ เชิงกราน
เชิงกราน หมายความว่า เตาไฟปั้นด้วยดินยกตั้งได้
**********************************
31. ข้อใดมีการใช้คำสันธาน
1. อันว่าความกรุณาปรานีย่อมไม่มีใครบังคับได้ ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจเท่านั้น
2. ภิกษุในพระพุทธศาสนาครองตนอยู่อย่างสมถะตามพุทธบัญญัติ ไม่สะสมข้าวของเครื่องใช้เกินจำเป็น
3. ผู้บริหารได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบบริหารงานภายในเพื่อความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร
4. ในรายวิชาศึกษาอิสระนั้น ผู้เรียนอาจเลือกศึกษาหัวข้อเฉพาะตามความสนใจของตนโดยมีอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 "อันว่า" เป็นคำนำหน้านามที่เป็นประธานหรือใช้ขึ้นต้นข้อความต่าง ๆ
ข้อ 2 "ใน" เป็นคำบุพบท
ข้อ 3 "เพื่อ" เป็นคำบุพบท "และ" ในที่นี้ไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมเนื้อความ
ข้อ 4 "โดย" เป็นคำสันธาน ใช้เชื่อมเนื้อความ
**********************************
32. คำที่อยู่ในวงเล็บในข้อใดเป็นคำสันธาน
1. โรงพยาบาลนี้ตรวจรักษาโรค (ด้วย) เครื่องมือทันสมัย
2. พอได้ยินเสียงร้องว่าช่วย (ด้วย) ชาวบ้านก็รีบวิ่งไปทันที
3. ใคร ๆ ก็อยากให้เธอไปเที่ยว (ด้วย) เพราะเป็นคนคุยสนุก
4. ทางราชการจะปรับปรุงวิธีการเก็บภาษี (ด้วย) ปรากฎว่ามีผู้เลี่ยงภาษีกันมาก
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 "ด้วย" เป็นคำบุพบท นำหน้านามเพื่อให้รู้ว่านามนั้นเป็นสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องกระทำ
ข้อ 2 "ด้วย" เป็นคำวิเศษณ์ แสดงความขอร้อง
ข้อ 3 "ด้วย" เป็นคำวิเศษณ์ แสดงกริยาร่วมกันหรือในทำนองเดียวกัน
ข้อ 4 "ด้วย" เป็นคำสันธาน แปลว่า เพราะ เหตุ
**********************************
33. ข้อใดมีคำที่ไม่ใช้ในความหมายเชิงอุปมา
1. ขัดตา ติดตา สบตา
2. หัวใจ คู่ใจ ตัดใจ
3. นางสิงห์ นางฟ้า นางมาร
4. หน้ามืด หน้าม้า หน้าแตก
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
มีคำที่ไม่ใช้ในความหมายเชิงอุปมา คือ ขัดตา สบตา
ขัดตา หมายความว่า ดูไม่ถูกตา ดูไม่เหมาะตา
ติดตา หมายความว่า ยังรู้สึกนึกเห็นภาพอยู่มิรู้เลือน
สบตา หมายความว่า ตาพบกัน
**********************************
34. ข้อใดมีโครงสร้างพยางค์เหมือนกับคำว่า "บรรพบุรุษ"
1. องค์อวตาร
2. อินทรชิต
3. กัลปพฤกษ์
4. วรรณสุคนธ์
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
อินทรชิต (อิน-ทะ-ระ-ชิด) เป็นคำที่มีโครงสร้างเหมือนกับคำ บรรพบุรุษ (บัน-พะ-บุ-หรุด) ดังนี้
อิน, บัน ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น มีเสียงพยัญชนะสะกด
ทะ, พะ ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด
ระ, บุ ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น ไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด
ชิด, หรุด ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว สระเสียงสั้น มีเสียงพยัญชนะ สะกด
**********************************
35. ข้อใดมีคำภาษาต่างประเทศ
1. จากจวนชวนกันลงบันได
2. ผีซ้ำด้ำพลอยให้ผวา
3. ท่านผู้ชายผู้หญิงก็ตามมา
4. แวะหาม้าสีหมอกบอกคดี
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
"แวะหาม้าสีหมอกบอกคดี" มีคำภาษาต่างประเทศ คือ คดี (ภาษาบาลี)
**********************************
36. คำซ้ำในข้อใดมีความหมายต่างจากข้ออื่น
1. น้อยมีเสื้อผ้าสวยเป็นตู้ ๆ
2. เมื่อตอนเด็ก ๆ ฉันไม่ชอบว่ายน้ำ
3. ฉันเห็นทหารเดินมาเป็นแถว ๆ
4. เขาไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ในวันอาทิตย์
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
คำซ้ำเป็นคำที่เกิดจากการนำคำเดิมมาออกเสียงซ้ำให้ต่อเนื่องกัน โดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก
ข้อ 1, ข้อ 3 และข้อ 4 ใช้คำซ้ำที่แสดงความเป็นพหูพจน์
ข้อ 2 ใช้คำซ้ำ "เด็ก ๆ" หมายถึง ยังเป็นเด็กมาก คำซ้ำในที่นี้ไม่ได้แสดงความเป็นพหูพจน์
**********************************
37. ข้อใดไม่มีคำซ้อน
1. ธรรมดาเกิดมาเป็นสตรี ชั่วดีคงได้คู่มาสู่สม
2. ตาปะขาวเฒ่าแก่แซ่กันมา พร้อมนั่งปรึกษาที่วัดนั้น
3. ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา จะหลบลี้หนีหน้าไปทำไม
4. แสนรโหโอฬารน่าสบาย หญิงและชายต่างกลุ้มประชุมกัน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
คำซ้อนเป็นคำที่เกิดจากการนำคำที่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันหรือตรงข้ามกันมาประกอบกัน
ข้อ 1 มีคำซ้อน คือ ชั่วดี
ข้อ 2 มีคำซ้อน คือ เฒ่าแก่
ข้อ 3 มีคำซ้อน คือ หลบลี้
ข้อ 4 ไม่มีคำซ้อน รโห แปลว่า ลับ โอฬาร์ แปลว่า ใหญ่โต
**********************************
38. ข้อใดมีคำที่เกิดจากการสร้างคำมากชนิดที่สุด
1. ผู้สูงอายุควรรู้จักดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
2. ใบหน้ายิ้มแย้มของเธอทำให้ความโกรธของเราเบาบางลง
3. ถ้าอยากเป็นคนน่ารักอย่างไทย จิตใจควรงามและเป็นธรรม
4. หัวใจของศาสนาพุทธคือละชั่ว ทำดี และทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
คำประสม คือ คำที่เกิดจากการนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ แต่อาจมีเค้าความหมายเดิม
คำสมาส เป็นการนำคำภาษาบาลีสันสกฤตมาสมาสกัน การออกเสียงคำสมาสจะอ่านออกเสียงสระที่ท้ายพยางค์ของคำหน้าต่อเนื่องกับคำหลัง แม้จะไม่ปรากฏรูปสระ
ข้อ 1 มีคำที่เกิดจากการสร้างคำ 3 วิธี คือ
คำที่เกิดจากการวิธีประสมคำ ได้แก่ ผู้สูงอายุ
คำที่เกิดจากการวิธีซ้อนคำ ได้แก่ ดูแล
คำที่เกิดจากการวิธีสมาส ได้แก่ สุขภาพ
**********************************
39. ข้อใดมีคำที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการที่ต่างจากข้ออื่น
1. ยิ้มเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพและชวนให้เกิดความสบายใจ
2. ยิ้มเป็นเสน่ห์ทำให้ผู้พบเห็นอยากคบหาสมาคมด้วย
3. ผู้ที่มีหน้าตาอิ่มเอิบยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นคนมีเสน่ห์
4. ผู้ที่มีกิริยามารยาทงามและวาจาไพเราะจะมีคนรักมากมาย
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ข้อ 1 มีคำประสม ได้แก่ สบายใจ มีคำสมาส ได้แก่ มิตรภาพ
ข้อ 2 มีคำซ้อน ได้แก่ คบหาสมาคม
ข้อ 3 มีคำซ้อน ได้แก่ หน้าตา อิ่มเอิบ ยิ้มแย้ม แจ่มใส
ข้อ 4 มีคำซ้อน ได้แก่ กิริยามารยาท มากมาย
**********************************
40. ข้อใดเป็นคำสมาสทุกคำ
1. พลความ นาฏศิลป์ สรรพสัตว์
2. ชลบุรี ธนบัตร พิธีกร
3. ราชดำเนิน สหกรณ์ ชีวประวัติ
4. ยุทธวิธี คริสตจักร เอกภาพ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1. "พลความ" ไม่ใช่คำสมาส
ข้อ 2. "ชลบุรี ธนบัตร พิธีกร" เป็นคำสมาสทุกคำ
ข้อ 3. "ราชดำเนิน" ไม่ใช่คำสมาส
ข้อ 4. "คริสตจักร" ไม่ใช่คำสมาส
**********************************
41. ข้อใดใช้ในความหมายตรงและความหมายเปรียบเทียบได้ทุกคำ
1. ไม้นวม ไม้แข็ง ไม้อ่อน
2. ไม้บรรทัด ไม้หมอน ไม้เรียว
3. ไม้ดัด ไม้คมแฝก ไม้งาม
4. ไม้เด็ด ไม้ตาย ไม้กระดาน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ไม้นวม ความหมายตรง ไม้ตีระนาดที่พันด้วยนวมทำให้มีเสียงนุ่ม
ความหมายเปรียบเทียบ วิธีการนิ่มนวล ความอ่อนโยน
ไม้แข็ง ความหมายตรง ไม้ตีระนาดที่พันด้วยนวม ทำให้มีเสียงกร้าว
ความหมายเปรียบเทียบ วิธีการเฉียบขาด อำนาจเด็ดขาด
ไม้อ่อน ความหมายตรง ต้นไม้ที่ยังมีอายุน้อย
ความหมายเปรียบเทียบ เด็ก ผู้ที่มีอายุน้อย
**********************************
42. ข้อความต่อไปนี้มีคำสรรพนามปรากฏอยู่กี่คำ
"คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องอาหารการกินของครอบครัว โดยเฉพาะแม่บ้านผู้ทำครัวเองต้องคิดทุกวันว่า วันนี้ใครจะกินอะไร กินสามมื้อ คิดทั้งสามมื้อติดต่อกันเป็นลูกโซ่เพราะต้องเตรียมล่วงหน้า เช่น กินโจ๊กเป็นอาหารเช้า ก็บดข้าวสารแล้วต้มเอาไว้ตั้งแต่เย็น ตอนเช้าก็ทำได้ทันทีเหมือนที่เขาปรุงขาย"
1. 4 คำ
2. 5 คำ
3. 6 คำ
4. 7 คำ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนาม ทำให้ไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำ
ข้อความนี้มีคำสรรพนาม 6 คำ คือ (ที่)มีหน้าที่ (ผู้)ทำครัว วันนี้(ใคร)จะกิน(อะไร) (ที่เขา)ปรุงขาย
**********************************
43. คำเชื่อมในข้อใดเมื่อเติมลงในช่องว่างต่อไปนี้แล้วได้ความถุกต้องเหมาะสม
"คนโบราณเชื่อกันว่าอำพันมีพลังอำนาจลึกลับ ............ การรักษาความเจ็บป่วย ถือกันว่าเป็นของมีค่าที่หายากอย่างหนึ่ง อำพันส่วนใหญ่เป็นสีเหลืองน้ำผึ้ง ............ ที่เป็นสีแดงแก่ สีขาวน้ำนม สีเขียวหรือสีน้ำเงินก็มี ถิ่นที่พบคือแถบทะเลบอลติก สาธารณรัฐโดมินิกัน .............. เม็กซิโกตอนใต้"
1. ต่อ นอกจากนี้ ตลอดจน
2. สำหรับ ส่วน อีกทั้ง
3. เพื่อ หรือ กับ
4. ใน แต่ และ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ควรใช้ ใน แต่ และ เติมลงในช่องว่าง จึงจะได้ความถูกต้องเหมาะสม
"คนโบราณเชื่อกันว่าอำพันมีพลังอำนาจลึกลับ ....(ใน)..... การรักษาความเจ็บป่วย ถือกันว่าเป็นของมีค่าที่หายากอย่างหนึ่ง อำพันส่วนใหญ่เป็นสีเหลืองน้ำผึ้ง ....(แต่)..... ที่เป็นสีแดงแก่ สีขาวน้ำนม สีเขียวหรือสีน้ำเงินก็มี ถิ่นที่พบคือแถบทะเลบอลติก สาธารณรัฐโดมินิกัน .....(และ)..... เม็กซิโกตอนใต้"
**********************************
44. ข้อใดใช้คำว่า "กับ" ไม่ถูกต้อง
1. เรื่องการใช้สารเคมีนี้ นอกจากจะทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเสียหายแล้วยังกระทบกับภาวะการส่งออกพืชผลของประเทศอย่างรุนแรง
2. แนวทางเดียวที่สามารถแก้ไขได้ คือต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้สารเคมีให้มีความถูกต้องและเหมาะสมกับสินค้า
3. เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง เพราะเกษตรกรไม่สามารถทำให้พืชผักผลไม้ในบ้านเราปลอดจากสารพิษได้
4. มาตรการสำคัญคือต้องตรวจสอบปริมาณสารเคมี และรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 3 ใช้ "กับ" ได้ถูกต้อง
ข้อ 4 "กับ" ควรใช้ "แก่"
**********************************
45. ข้อใดใช้คำว่า "ถึง" แตกต่างจากข้ออื่น
1. ยังมีแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกเป็นแพทย์ชนบท ถึงจะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ทำให้คนในชนบทมีที่พึ่ง
2. โรงพยาบาลเอกชนให้ค่าตอบแทนสูง ดังนั้นการที่แพทย์ขอย้ายไปโรงพยาบาลเอกชนถึงไม่ใช่เรื่องแปลก
3. หมอพยายามเข้าไปแนะนำชาวบ้านถึงพวกเขาจะยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการรักษากับหมอผีประจำเผ่าอยู่ก็ตาม
4. หมอบอกชาวบ้านว่า ที่คนเราไม่ค่อยสบาย ถึงสาเหตุจะมาจากเชื้อโรคเป็นหลักแต่พฤติกรรมการกินก็เป็นสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 3 และ ข้อ 4 "ถึง" มีความหมายเหมือน "แม้"
ข้อ 2 "ถึง" มีความหมายเหมือน "จึง"
**********************************
46. ข้อความนี้ส่วนใดไม่มีคำบุพบท
(1) โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทโรคหนึ่งที่พบเพิ่มขึ้นตามอายุประชากร / (2) ผู้ป่วยจะแสดงลักษณะท่ายืนที่ผิดปรกติ มือสั่น สีหน้าเฉยเมย ไม่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึก / (3) โรคนี้มีผลต่อการเคลื่อนไหวและการทรงตัวของผู้ป่วยจนอาจหกล้มได้ง่าย ๆ / (4) ปัจจุบันนี้รักษาด้วยยากินแต่ไม่หายขาด
1. ส่วนที่ (1)
2. ส่วนที่ (2)
3. ส่วนที่ (3)
4. ส่วนที่ (4)
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 มีคำบุพบทคือ ตาม
ข้อ 2 ไม่มีคำบุพบท "หรือ" เป็นคำสันธาน
ข้อ 3 มีคำบุพบทคือ ต่อ ของ
ข้อ 4 มีคำบุพบทคือ ด้วย
**********************************
47. ข้อใดเป็นประโยคต่างชนิดจากข้ออื่น
1. ต้นข้าวใหม่เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของต้นชมนาด
2. ปัจจุบันการเรียนแต่ในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแทบจะหาไม่ได้ในสังคมไทย
3. ความรู้เรื่องภาษาในด้านต่าง ๆ เป็นกุญแจไขความรู้เรื่องวัฒนธรรมในภาษาใดภาษาหนึ่ง
4. การหนีปัญหาครอบครัวด้วยการเสพยาเสพติดกำลังบ่อนทำลายเยาวชนไทยอยู่ในขณะนี้
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 4 เป็นประโยคความเดียว
ข้อ 3 เป็นประโยคความซ้อนที่ละคำเชื่อม
ประโยคหลักคือ "ความรู้เรื่องภาษาในด้านต่าง ๆ เป็นกุญแจ"
ประโยคย่อยคือ "กุญแจไขความรู้เรื่องวัฒนธรรมในภาษาใดภาษาหนึ่ง"
**********************************
48. ข้อความตอนใดเป็นประโยคต่างชนิดจากตอนอื่น
(1) กฎหมายตราสามดวงเป็นเอกสารที่มีคุณค่ายิ่งในไทยคดีศึกษา / (2) กฎหมายดังกล่าวสะท้อนแบบแผนประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนไทย-ลาวแต่โบราณ / (3) รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาแต่ครั้งโบราณ / (4) นักวิชาการที่ใช้กฎหมายโบราณเพื่อศึกษาเกี่ยวกับสังคมไทยยังมีไม่มากนัก
1. ตอนที่ (1)
2. ตอนที่ (2)
3. ตอนที่ (3)
4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ตอนที่ (1), ตอนที่ (3) และตอนที่ (4) เป็นประโยคความซ้อน
ตอนที่ (2) เป็นประโยคความเดียว
**********************************
49. ข้อใดไม่เป็นประโยคกรรม
1. เรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติในลิลิตพระลอนั้นปัจจุบันก็ยังเชื่อกันอยู่
2. แบบเรียนภาษาไทยชุดมูลบทบรรพกิจนักเรียนสมัยก่อนต้องเรียนกันเป็นปี ๆ
3. ชื่อทิศที่เป็นชื่อบาลีสันสกฤตอย่างเช่น ทิศบูรพา ทิศทักษิณ ไทยได้ยืมมาใช้นานแล้ว
4. กฎหมายสมัยอยุธยาส่วนใหญ่มีที่มาจากการบันทึกคำฟ้องในคดีความต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐาน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ประโยคกรรมเป็นประโยคที่มีผู้ถูกกระทำ (กรรม) ขึ้นต้นประโยค
ข้อ 1. เป็นประโยคกรรม เรียงผู้ถูกกระทำไว้ต้นประโยคคือ "เรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติในลิลิตพระลอนั้น"
ข้อ 2. เป็นประโยคกรรม เรียงผู้ถูกกระทำไว้ต้นประโยคคือ "แบบเรียนภาษาไทยชุดมูลบทบรรพกิจ"
ข้อ 3. เป็นประโยคกรรม เรียงผู้ถูกกระทำไว้ต้นประโยคคือ "ชื่อทิศที่เป็นชื่อบาลีสันสกฤตอย่างเช่น ทิศบูรพา ทิศทักษิณ"
ข้อ 4. ไม่ใช่ประโยคกรรม ผู้กระทำทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคคือ "กฎหมายอยุธยาส่วนใหญ่"
**********************************
50. ข้อใดเป็นประโยคกรรม
1. ผ้าปูโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าลายสวยผืนนี้เป็นงานปักครอสติช
2. กระทงใบนี้คุณยายเย็บอย่างสุดฝีมือเพื่อส่งเข้าประกวดในงานลอยกระทง
3. แหนมเนือง เปาะเปี๊ยะสดและขนมเบื้องญวณ เป็นสูตรสำเร็จในการสั่งอาหารเวียดนาม
4. อาจารย์สมศรีมีฝีมือในการสลักผักผลไม้เป็นรูปดอกไม้ต่าง ๆ เช่น ดอกรักเร่ ดอกบัวสาย ฯลฯ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 ผู้กระทำทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคคือ "ผ้าปูโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าลายสวยผืนนี้"
ข้อ 2 เป็นประโยคกรรม เรียงผู้ถูกกระทำไว้ต้นประโยคคือ "กระทงใบนี้"
ข้อ 3 ผู้กระทำทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคคือ "แหนมเนือง เปาะเปี๊ยะสดและขนมเบื้องญวณ"
ข้อ 4 ผู้กระทำทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคคือ "อาจารย์สมศรี"
**********************************
51. ข้อใดไม่ใช่ประโยคความรวม
1. พอฝนจะตก เราก็รีบกลับบ้านทันที
2. คนไทยรักสงบ แต่ยามรบก็ไม่ขลาด
3. ทางการประกาศว่าแถวสีลมอากาศเป็นพิษ
4. ประชาชนไม่ใช้สะพานลอย ตำรวจจึงต้องตักเตือน
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ประโยคความรวมคือ ประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปมารวมกัน โดยมีสันธานเป็นตัวเชื่อม
ข้อ 1 เป็นประโยคความรวมที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน
ข้อ 2 เป็นประโยคความรวมที่มีเนื้อความแย้งกัน
ข้อ 3 เป็นประโยคความซ้อน ประโยคหลักคือ "ทางการประกาศ" ประโยคย่อยคือ "แถวสีลมอากาศเป็นพิษ" ตัวเชื่อมคือ "ว่า"
ข้อ 4 เป็นประโยคความรวมที่มีเนื้อความเป็นเหตุผลกัน
**********************************
52. ข้อใดเป็นประโยคที่สมบูรณ์
1. เพียงแต่เราต้องเริ่มด้วยการสอนลูกหลานให้รู้จักคิด รู้จักรักตนเอง รู้จักรักผู้อื่น และรู้จักให้
2. ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณค่าเพื่อรากฐานชีวิตและการเรียนรู้ที่ดีของเด็กไทย
3. ชาติของเราจะอยู่อย่างสันติสุขได้ก็ด้วยระบบเศรษฐกิจผสมผสานเพราะวิธีนี้จะทำให้ชุมชนมีความสุขอยู่กับความพอดี
4. นับตั้งแต่ภาวะการถดถอยของการส่งออก การปลดลูกจ้าง การปิดสถาบันการเงิน จนถึงการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 ใจความยังไม่ชัดเจน ควรมีข้อความนำมาก่อนความจึงจะสมบูรณ์
ข้อ 2 ไม่เป็นประโยคเพราะขาดภาคแสดง
ข้อ 3 เป็นประโยคที่สมบูรณ์
ข้อ 4 ไม่เป็นประโยคเพราะขาดภาคประธานและภาคแสดง มีแต่ส่วนขยาย
**********************************
53. ข้อใดเป็นประโยคกำกวม
1. ความจำเสื่อมเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งที่พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ
2. นางสาวไทยเป็นผู้แทนของประเทศไทยที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ประกาศเกียรติคุณของประเทศ
3. การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้จัดพิมพ์แสตมป์ชุดดอกกุหลาบที่มีกลิ่นหอมเป็นครั้งแรกของไทย
4. นักเรียนมัธยมที่มีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาของโรงเรียนจะติดบุหรี่น้อยกว่านักเรียนที่ไม่ได้เล่นกีฬาเลย
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ประโยคกำกวม เพราะอาจหมายถึง จัดพิมพ์แสตมป์ (ชุดดอกกุหลาบที่มีกลิ่นหอม) เป็นครั้งแรกของไทย หรืออาจหมายถึง ดอกกุหลาบที่มีกลิ่นหอมเป็นครั้งแรกของไทย
**********************************
54. ข้อใดเป็นประโยคต่างชนิดกับประโยคต่อไปนี้
"เมื่อเขาประพฤติตัวดี เข้าสังคมได้ เราก็สบายใจ"
1. เราเป็นครอบครัวนักการเมืองจึงต้องเข้ากับประชาชนได้
2. ตำนานรักของคู่รักคนดังคู่นี้เริ่มต้นในงานเลี้ยงของมหาวิทยาลัย
3. คนเราถ้ามีความรู้ ขยัน อดทน ไม่มีวันจะยากจน
4. ยิ่งทั้งสองฝ่ายรู้จักกันมากขึ้น ยิ่งเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
"เมื่อเขาประพฤติตัวดี เข้าสังคมได้ เราก็สบายใจ" เป็นประโยคความรวม สันธานเชื่อมประโยคคือ เมื่อ....ก็
ข้อ 1 เป็นประโยคความรวม สันธานเชื่อมประโยคคือ จึง
ข้อ 2 เป็นประโยคความเดียว
ภาคประธานคือ ตำนานรักของคู่รักคนดังคู่นี้
ภาคแสดงคือ เริ่มต้นในงานเลี้ยงของมหาวิทยาลัย
ข้อ 3 เป็นประโยคความรวม สันธานเชื่อมประโยคคือ ถ้า
ข้อ 4 เป็นประโยคความรวม สันธานเชื่อมประโยคคือ ยิ่ง....ยิ่ง
**********************************
55. ข้อใดใช้ประโยคแสดงเจตนาแตกต่างจากข้ออื่น
1. คุณปิดวิทยุเดี๋ยวนี้
2. คุณควรปิดวิทยุนะ
3. คุณช่วยปิดวิทยุด้วย
4. คุณปิดวิทยุหน่อยได้ไหม
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 3 และข้อ 4 แสดงเจตนาบอกให้ทำ
ข้อ 2 แสดงเจตนาแนะนำ ใช้คำ "ควร"
**********************************
56. ข้อใดไม่ใช่ประโยคความซ้อน
1. สิ่งที่เขาตั้งใจกระทำให้พ่อแม่คือการตั้งใจเรียนและการเป็นคนดี
2. สะพานแห่งใหม่ที่เพิ่งจะเปิดใช้ช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้น
3. ตึกแถวริมถนนใหญ่ที่หน้าบ้านฉันถูกทุบทิ้งไปแล้ว
4. เขาขายรถยนต์คันที่ถูกรางวัลกาชาดไปเมื่อวานนี้
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 เป็นประโยคความซ้อน
ประโยคหลัก คือ สิ่งคือการตั้งใจเรียนและการเป็นคนดี
ประโยคย่อย คือ เขาตั้งใจกระทำให้พ่อแม่
ข้อ 2 เป็นประโยคความซ้อน
ประโยคหลัก คือ สะพานแห่งใหม่ช่วยให้การจราจรคล่องตัวขึ้น
ประโยคย่อย คือ เพิ่งจะเปิดใช้
ตัวเชื่อม คือ ที่
ข้อ 3 เป็นประโยคความเดียว ที่เอาผู้ถูกกระทำไว้ต้นประโยคคือ ตึกแถวริมถนนใหญ่ที่หน้าบ้านฉัน
ข้อ 4 ประโยคความซ้อน
ประโยคหลัก คือ เขาขายรถยนต์คันไปเมื่อวานนี้
ประโยคย่อย คือ ถูกรางวัลกาชาด
ตัวเชื่อม คือ ที่
**********************************
57. ข้อใดไม่ใช่ประโยคความเดียว
1. บ้านเป็นเสมือนโรงเรียนแห่งแรกของทุกคน
2. วิถีชีวิตของคนในชนบทเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
3. วิชาการสร้างเรือนไทยสืบทอดมาเป็นมรดกของชาวไทย
4. พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นที่รวมของศิลปกรรมเกือบทุกสาขา
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 เป็นประโยคความเดียว
ภาคประธาน คือ บ้าน
ภาคแสดง คือ เป็นเสมือนโรงเรียนแห่งแรกของทุกคน
ข้อ 2 เป็นประโยคความเดียว
ภาคประธาน คือ วิถีชีวิตของคนในชนบท
ภาคแสดง คือ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ข้อ 3 เป็นประโยคความซ้อน
ประโยคหลัก คือ วิชาการสร้างเรือนไทยเป็นมรดกของชาวไทย
ประโยคย่อย คือ (วิชาการสร้างเรือนไทย) สืบทอดมา
ละตัวเชื่อม คือ ที่
ข้อ 4 เป็นประโยคความเดียว
ภาคประธาน คือ พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม
ภาคแสดง คือ เป็นที่รวมของศิลปกรรมเกือบทุกสาขา
**********************************
58. ข้อใดมีส่วนประกอบของประโยคเหมือนประโยคตัวอย่าง
"หลานชายชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น"
1. ดำไปเที่ยวตามสวนสาธารณะต่าง ๆ
2. คุณนายบ้านนี้ชอบซื้อผลไม้เป็นประจำ
3. น้องกำลังตรวจบัญชีรับจ่ายของบริษัท
4. เทศบาลตำบลหัวหินเร่งปลูกต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
"หลานชายชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น" และ "เทศบาลตำบลหัวหินเร่งปลูกต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ" มีส่วนประกอบของประโยคเหมือนกันดังนี้
บทประธาน บทขยายประธาน บทกริยา บทกรรม บทขยายกรรม
หลาน ชาย ชอบอ่าน การ์ตูน ญี่ปุ่น
เทศบาล ตำบลหัวหิน เร่งปลูก ต้นไม้ ต้นใหญ่ ๆ
**********************************
59. ประโยคในข้อใดมีโครงสร้างต่างจากข้ออื่น
1. คุณตาจะแจกตุ๊กตาและขนมเด็ก ๆ
2. สมปองขายเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน
3. สมชายซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากบริษัทของสมทรง
4. คุณพ่อมอบเครื่องอิเล็กโทนแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 ประโยคมีกรรมตรงและกรรมรอง "(แก่) เด็ก ๆ"
ข้อ 2 ประโยคมีกรรมตรงและกรรมรอง "เครื่องใช้ไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน"
ข้อ 3 ประโยคมีกรรมตรง "เครื่องคอมพิวเตอร์"
ข้อ 4 ประโยคมีกรรมตรงและกรรมรอง "เครื่องอิเล็กโทนแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด"
**********************************
60. ข้อความต่อไปนี้ไม่มีการร้อยเรียงประโยคตามข้อใด
"เมื่อมาถึงจุดชมวิว ก็จะสามารถมองเห็นธารน้ำแข็งสีขาวพาดลงมาสู่พื้นดินเป็นแนวยาวระหว่างภูเขาสองลูก ธารน้ำแข็งนี้ยาว 13 กิโลเมตรเคลื่อนตัวลงมาใกล้ทะเลถัดลงมาเป็นที่ราบเต็มไปด้วยก้อนหิน แต่เดิมเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่"
1. การเชื่อม
2. การแทน
3. การละ
4. การซ้ำ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 ข้อความนี้มีการเชื่อมประโยค สังเกตจากการใช้คำสันธาน ได้แก่ แต่
ข้อ 2 ข้อความนี้ไม่มีการแทน ไม่มีการใช้คำใดกล่าวแทนคำใด
ข้อ 3 ข้อความนี้มีการละ คือ ละประธานของข้อความ "เมื่อมาถึงจุดชมวิว"
ข้อ 4 ข้อความนี้มีการซ้ำ คือ ซ้ำคำ "ธารน้ำแข็ง"
**********************************
61. ข้อใดเป็นได้ทั้งกลุ่มคำและประโยค
1. บริษัทจัดหางาน ถังใส่น้ำมัน
2. บ่อบำบัดน้ำเสีย กรมส่งเสริมการเกษตร
3. คนทำสวน สถานสงเคราะห์เด็กอ่อน
4. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานตรวจสอบบัญชี
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และพนักงานตรวจสอบบัญชี เป็นได้ทั้งกลุ่มคำ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีอาชีพดังกล่าว และเป็นประโยคได้
เพราะมีภาคประธาน คือ เจ้าหน้าที่/พนักงาน
มีภาคแสดง คือ รักษาความปลอดภัย/ตรวจสอบบัญชี
**********************************
62. ข้อใดไม่มีการละส่วนของประโยค
1. ร้านนี้เปิดขายอาหารตามสั่ง ร้านโน้นก็เปิดขายเหมือนกัน
2. ลูกชายบ้านตรงข้ามได้งานทำแล้ว ลูกสาวฉันยังไม่ได้ทำงานเลย
3. เพื่อน ๆ ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ให้ไปหัดขับรถ แต่พ่อแม่ของฉันยังไม่อนุญาต
4. ตำรวจจับผู้ร้ายที่ปล้นร้านทองเมื่อวานนี้ได้ แต่ยังจับผู้ร้ายที่ปล้นตลาดเมื่อเดือนก่อนไม่ได้
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 ละส่วนของประโยคคือ อาหารตามสั่ง
ข้อ 2 ไม่มีการละส่วนของประโยค
ข้อ 3 ละส่วนของประโยคคือ ให้ไปหัดขับรถ
ข้อ 4 ละส่วนของประโยคคือ ตำรวจ
**********************************
63. ข้อใดไม่มีประโยคกรรม
1. ธรรมเนียมของคนไทยนั้น เมื่อมีแขกมาหา เราต้องต้อนรับอย่างดีเสมอ
2. โทรศัพท์มือถือนี่ ลูกชายคนโปรดของคุณทำหายเป็นเครื่องที่สามแล้ว
3. ทักษะการใช้ภาษานั้น นักเรียนได้รับมาจากการสอนภาษาแบบบูรณาการ
4. เมื่อคุณยายแบ่งที่ดินบางส่วนให้ลูกหลานแล้ว ส่วนที่เหลือทั้งหมดก็ยกให้วัด
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ประโยคกรรมเป็นประโยคที่เรียงผู้ถูกกระทำไว้ต้นประโยค
ข้อ 1 ไม่มีประโยคกรรม
ข้อ 2 มีประโยคกรรม ผู้ถูกกระทำคือ โทรศัพท์มือถือ
ข้อ 3 มีประโยคกรรม ผู้ถูกกระทำคือ ทักษะการใช้ภาษา
ข้อ 4 มีประโยคกรรม ผู้ถูกกระทำคือ ส่วนที่เหลือทั้งหมด
**********************************
64. ข้อใดไม่ใช่ประโยค
1. เขาย้ำกับเราว่ายุคนี้เป็นยุคของการปฏิรูปการปกครองแบบบูรณาการ
2. ประชาธิปไตยรวมศูนย์เป็นหลักการปกครองที่รัฐบาลยึดถือเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศชาติ
3. แม้ภาพของเขาจะไม่โดดเด่นเป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนเท่ากับรุ่นพี่ แต่บทบาทที่อยู่เบื้องหลังนั้นนับว่าสำคัญยิ่ง
4. หลังจากมีรายงานข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชาส่งหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศอ้างสิทธิเหนือปราสาทแห่งหนึ่งในอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 3 เป็นประโยค เพราะมีใจความสมบูรณ์
ข้อ 4 ไม่ใช่ประโยค เป็นเพียงกลุ่มคำ ใจความยังไม่สมบูรณ์ ขาดภาคแสดงของประโยค
**********************************
65. ส่วนที่อยู่ในวงเล็บในข้อใดทำหน้าที่ในประโยคแตกต่างจากข้ออื่น
1. ชาวลาวเรียก (สิ่งก่อสร้างนี้) ว่า อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะ
2. (บ้านหลังแรก) เขาซื้อตั้งแต่ทำงานใหม่ ๆ
3. เขาลงมือตกแต่ง (ลวดลายต่าง ๆ) ให้ดูประณีตยิ่งขึ้น
4. (ท้องทุ่งกว้างนี้) ผมกับเพื่อน ๆ เคยวิ่งเล่นกัน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 "สิ่งก่อสร้างนี้" ทำหน้าที่เป็นกรรม
ข้อ 2 "บ้านหลังแรก" ทำหน้าที่เป็นกรรม
ข้อ 3 "ลวดลายต่าง ๆ" ทำหน้าที่เป็นกรรม
ข้อ 4 "ท้องทุ่งกว้างนี้" ทำหน้าที่เป็นบทขยายกริยา
**********************************
66. สำนวนไทยคู่ใดมีความหมายเหมือนกัน
1. ไม่รู้ทิศรู้ทาง ไม่รู้ร้อนรู้หนาว
2. ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้อีโหน่อีเหน่
3. ไม่เออออห่อหมก ไม่อินังขังขอบ
4. ไม่ชอบมาพากล ไม่เป็นโล้เป็นพาย
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 ไม่รู้ทิศทาง หมายถึง ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นทางไหน
ไม่รู้ร้อนรู้หนาว หมายถึง ไม่รู้สึกอะไร
ข้อ 2 ไม่รู้เหนือรู้ใต้ หมายถึง ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น
ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ หมายถึง ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น
ข้อ 3 ไม่เออออห่อหมก หมายถึง ไม่ตกลงยินยอมด้วย
ไม่อินังขังขอบ หมายถึง ไม่น่าสนใจใยดี
ข้อ 4 ไม่ชอบมาพากล หมายถึง ไม่น่าไว้วางใจ
ไม่เป็นโล้เป็นพาย หมายถึง ไม่ได้เรื่องได้ราว
**********************************
67. ข้อใดใช้สำนวนไทยได้ถูกต้องเหมาะสม
1. ลูกชายของเขาเรียนจบและได้งานทำเป็นฝั่งเป็นฝาไปแล้ว
2. ประชาชนดูตำรวจตัดสายชนวนระเบิดด้วยความอกสั่นหวั่นไหว
3. ผู้ชายคนนี้หน้าไหว้หลังหลอก ดูยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ให้คนออกจากงาน
4. สิ่งที่เขาทำกับเด็ก ๆ ในวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าก็จะเกิดกับลูกหลานเขาเอง เป็นกงเกวียนกำเกวียน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 เป็นฝั่งเป็นฝา หมายถึง แต่งงานมีครอบครัวแล้ว
ข้อ 2 อกสั่นหวั่นไหว ที่ถูกต้องใช้ว่า อกสั่นขวัญแขวน
ข้อ 3 หน้าไหว้หลังหลอก หมายถึง ต่อหน้าทำเป็นดีลับหลังนินทาหรือหาทางทำร้าย
ข้อ 4 กงเกวียนกำเกวียน หมายถึง กรรมสนองกรรม
**********************************
68. สำนวนในข้อใดมีน้ำเสียงต่างจากข้ออื่น
1. ไม้หลักปักเลน
2. กิ้งก่าได้ทอง
3. วัวหายล้อมคอก
4. น้ำซึมบ่อทราย
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 ไม้หลักปักเลน หมายความว่า โลเล ไม่แน่นอน สำนวนนี้มีน้ำเสียงในทางที่ไม่ดี
่ข้อ 2 กิ้งก่าได้ทอง หมายความว่า ได้ดีแล้วหยิ่ง สำนวนนี้มีน้ำเสียงในทางที่ไม่ดี
ข้อ 3 วัวหายล้อมคอก หมายความว่า เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข สำนวนนี้มีน้ำเสียงในทางที่ไม่ดี
ข้อ 4 น้ำซึมบ่อทราย หมายความว่า หาได้มาเรื่อย ๆ สำนวนนี้มีน้ำเสียงในทางที่ดี
**********************************
69. ข้อใดใช้สำนวนถูกต้อง
1. เรื่องมันล่วงเลยมาตั้งนานแล้ว คุณจะแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้กลับเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีกทำไม
2. มีข่าวความไม่สงบเกิดขึ้นทีไร ชาวบ้านก็ซื้อสินค้าไปตุนกันจนแทบหมดห้าง วันนี้ห้างเลยเงียบเป็นเป่าสาก
3. เป็นลูกผู้หญิงต้องละเมียดละไม จะหยิบจับอะไรก็ให้เบามือหน่อย ข้าวของจะได้ไม่เสียหายเหมือนที่ว่าบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น
4. คุณมีตำแหน่งใหญ่ขึ้นมาอย่างนี้ อย่าเชื่อคำพูดหรือคำสนับสนุนของคนที่อยู่แวดล้อมให้มากนัก พวกลูกขุนพลอยพยักจะทำให้คุณลำบาก
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1 แกว่งเท้าหาเสี้ยน หมายความว่า รนหาเรื่องเดือดร้อน ข้อความในข้อ 1 ควรใช้สำนวนว่า ฟื้นฝอยหาตะเข็บ หมายความว่า คุ้ยเอาเรื่องที่เงียบไปแล้วให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีก
ข้อ 2 เงียบเป็นเป่าสาก หมายความว่า ลักษณะที่เงียบสนิท สำนวนนี้ใช้ไม่สอดคล้องกับสภาพที่ชาวบ้านซื้อสินค้าไปตุนกันจนแทบหมดห้าง
ข้อ 3 บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น หมายความว่า รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบกระเทือนกัน ข้อความในข้อ 3 ควรตัดสำนวนนี้ออก
ข้อ 4 ใช้สำนวนถูกต้อง ลูกขุนพลอยพยัก หมายความว่า ผู้ที่คอยเห็นด้วยกับผู้ใหญ่เป็นเชิงประจบสอพลอ
**********************************
70. ข้อใดใช้สำนวนถูกต้อง
1. ลูกสาวฉันเป็นคนที่เรียกว่ากระเชอก้นรั่วจริง ๆ ข้าวของที่เก็บไว้ไม่เคยจำได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน
2. ทำอะไรควรคิดให้รอบคอบ ผู้ใหญ่ว่ากล่าวตักเตือนก็ควรปฏิบัติตาม เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน
3. เขาชอบทำงานแบบขายผ้าเอาหน้ารอด วันนี้ก็เช่นกัน พอรู้ว่าเจ้านายจะมาตรวจโรงงานก็รีบทำความสะอาดทันที
4. ข่าวเหตุการณ์ระเบิดในห้างเมื่อเดือนก่อน ขณะนี้ยังไม่รู้ผลการสอบสวนเรื่องเงียบหายไปเหมือนคลื่นใต้น้ำ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง กระเชอก้นรั่ว หมายถึง สุรุ่ยสุร่าย, ไม่ประหยัด
ข้อ 2 ใช้สำนวนถูกต้อง อาบน้ำร้อนมาก่อน หมายถึง เกิดก่อน จึงมีประสบการณ์มากกว่า
ข้อ 3 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง ขายผ้าเอาหน้ารอด หมายถึง ยอมเสียแม้แต่ของที่จำเป็นที่ตนมีอยู่เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนไว้
ข้อ 4 ใช้สำนวนไม่ถูกต้อง คลื่นใต้น้ำ หมายถึง เหตุการณ์ที่คุกรุ่นอยู่ภายใน แต่ภายนอกดูเหมือนสงบเรียบร้อย
**********************************
71. สำนวนไทยในข้อใดมีความหมายใกล้เคียงกันมากที่สุด
1. ลิงได้แก้ว กิ้งก่าได้ทอง
2. นกสองหัว เหยียบเรือสองแคม
3. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ กวนน้ำให้ขุ่น
4. ขมิ้นกับปูน ขิงก็ราข่าก็แรง
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 ลิงได้แก้ว หมายถึง สิ่งที่มีค่าไปอยู่ในกำมือของผู้ไม่รู้ค่าก็หาประโยชน์อันใดมิได้
กิ้งก่าได้ทอง หมายถึง คนที่ได้ดีแล้วหยิ่ง
ข้อ 2 นกสองหัว หมายถึง ทำตัวฝักใฝ่เข้าด้วยทั้งสองฝ่ายที่มักไม่เป็นมิตรกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
เหยียบเรือสองแคม หมายถึง ทำทีเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย
ข้อ 3 ฟื้นฝอยหาตะเข็บ หมายถึง คุ้ยเอาเรื่องที่สงบเงียบไปแล้วให้กลับเป็นเรื่องเป็นราวยุ่งยากขึ้นมาอีก
กวนน้ำให้ขุ่น หมายถึง ทำเรื่องราวที่สงบอยู่แล้วให้เกิดวุ่นวายขึ้นมา
ข้อ 4 ขมิ้นกับปูน หมายถึง ชอบวิวาทกันอยู่เสมอเมื่ออยู่ใกล้กัน
ขิงก็ราข่าก็แรง หมายถึง ต่างมีอารมณ์ร้อนพอ ๆ กัน ต่างไม่ยอมลดละกัน
**********************************
72. "อ้อยและหวานเป็นผู้หญิงสวยและมีเสน่ห์มาก จอมหลงรักเธอทั้งสองคน จึงไปรับอ้อยที่ที่ทำงานทุกวันและไปหาหวานทุกวันเสาร์อาทิตย์" การกระทำของจอมตรงกับสำนวนในข้อใด
1. เหยียบเรือสองแคม
2. รักพี่เสียดายน้อง
3. สองฝักสองฝ่าย
4. จับปลาสองมือ
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
การกระทำของจอมตรงกับสำนวนจับปลาสองมือ
ข้อ 1. เหยียบเรือสองแคม หมายความว่า ทำทีเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย
ข้อ 2. รักพี่เสียดายน้อง หมายความว่า ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไหนดี
ข้อ 3. สองฝักสองฝ่าย หมายความว่า ทำตัวเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย
ข้อ 4. จับปลาสองมือ หมายความว่า ทำอะไรที่มุ่งหวังสองอย่างในขณะเดียวกัน
**********************************
73. ข้อใดใช้สำนวนได้ถูกต้อง
1. เธอทำงานหนักจนเลือดตาแทบกระเด็นเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก ๆ
2. น้องเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ทุก ๆ คนจึงรักและดูแลเธอราวกับดาวล้อมเดือน
3. ชลทำธุรกิจหลายด้าน และเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปด้วยดี บางครั้งเขาจึงต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางบ้าง
4. หลังจากจัดงานศพให้พ่อแล้ว ชัยต้องทำงานใช้หนี้อยู่หลายปี เข้าทำนองตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 เลือดตาแทบกระเด็น ควรใช้ว่า สายตัวแทบขาด
เลือดตาแทบกระเด็น หมายความว่า ต่อสู้ชีวิตอดทนต่อความลำบาก ด้วยความทรหดสุดกำลังแทบล้มประดาตาย
สายตัวแทบขาด หมายความว่า เหน็ดเหนื่อยเพราะทำงานหนักแทบไม่ได้พักผ่อน
ข้อ 2 ดาวล้อมเดือน ควรใช้ว่า ไข่ในหิน
ดาวล้อมเดือน หมายความว่า คนที่มีบริวารแวดล้อมมาก
ไข่ในหิน หมายความว่า ของที่ต้องระมัดระวังทะนุถนอม
ข้อ 3 ใช้สำนวนถูกต้องตรงความหมาย
เบี้ยบ้ายรายทาง หมายความว่า เงินที่ต้องใช้จ่ายหรือเสียไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในขณะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ข้อ 4 ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ควรใช้ว่า คนตายขายคนเป็น
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หมายความว่า ลงทุนไปมากแต่ผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกัน
คนตายขายคนเป็น หมายความว่า จัดงานศพอย่างใหญ่โตจนต้องเป็นหนี้สิน
**********************************
74. ข้อใดไม่แสดงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
1. กรวดน้ำคว่ำขัน
2. เด็ดดอกไม้ร่วมต้น
3. ต้นร้ายปลายดี
4. บุญมาวาสนาส่ง
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1. กรวดน้ำคว่ำขัน หมายความว่า ตัดขาดไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
ข้อ 2. เด็ดดอกไม้ร่วมต้น หมายความว่า เคยทำบุญกุศลร่วมกันมาแต่ชาติก่อน
ข้อ 3. ต้นร้ายปลายดี หมายความว่า ตอนต้นไม่ดีไปดีเอาตอนหลัง ซึ่งไม่ได้แสดงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
ข้อ 4. บุญมาวาสนาส่ง หมายความว่า เมื่อมีบุญ อำนาจวาสนาก็มาเอง
**********************************
75. ข้อใดใช้สำนวนไม่ถูกต้อง
1. ซื้อล็อตเตอรี่รัฐบาล กว่าคุณจะถูกรางวัลเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร
2. คุณปู่ได้แกงเทน้ำพริก พอมีหลานสาวคนใหม่ ก็ไม่เหลียวแลหลานชายคนโต
3. ผมไม่กลัวจดหมายขู่นี่หรอก บ้านเมืองมีขื่อมีแป ถ้ามันทำจริงก็ต้องไม่พ้นคุกตะราง
4. อยู่ที่ทำงานก็ถูกเจ้านายใช้หัวไม่วางหางไม่เว้น กลับบ้านยังต้องทำงานบ้านอีกเหนื่อยจริง ๆ
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ข้อ 1 งมเข็มในมหาสมุทร หมายความว่า ทำกิจที่สำเร็จได้ยาก ในที่นี้ใช้ไม่ถูกต้องกับบริบท
ข้อ 2 ได้แกงเทน้ำพริก หมายความว่า ได้ใหม่ลืมเก่า
ข้อ 3 บ้านเมืองมีขื่อมีแป หมายความว่า ประเทศย่อมมีกฎหมายคุ้มครอง
ข้อ 4 หัวไม่วางหางไม่เว้น หมายความว่า อาการที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาหยุดพัก
**********************************
76. ข้อความตอนใดใช้ราชาศัพท์ผิด
(1) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธียกช่อฟ้า ณ วัดสีมาราม (2) หลังจากเสด็จพระดำเนินกลับจากการแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล (3) จากนั้นเสด็จออกให้ลูกเสือชาวบ้านจากทั่วประเทศเฝ้าฯ (4) และทรงพระดำเนินชมนิทรรศการ "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์"
1. ตอนที่ (1)
2. ตอนที่ (2)
3. ตอนที่ (3)
4. ตอนที่ (4)
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ตอนที่ (2) นี้ใช้ราชาศัพท์ผิดคือ เสด็จพระดำเนินกลับ ที่ถูกต้องคือ เสด็จพระราชดำเนินกลับ
**********************************
77. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ได้ถูกต้อง
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่คณะผู้พิพากษาใหม่ที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาเริง พระราชวังไกลกังวล
2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารเสด็จออกแทนพระองค์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้า
3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุเสด็จฯ เป็นประธานเปิดการแสดงของยอดมายากล เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์
4. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาได้สำเร็จการศึกษาเป็นองค์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
ข้อ 1 ใช้ราชาศัพท์ได้ถูกต้อง
ข้อ 2 ใช้ราชาศัพท์ผิด คือ พระบรมราชวโรกาส เข้าเฝ้า ที่ถูกต้องคือ พระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ
ข้อ 3 ใช้ราชาศัพท์ผิด คือ เสด็จฯ เป็นประธานเปิด ที่ถูกต้องคือ เสด็จเป็นประธานทรงเปิด
ข้อ 4 ใช้ราชาศัพท์ผิด คือ ได้สำเร็จการศึกษาเป็นองค์บัณฑิต ที่ถูกต้องคือ ทรงสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต
**********************************
78. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ถูกต้อง
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ............. นำ ............ ทั้งสองไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
1. เสด็จฯ ราชอาคันตุกะ
2. ทรงดำเนิน พระราชอาคันตุกะ
3. ทรงพระดำเนิน พระราชอาคันตุกะ
4. เสด็จพระดำเนิน ราชอาคันตุกะ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ทรงพระดำเนิน หมายถึง เดิน
พระราชอาคันตุกะ หมายถึง แขกของพระมหากษัตริย์
**********************************
79. ส่วนใดในข้อความต่อไปนี้ใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
(1) ครอบครัวใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นสมาชิกโครงการศิลปาชีพ เมื่อสัมภาษณ์แล้วก็จะได้รับพระราชทานเงินไปเป็นทุนให้ทำงานหัตถกรรมตามถนัดมาส่งในคราวเสด็จฯ ครั้งต่อไป (2) เงินที่พระราชทานนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำริว่าน่าจะพอเพียงแก่การยังชีพได้ตลอดช่วงเวลาที่จะทำงานอันเป็นเสมือนการบ้านนั้นจนแล้วเสร็จ (3) แล้วนำมาส่งเมื่อพระองค์เสด็จฯ มาใหม่ในคราวหน้า (4) พระองค์จะมีพระราชบัญชาให้เจ้าหน้าที่ตรวจและประเมินตีตรารับซื้อของเหล่านั้นไว้แล้วทรงมอบหมายการบ้านชิ้นใหม่ให้ต่อไป
1. ส่วนที่ (1) และ (3)
2. ส่วนที่ (1) และ (4)
3. ส่วนที่ (2) และ (3)
4. ส่วนที่ (2) และ (4)
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อความส่วนที่ (2) ใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง คือ ทรงมีพระราชดำริ ต้องใช้ว่า มีพระราชดำริ แปลว่า ความคิด ("มี" ถ้าใช้นำหน้าคำที่เป็นราชาศัพท์ไม่ใช้ว่า "ทรงมี")
ข้อความส่วนที่ (4) ใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้องคือ พระราชบัญชา ต้องใช้ว่า พระราชเสาวนีย์ แปลว่า คำสั่ง
"พระราชบัญชา" ใช้สำหรับสมเด็จพระบรมราชกุมารี
"พระราชเสาวนีย์" ใช้สำหรับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
**********************************
80. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ได้ถูกต้อง
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวโรกาสให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
2. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
3. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารเสด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาไปยังโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ
4. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานคอนเสิร์ตการกุศล
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1 ใช้ราชาศัพท์ผิดคือ พระราชวโรกาส ต้องใช้ว่า พระบรมราชวโรกาส
ข้อ 2 ใช้ราชาศัพท์ผิดคือ เสด็จ ต้องใช้ว่า เสด็จพระราชดำเนิน
ข้อ 3 ใช้ราชาศัพท์ถูกต้อง "เสด็จฯ" มาจากคำว่า เสด็จพระราชดำเนิน
ข้อ 4 ใช้ราชาศัพท์ผิดคือ ทรงเป็นองค์ประธาน ต้องใช้ว่า ทรงเป็นประธาน
**********************************
81. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ถูกต้อง
1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์ในห้องทรงงาน
3. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงขอบพระทัยประชาชนที่มารับเสด็จ
4. ปีนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมพรรษา 4 รอบ
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1 "ทรงเป็นพระราชโอรส" ต้องใช้ "เป็นพระราชโอรส"
ข้อ 2 ใช้ "ทรงมี" ถูกต้องแล้ว
ข้อ 3 "ทรงขอบพระทัย" ต้องใช้ "ทรงขอบใจ"
ข้อ 4 "ทรงเจริญพระชนมพรรษา" ต้องใช้ "ทรงเจริญพระชนมายุ"
**********************************
82. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จลง ณ ท้องพระโรงศาลาเริง วังไกลกังวล ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
3. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปประทานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน
4. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก" นับเป็นพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 4 ใช้ราชาศัพท์ถูกต้อง
ข้อ 3 ใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้องคือ "เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์" ที่ถูกต้องควรใช้ว่า "เสด็จแทนพระองค์"
**********************************
83. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล
2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ และทรงเปิดอาคารที่ทำการ
3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิตาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
4. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เฉลยข้อ 2 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 3 และ ข้อ 4 ใช้ราชาศัพท์ถูกต้อง
ข้อ 2 ใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง ควรใช้ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ และทรงเปิดอาคารที่ทำการ
**********************************
84. ข้อใดแปลความหมายผิด
1. ถุงพระบาท หมายถึง ถุงเท้า
2. ฉลองพระเนตร หมายถึง แว่นตา
3. ฉลองพระหัตถ์ หมายถึง ถุงมือ
4. ซับพระองค์ หมายถึง ผ้าเช็ดตัว
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
ข้อ 1. แปลความหมายของราชาศัพท์ถูกต้อง ถุงพระบาท หมายถึง ถุงเท้า
ข้อ 2. แปลความหมายของราชาศัพท์ถูกต้อง ฉลองพระเนตร หมายถึง แว่นตา
ข้อ 3. แปลความหมายของราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
ฉลองพระหัตถ์ หมายถึง ช้อนส้อม ตะเกียบ ใช้ว่า ฉลองพระหัตถ์ช้อนส้อม ฯลฯ
ถุงมือ ราชาศัพท์ใช้ว่า ถุงพระหัตถ์
ข้อ 4. แปลความหมายของราชาศัพท์ถูกต้อง ซับพระองค์ หมายถึง ผ้าเช็ดตัว
**********************************
85. ข้อใดใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลงและทรงเรียบเรียงเสียงประสาน
2. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระดำเนินทอดพระเนตรผลงานของศูนย์การพัฒนาพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
3. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วชิราวุธวิทยาลัย
4. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อนำมาใช้เป็นเงินเดือนของครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนของกรมการศึกษานอกโรงเรียน
เฉลยข้อ 4 เหตุผล
ข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 3 ใช้ราชาศัพท์ถูกต้อง
ข้อ 4 ใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้องคือ "พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์" ที่ถูกต้องคือ "พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์"
**********************************