เบญจเพส
ตามคติความเชื่อถือของคนไทยเรานั้น เชื่อว่าใครก็ตามเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัย "เบญจเพส"
คืออายุ 25 ปี มักจะมีเรื่องที่ไม่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเสมอ
ผู้หลักผู้ใหญ่มักเตือนลูก ๆ หลาน ๆ ที่ย่างเข้าสู่วัยเบญจเพสให้ระมัดระวังตัว และให้ทำบุญสุนทานเสียบ้าง
แต่คำว่า "เบญจเพส" คำนี้ มักเขียนกันไม่ค่อยถูก
คือที่คำว่า "เพส" บางทีก็พบว่าใช้ ศ สะกด คำนี้ต้องใช้ ส สะกด
เพราะมาจากคำบาลีว่า "ปญจวีส" (ปัน-จะ-วี-สะ) แปลว่า "ยี่สิบห้า"
แผลง "ปญจ" เป็น "เบญจ"
แผลง ว เป็น พ และแผลงสระอี เป็นสระเอ จึงเป็น "เบญจเพส"
คำ "เพส" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525
ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ว. ยี่สิบ เช่น เบญจเพส ว่า ยี่สิบห้า."
ถ้าหากเขียนเป็น "เบญจเพศ" ที่ "เพศ" ใช้ ศ สะกด
ก็จะต้องมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่งว่า "5 เพศ"
คำว่า "เพศ" นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525
ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้
"น. รูปที่แสดงให้รู้ว่าหญิงหรือชาย; (ไวยากรณ์)
ประเภทคำในบาลีและสันสกฤตเป็นต้น, ตรงกับ ลิงค์ หรือ ลึงค์."
และบอกที่มาไว้ว่า ตรงกับคำบาลีว่า "เวส" และตรงกับคำสันสกฤตว่า "เวษ"
เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะเขียนถึงวัยที่เรียกว่า "เบญจเพส" แล้ว
ก็ขอให้ใช้ตัวสะกดให้ถูกต้อง คือที่ "เพส" จะต้องใช้ ส สะกดเสมอไป
จึงจะแปลว่า "25" ถ้าใช้ ศ สะกด จะหมายความว่า "5 เพศ" ไป
และในเรื่องนี้มีหลายคนสงสัยว่าอายุ "เบญจเพส" หมายถึงเมื่อใด
คือเริ่มย่างเข้าอายุ 25 ปี หรืออายุ 25 ปีบริบูรณ์
เรื่องนี้ขอเรียนว่า "เบญจเพส" หมายถึง อายุที่ย่างเข้า 25 ปี ถึง 25 ปีบริบูรณ์
ถ้าเพิ่งย่าง 25 ปี ก็เรียกว่า "ย่างเข้าสู่วัยเบญจเพส"
ถ้าอายุ 25 ปีบริบูรณ์ ก็เรียกว่า "อายุครบเบญจเพสแล้ว"