วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิทยาศาสตร์ ป 1 - ป 3 อุณหภูมิเปลี่ยนไปเทอร์โมมิเตอร์บอกได้

วิทยาศาสตร์ ป 1 - ป 3 อุณหภูมิเปลี่ยนไปเทอร์โมมิเตอร์บอกได้


วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ต้นกำเนิดคำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ และแม่ครัวหัวป่า

ต้นกำเนิดคำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ และแม่ครัวหัวป่า

คำว่าแม่ครัวหัวป่าก์ 
ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
กำเนิดเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) คุณเอนก นาวิกมูล ท่านโทรศัพท์แจ้งข้อมูลนี้ให้ทราบเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2540
ผู้ที่นำคำนี้มาเผยแพร่ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ โดยจัดพิมพ์หนังสือเรื่องตำรากับข้าวแม่ครัวหัวป่าก์ ออกจำหน่ายเมื่อ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451)
ทัศนะเกี่ยวกับคำนี้ คุณผ่อง พันธุโรทัย เปรียญธรรม 6 ประโยค ปัจจุบันอายุ 80 ปี ได้ให้ทัศนะไว้ว่า หัวป่าก์ มีที่มาคือมาจากปาก
อนึ่งคำว่า ปากะศิลปะ แปลว่า ศิลปะว่าด้วยการหุงต้ม (จดหมายฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540)
คำนี้มิใช่เป็นการบวช แต่เป็นสึก คือ ปากเป็นรูปศัพท์บาลีแท้ เท่ากับ บวชอยู่ เจ้าพระยาท่านจับสึก แล้วแต่งตัวใหม่เป็นปาก์ จึงเท่ากับสึกศัพท์ (จดหมายฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540)

คำว่าแม่ครัวหัวป่า
ผู้เป็นต้นตำรับคำนี้ คำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสวัดชลอน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
ผู้ที่นำคำนี้มาเผยแพร่ มีอยู่ 2 ท่านด้วยกันคือ
1. วิศนุ ทรัพย์สุวรรณ ลงพิมพ์ในนิตยสารแม่บ้านทันสมัย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2536 ในการพิมพ์ครั้งนั้นได้รับคำท้วงติง จาก ส.พลายน้อย (อาจารย์สมบัติ พลายน้อย) มาแล้ว
2. นายเพทาย ไชยดิษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรี ลงพิมพ์ในวารสารกรมประชาสัมพันธ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ประจำสิงหาคม 2540 และท่านเปรียญ 7 ได้นำมาเผยแพร่ในสยามรัฐคอลัมน์พูดไทย-เขียนไทย
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวที่วิศนุ ทรัพย์สุวรรณ นำมาเผยแพร่

ที่มาของคำว่าแม่ครัวหัวป่า 
วิศนุ ทรัพย์สุวรรณ เขียนตามคำบอกเล่า (สัมภาษณ์) ท่านเจ้าอาวาสวัดชลอน ว่า รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารที่วัดนี้ และทรงโปรดปรานฝีมือการทำอาหารของแม่ครัวพื้นบ้านมาก ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปเป็นพนักงานห้องพระเครื่องต้น และเรียกชื่อตามนามตำบลนี้ว่า คณะแม่ครัวหัวป่า

ระยะเวลาที่เกิดคำนี้ขึ้น
กล่าวว่า ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449)
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 มิเคยได้เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารที่วัดชลอนนี้ และมิได้ทรงโปรดปรานฝีมือการทำอาหารของชาวบ้านเป็นพิเศษแต่ประการใด คือ
1. หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประพาสวัดชลอน แต่มิได้เสวยพระกระยาหารที่วัดนี้ มีอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 ว่า
(วันที่ 7 กรกฎาคม ร.ศ. 125) เวลา 2 โมงเช้า ออกเรือจากไชโย 4 โมง ถึงวัดชลอนพรหมเทพาวาส ของท่านพิมลธรรม (อ้น) ขึ้นถ่ายรูป มีพี่น้องท่านพิมลมารับกันมาก ต้นโพธิ์กิ่งตอนวัดนิเวศน์ใหญ่โตงามดีมาก แต่เอียงไปข้างหนึ่ง เพราะหลบต้นมะม่วง อยู่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ออกจากวัดชลอนขึ้นตลาดหมื่นหาญ หยุดทำกับข้าวกันที่ตลิ่งหน้าออฟฟิศโทรเลข...
2. หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มิได้ทรงโปรดเสวยอาหารของชาวบ้านเป็นพิเศษ มีว่า
วันที่ 23 (สิงหาคม ร.ศ. 125) ได้กินของเลี้ยง และถ่ายรูปคนงามเมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้สั่งให้เลือกหาไว้ก่อน ... อาหารที่เลี้ยงเปนอย่างกับข้าวอย่างเก่า ๆ พอกินได้ ดีกว่าบ้านนอกแท้ ...
3. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำ ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ในคราวเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่านั้น ปรากฎว่ามิได้ทรงแวะวัดชลอนพรหมเทพาวาส มีหลักฐานดังนี้
วันที่ 25 ตุลาคม จุลศักราช 1270
... เวลาเช้า 4 โมงเศศ จึงได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งครุธเหิรเห็จตามขึ้นไปภายหลัง แวะเสวยที่วัดท่าซ้าย แขวงเมืองสิงห์ ในอำเภอเมืองพรหม ขากลับเสด็จเรือประทุนสี่แจว มาแวะที่วัดจำปา ทอดพระเนตรราษฎรที่มาประชุมกันฟังเทศน์มหาชาติซึ่งมีที่วัดนั้น แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งครุธเหิรเห็จเสด็จกลับมาถึงที่ประทับแรมเวลาบ่าย 4 โมง (ที่อำเภอโพธิ์ทอง-ส.)
ห้องพระเครื่องต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (ตามที่หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงบันทึกเอาไว้)
ผู้กำกับการ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา (เมื่อยังทรงเป็นพระอรรคชายา พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ-ส.)
พนักงานห้องพระเครื่องต้นหม่อมเจ้าหญิงสารภี ลดาวัลย์ หม่อมเจ้าหญิงสบาย นิลรัตน์ หม่อมเจ้าหญิงปุ๋ย ลดาวัลย์ หม่อมเจ้าหญิงประทุม นิลรัตน์ หม่อมเจ้าหญิงเมาฬี ปราโมช หม่อมเจ้าหญิงปุ้ย หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช หม่อมเจ้าหญิงแฉล้ม หม่อมเจ้าหญิงเยื้อน หม่อมเจ้าหญิงกระจ่าง
พนักงานกลาง เชิญเครื่องจากห้องพระเครื่องต้น ส่งพนักงานใช้ ก่อนจะเชิญจะต้องถวายบังคม
พนักงานใช้ มี 4 คน รับเครื่องเสวยจากพนักงานกลางส่งคุณจอม (เจ้าจอม-ส.) คุณท้าวสุภัติฯ ทำหน้าที่แกะตรา
นายห้องเครื่องต้น ท้าวสุภัติการภักดี (เหลี่ยม) และ (ปริก)

ขอเพิ่มเติมวิธีปฏิบัติในการเชิญเครื่องเสวยไว้เป็นหลักฐานคือ
เมื่อจัดทำเครื่องเสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าห้องพระเครื่องต้นจะเชิญเครื่องเสวยบรรจุลงในภาชนะ [เปนจานเงิน, เปลเงิน อยู่ในถาดเงินใบใหญ่ มีฝาชีเงิน (ทึบ) คลุม] เมื่อเชิญเครื่องลงบรรจุในภาชนะเสร็จแล้ว จะเชิญถาดเงินที่มีฝาชีคลุมนั้น ห่อผ้าขาวอีกชั้นหนึ่งและรวบชายผ้าขึ้นใช้เชือกผูกและใช้ดินสอพองปิดทับแล้วตีตราประทับที่ดินสอพองนั้น มหาดเล็กเชิญเครื่อง (เดิมพนักงานกลาง) จะเชิญเครื่องจากห้องพระเครื่องต้นขึ้นไปบนพระตำหนักหรือพระที่นั่งที่เสด็จประทับ ส่งให้มหาดเล็กแผนกวรภาชน์ (เดิมนายห้องเครื่องต้นคือท้าวสุภัติการภักดี เป็นผู้แกะตรา) และมอบให้มหาดเล็กแผนกวรภาชน์ เป็นผู้อุ่นและเดินโต๊ะเสวยต่อไป (เดิมเป็นหน้าที่ของเจ้าจอม) จะเห็นได้ว่าทั้งหัวหน้าห้องพระเครื่องต้น และหัวหน้าแผนกวรภาชน์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องเสวยมาช้านานแล้ว การเชิญเครื่องเสวยบรรจุลงในภาชนะมีศัพท์โดยเฉพาะ เรียกว่า "เทียบเครื่อง"

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวที่นายเพทาย ไชยดิษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรีนำมาเผยแพร่
ที่มาของคำว่าแม่ครัวหัวป่า ในทำเนียบประวัติศาสตร์เมืองพรหมบุรี มีบันทึกในหมายเหตุวันเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นว่า แม่ครัวเครื่องคาว ได้แก่ อำแดงเกลี้ยง อำแดงอึ่ง อำแดงแพ อำแดงสรวง ส่วนเครื่องหวาน ได้แก่ อำแดงหงส์ อำแดงสิน อำแดงพลับ และอำแดงพา สำหรับเครื่องเสวยที่จัดไว้ครั้งนั้นมีแกงมัสมั่น แกงบอน ต้มปลาร้าหัวตาล ขนมจีนน้ำยา ส่วนเครื่องหวานมี ขนมปิ้ง สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน และข้าวตอกน้ำกะทิ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดฝีมือการปรุงเครื่องเสวยของคณะแม่ครัวชุดบ้านหัวป่า เมืองพรหมบุรีมาก เมื่อเสด็จกลับพระยาอภัยราชากราบบังคมทูลขอชื่อพระราชทานคณะแม่ชุดนี้ จึงได้รับพระราชทานชื่อว่าแม่ครัวหัวป่า จากนั้นไม่ว่าจะเสด็จไปแห่งใด มักจะเอ่ยถึงแม่ครัวหัวป่าอยู่เนือง ๆ ต่อมาทรงพระราชดำริอยากได้แม่ครัวหัวป่ามาทำเครื่องเสวยในวังหลวง คุณหญิงโหมดจึงจัดอำแดงเกลี้ยง อำแดงอึ่ง มาถวายเป็นแม่ครัวเครื่องคาว และจัดให้อำแดงหงส์ และอำแดงสินเป็นแม่ครัวเครื่องหวาน
ประวัติของวัดกล่าวไว้ว่า
ประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า สมัยพระอภัยราชา จากมณฑลอยุธยา ได้ไปเยี่ยมพรหมบุรีบ่อย ๆ และประทับใจในการต้อนรับการจัดอาหารการกินเป็นอันมาก จึงนำคณะศรัทธามาสร้างโบสถ์ ศาลา ให้วัดชลอน ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่กลางตำบล เมื่อปี 2451 ในปีถัดมาจึงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินที่วัดชลอนนี้ ทางเมืองพรหมบุรีก็ได้จัดการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องเสวย คุณหญิงโหมดทำหน้าที่หัวหน้าแม่ครัวฝีมือเยี่ยมเป็นผู้ปรุงอาหาร

ระยะเวลาที่กำเนิดคำนี้ขึ้น ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452)
หลักฐานในการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดชลอนใน ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452)
หลานสาลินี มานะกิจ ได้โทรศัพท์แจ้งข่าวให้ทราบเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2540 ว่า ได้ไปสอบถามที่ห้องสมุดสำนักราชเลขาธิการแล้ว ได้รับคำชี้แจงว่า หนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452-ส.) นั้น ยังมิได้มีการจัดพิมพ์ ประกอบกับไม่มีโอกาสที่จะไปค้นราชกิจจานุเบกษาประจำปี 2452 ที่หอสมุดแห่งชาติ จึงไม่ทราบว่า ในปี พ.ศ. 2452 นั้น รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดชลอนตามคำกล่าวอ้างนั้นจริงหรือไม่
ข้อที่พึงสังเกต สิ่งที่คลาดเคลื่อนในประวัติของจังหวัดสิงห์บุรีตามที่บทความนี้อ้างอิง
1. พระอภัยราชา จากมณฑลอยุธยา
1.1 ท่านผู้นี้จะเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างใด ไม่ทราบได้ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราชทินนามว่า อภัยราชา จะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา คือ เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลัง  ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น คือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภสุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านเป็นพระยาอินทราธิบดีศรีหราชรองเมือง
1.2 คุณหญิงโหมด ไม่ทราบว่าเป็นคุณหญิงของท่านผู้ใด เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น นอกจากเอกภริยา ที่สามีมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาแล้ว ผู้ที่เป็นคุณหญิงด้วยได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน โดยที่สามีมิได้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เท่าที่นึกได้ในขณะที่พิมพ์บันทึกเรื่องนี้ ก็มีอยู่เพียง 2 ท่าน คือ
1.2.1 คุณหญิงเลื่อนฤทธิ์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภรรยานายพันเอกหลวงฤทธิ์นายเวร (พุฒ เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
1.2.2 คุณหญิงอุ๊น มหิบาลบริรักษ์ เมื่อสามียังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมบริรักษ์ ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นบิดามารดาเลี้ยงของ (เจ้า) หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
2. ข้อความที่ว่า นำคณะศรัทธามาสร้างโบสถ์ ศาลา ให้วัดชลอนเมื่อ พ.ศ. 2451
วัดนี้น่าจะมีโบสถ์และศาลามาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจาก
2.1 เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในภูมิลำเนาของพระพิมลธรรม (อ้น) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่านคงจะต้องเป็นผู้อุปถัมภ์วัดนี้ ดังที่ปรากฎในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2
2.2 วัดนี้น่าจะเจริญมาช้านานแล้ว เพราะปรากฏว่า ได้รับพระราชทานกิ่งตอนต้นโพธิ์จากวัดนิเวศน์ธรรมประวัติบางปะอิน มาปลูกจนเจริญใหญ่โต ต้นโพธิ์นี้รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเพาะเมล็ดเองแต่เมื่อก่อนเสวยราชย์ ต่อมาได้นำไปปลูกไว้ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงผนวชได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ วัดเมื่อ พ.ศ. 2426 ก็ได้ทรงรับหน้าที่ดูแลต้นโพธิ์นี้ด้วย
3. ข้อความที่ว่าพระสิงห์บุรีเป็นเจ้าเมือง ... เจ้าเมืองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสิงห์บุรีรักษ์
ทำเนียบข้าราชการหัวเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น
3.1 ผู้ว่าราชการเมืองสิงห์บุรี มีราชทินนามว่า พระพิศาลสงคราม
3.2 ผู้ว่าราชการเมืองพรหมบุรี มีราชทินนามว่า พระพรหมประสาทศิลป์
3.3 ผู้ว่าราชการเมืองสรรค์บุรี มีราชทินนามว่า พระสรรค์บุรานุรักษ์
เครื่องเสวยที่ชาวบ้านหัวป่า จังหวัดสิงห์บุรี จัดทำถวายรัชกาลที่ 5 (เพิ่มเติม)
เครื่องเสวยที่ชาวบ้านหัวป่า จังหวัดสิงห์บุรี จัดทำถวายรัชกาลที่ 5 ตามที่ท่านประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรี ได้กล่าวรายละเอียดไว้ว่า เครื่องคาวมี แกงมัสมั่น แกงบอน ปลาร้าต้มหัวตาล ขนมจีนน้ำยา ส่วนเครื่องหวานมี ขนมปิ้ง สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน ข้าวตอกน้ำกะทิ
เมื่อได้พิจารณารายละเอียดเครื่องเสวยแต่ละอย่างแล้ว มีข้อคิดเห็นดังนี้
แกงมัสมั่น เป็นแกงที่ต้องใส่เครื่องเทศ คือ ยี่หร่า แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นแกงที่มาจากต่างประเทศ มิใช่แกงพื้นบ้านอย่างแน่นอน และน่าจะเป็นแกงที่ออกจากในรั้วในวัง ไปสู่ชาวบ้าน ดังจะเห็นได้จากบทกาพย์เห่เรือ ตอนชมเครื่องคาว เมื่อเป็นเช่นนี้ฝีมือชาวบ้านหรือจะสู้ฝีมือชาววังผู้เป็นต้นตำรับได้
แกงบอน ในสมัยก่อนถือกันว่า หากผู้ใดสามารถจะแกงบอน และแกงบวน (ที่ใส่เครื่องในหมูได้แล้ว ถือกันว่าผู้นั้นสำเร็จวิชาการครัวชั้นสูง)
ปลาร้าต้มหัวตาล นี่เป็นเครื่องคาวพื้นบ้านอย่างแน่นอน เพราะทั้งปลาร้าและหัวตาลมีอยู่ตามบ้านนอก ในกรุงเทพฯ ในอายุของผู้บันทึกเคยเห็นต้นตาลอยู่เพียง 2 แห่ง คือ
1. อยู่ในสนามหน้าพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 1 ต้น และในบริเวณกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่าอีก 1 ต้น เป็นต้นตาลที่ปลูกขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันถูกฟ้าผ่ายอดตายหมดแล้วทั้งสองต้น
2. อีกต้นหนึ่งอยู่ที่ปลายเนิน คลองเตย หม่อมราชวงศ์โต (งอนรถ) จิตรพงศ์ พบว่างอกขึ้นตั้งแต่สมัยที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ย้ายจากวังท่าพระ ไปประทับ ณ วังปลายเนินใหม่ ๆ เมื่อแรกพบหม่อมราชวงศ์โต (งอนรถ) จิตรพงศ์ ท่านกล่าวว่า หากต้นตาลออกลูกจะมีละครทำขวัญ ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้จะยังคงมีอยู่หรือไม่
ขนมจีนน้ำยา มีทั้งชาววังและชาวบ้าน ผู้ที่มีฝีมือในการทำน้ำยาในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่าที่ปรากฏหลักฐานในขณะนี้มีอยู่ 2 ท่านด้วยกัน คือ
1. ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) มีฝีมือในการทำน้ำยาไก่ เล่ากันว่า ... ท่านเคยตั้งเครื่องอยู่บ้างเป็นครั้งคราว บางคราวมิได้ตั้งก็มีรับสั่งขอครั้งหนึ่งท่านทำน้ำยาไก่ถวายในโอกาส เช่น โปรดเกล้าฯ พระราชทานธูปเทียนบูชาฝีมือและมีพระราชดำรัสยกย่องมาก ... [จากประวัติท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) พระนิพนธ์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต]
2. หม่อมราชวงศ์แปลก พึ่งบุญ พระพี่เลี้ยงในจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สังขยา ทองหยิบ ฝอยทอง นั้นล้วนแต่เป็นของฝรั่ง ที่ตามประวัติกล่าวว่า ท้าวทองกีบม้า ภรรยาเจ้าพระยาวิชเยนทร์นำเข้ามาเผยแพร่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แสดงว่าเป็นของจากวังสู่บ้านอีกเช่นเดียวกัน
ขนมปิ้ง ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร
ส่วนข้าวตอกน้ำกะทินั้นเป็นของหวานพื้นบ้านอย่างแน่นอน แต่กรรมวิธีในการทำก็มิได้วิจิตรพิสดารเป็นพิเศษแต่อย่างใด
จะเห็นได้ว่าเครื่องเสวยทั้งเครื่องคาวและเครื่องหวาน ที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นของที่มีกำเนิดจากวังสู่บ้านประการหนึ่ง มีรายชื่อผู้มีฝีมือที่เป็นชาววัง ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่อีกประการหนึ่ง
และหากรัชกาลที่ 5 โปรดเสวยฝีมือการทำเครื่องเสวยของชาวบ้านหัวป่าจังหวัดสิงห์บุรี จนถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามารับราชการเป็นพนักงานห้องพระเครื่องต้นใน พ.ศ. 2452 จริงแล้วไซร้ เหตุไฉนหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล (ขณะนั้นมีชันษา 24 ปี-ส.) จึงได้ทรงบันทึกเหตุการณ์ก่อนวันที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จสวรรคตเพียงไม่กี่วันไว้ว่า
... ในวันพุธที่ 19 ตุลาคม (พ.ศ. 2453-ส.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี-ส.) จะเสวยเครื่อง ให้ จัดเป็นกระทงสังฆทาน (คือกระทงใบใหญ่เย็บด้วยใบตองสดสำหรับใส่ข้าวสุก มีใบตองเป็นฝา วางกระทงใบเล็กใส่อาหารคาว-หวานไว้ อีกชั้นหนึ่งสำหรับถวายสังฆทานพระสงฆ์ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีถังและอับพลาสติก-ส.) ตอนกลางวันจะเสวยขนมจีนน้ำยา โปรดฝีมือหม่อมราชวงศ์แปลก พึ่งบุญ ในวันนั้นเสวยขนมจีนน้ำยาได้มาก ถึงกับรับสั่งให้เก็บไว้ตั้งเครื่องใหม่ในตอนค่ำ ...
บันทึกเรื่อง แม่ครัวหัวป่าก์
เรื่องแม่ครัวหัวป่าก์ ตามคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดชลอน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี นั้น เท่าที่ทราบได้ เคยมีผู้นำมาเขียนเผยแพร่แล้วจำนวน 3 ราย คือ
1. วิศนุ  ทรัพย์สุวรรณ เขียนลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารแม่บ้านทันสมัย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2536 ในครั้งนั้นได้รับคำท้วงติง จาก ส.พลายน้อย (อาจารย์สมบัติ พลายน้อย) ซึ่งผู้เขียนได้ชี้แจงว่า เขียนไปตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสวัดชลอน โดยมิได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
2. นายเพทาย ไชยดิษฐ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสิงห์บุรี เขียนลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารกรมประชาสัมพันธ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ประจำสิงหาคม 2540 และท่านเปรียญ 7 ได้นำมาเผยแพร่ในคอลัมน์พูดไทย-เขียนไทย หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
3. นายชัชวาล ซินซาคำ ได้เขียนบทความเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุรัฐสภาใน พ.ศ. 2541 และกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ จำนวน 48,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายไปยังสถานศึกษา หน่วยงาน และห้องสมุดต่าง ๆ ในหนังสือชุดความรู้ภาษาไทย ภาษาไทยวันนี้ เมื่อ พ.ศ. 2542 สำหรับให้นักเรียน นักศึกษา สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า รวมทั้งครูอาจารย์ ได้นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ตลอดจนสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ได้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม (จากคำนำของอธิบดีกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)
ผู้บันทึกได้เสนอข้อคิดเห็นเรื่องนี้พร้อมทั้งบันทึกรายละเอียดที่ได้ศึกษาค้นคว้า ไปให้ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทราบตามจดหมายฉบับที่ 3/2544 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544
ต่อมาสถาบันภาษาไทย ได้ตอบตามหนังสือที่ ศธ. 0609-9476 เรื่องขอขอบคุณในการจัดส่งเอกสาร ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2544 มีความตอนหนึ่งว่า
"ส่วนที่มีข้อเสนอแนะท้วงติงหนังสือของกรมวิชาการนั้น ขอน้อมรับไว้พิจารณา และได้มีการปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ไขตามควรแก่กรณี เช่น เมื่อมีการจัดพิมพ์ครั้งใหม่ เป็นต้น"
ผู้บันทึกจึงได้เรียนเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ไปยังผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย ตามจดหมายฉบับที่ 9/2544 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2544 มีความตอนหนึ่งว่า
"1. ตำรา หรือเอกสารทางวิชาการนั้น เมื่อได้จัดพิมพ์เผยแพร่ออกไปแล้ว หากมีสิ่งที่ผิดพลาด น่าจะได้พิจารณาหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน ไม่ควรจะปล่อยให้ล่าช้า เพราะจะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ที่ผิดพลาด หรือนำไปอ้างอิงกันอย่างแพร่หลายต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น
2. หากจะรอแก้ไข ด้วยวิธี เมื่อจัดพิมพ์ครั้งใหม่นั้น ผมเห็นว่าน่าจะเข้าทำนองที่ว่า กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เพราะจะมีโอกาสได้จัดพิมพ์ครั้งใหม่อีกเมื่อใดก็ไม่สามารถจะกำหนดได้ เรื่องนี้จึงน่าจะได้พิจารณาตามคำของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว"
3. เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2544 นี้ ผู้บันทึกได้อ่านพบคอลัมน์ร้อยเรื่องเมืองไทย ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันอาทิตย์ แจ้งว่า รายการรอยไทย ของธนาคารศรีนครจะได้นำเรื่องแม่ครัวหัวป่าก์ มาเผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. แต่ผู้บันทึกไม่มีโอกาสได้ชมรายการดังกล่าว จึงไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับที่ทั้ง 3 ท่านข้างต้นได้เคยนำมาเผยแพร่แล้วหรือไม่ หากเป็นเรื่องทำนองเดียวกันแล้ว ก็แสดงว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องของเรื่องแม่ครัวหัวป่าก์ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง จนยากที่จะแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ตามที่ผู้บันทึกได้คาดการณ์ไว้แต่ต้น สมดังคำกล่าวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า
"พรุ่งนี้ก็ช้าไปเสียแล้ว"
จึงได้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานต่อไป
***************************************************************
พันโทสุจิตร ตุลยานนท์
164 ซอยราชทรัพย์ ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 แขวงบางโพ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ตำนานวิทยุไทย เครื่องมือสร้าง-ชาติ

ตำนานวิทยุไทย เครื่องมือสร้าง-ชาติ

การกระจายเสียงทางวิทยุเพื่อบริการสาธารณะ ถือฤกษ์อย่างเป็นทางการถือเอาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 อันเป็นวันฉัตรมงคลในรัชกาลที่ 7 เป็นจุดเริ่มต้นของ "การกระจายเสียง" 

แต่พัฒนาการของวิทยุไทยเริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นเกือบ 30 ปี เป็นพัฒนาการที่ตามติดวิวัฒนาการของวิทยุโลกแบบทันทีทันใดเช่นเดียวกับการพัฒนาทางด้านอื่น ๆ ของสยามในรัชกาลที่ 5

กำเนิดวิทยุตรงกับรัชกาลที่ 5
จุดกำเนิดของวิทยุเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เจมส์ คล้าค แมกซ์ เวลล์ (James Clerk Maxwell) ชาวสกอตแลนด์ ค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในปี 2407 ต่อมาอีก 22 ปี คือในปี 2429 รูดอล์ฟ ไฮน์ริช เฮิรตซ์ (Rudolph Heinrich Hertz) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จึงคิดผลิตเครื่องที่เอาคลื่นไฟฟ้าในอากาศของแมกซ์เวลล์มาใช้ประโยชน์ได้ โดยตั้งชื่อสิ่งที่ค้นพบนี้ว่า Hertzain Waves และต่อมาการเรียกคลื่นวิทยุก็ใช้ชื่อ "เฮิรตซ์" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

ต่อมาในปี 2438 กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ชาวอิตาเลียน ได้นำเอาทฤษฎีของเฮิรตซ์มาทดลองถ่ายทอดกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณ เครื่องมือทดลองในเบื้องต้นมีเพียงแบตเตอรี่ ลวดทองแดง แผ่นทองแดง และว่าว โดยมาร์โคนีนั่งเรือจากเกาะอังกฤษไปขึ้นบกที่นิวฟันด์แลนด์ แล้วเอาว่าวที่สายป่านเป็นลวดทองแดงชักขึ้นไปในอากาศ สายลวดทองแดงจึงเปรียบเสมือนสายอากาศนั่นเอง โดยทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับ ซึ่งมาร์โคนีได้คิดค้นไว้แล้ว

ผลสำเร็จในครั้งนั้นมีเพียงเสียงครืด ๆ เท่านั้น แต่นั่นคือเสียงแห่งความสำเร็จ และเป็นเสียงแรกสำหรับชาวโลกจากเครื่องรับวิทยุ

ตลอดเวลามาร์โคนีก็ได้ทำการทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ ใช้เวลาอยู่ 3 ปี มาร์โคนีก็สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศให้คนได้ฟังเมื่อต้นปี 2441 แม้จะเป็นการออกอากาศได้ในระยะไม่ไกลนัก แต่หนังสือพิมพ์ Daily Express ในลอนดอน ก็ได้ซื้อเครื่องรับส่งของมาร์โคนีเพื่อการทำข่าวไว้ 1 ชุด ต่อจากนั้นมาร์โคนีก็ได้ปรับปรุงเครื่องส่งวิทยุเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จในการส่งวิทยุกระจายเสียงข้ามช่องแคบอังกฤษได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2442 อีกหนึ่งปีต่อมามาร์โคนีก็เพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องส่งสามารถส่งกระจายเสียงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จ

เครื่องรับวิทยุสมัยแรกเป็นวิทยุแร่ ผู้ฟังต้องใช้เครื่องฟังครอบหู เพราะเครื่องรับในขณะนั้นทั้งไม่ชัดเจน และเสียงเบามาก ผู้แก้ปัญหานี้คือ จอห์น แอมโบรส เฟลมมิง (John Ambrose Fleming) ได้นำเอาหลอดไฟฟ้าของโธมัส เอดิสัน มาใช้เป็นหลอดวิทยุแทนแร่ ผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในปี 2447 ทำให้วิทยุกระจายเสียงส่งคลื่นได้ไกล และรับฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

กำเนิดวิทยุในสยาม ยุควิทยุโทรเลข และวิทยุโทรศัพท์
แทบไม่น่าเชื่อว่าในปีเดียวกับที่เฟลมมิงประดิษฐ์วิทยุหลอดสำเร็จ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของสยาม บริษัทเทเลฟุงเก้น (Telefunken) ซึ่งมีห้างบีกริมเป็นผู้แทนในสยาม ก็ได้ติดต่อกับกระทรวงโยธาธิการว่า จะให้นายช่างวิทยุเดินทางมาพร้อมกับเครื่องรับส่งวิทยุ 2 สำรับ เพื่อมาทดลองให้รัฐบาลสยามดู
ทางรัฐบาลสยามไม่ขัดข้องแต่ประการใด

นายช่างวิทยุของบริษัทเลเลฟุงเก้นจึงได้จัดตั้งสถานีวิทยุชั่วคราวขึ้นที่ภูเขาทองแห่งหนึ่ง และที่เกาะสีชังแห่งหนึ่ง แต่ผลออกมาไม่ดีดังคาด

ในเวลาเดียวกันนี้การสื่อสารด้วยโทรเลข และโทรศัพท์โดยใช้สายโลหะเป็นสื่อนั้น บางครั้งก็มีอุปสรรคในการเชื่อมโยงด้วยภูมิประเทศกันดารยากแก่การวางสาย หรือในทางยุทธศาสตร์หากถูกตัดสายโทรเลข หรือโทรศัพท์ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ เมื่อวิทยาการทางด้านวิทยุก้าวหน้าขึ้นและสามารถใช้คลื่นวิทยุแทนสายโลหะในการเชื่อมโยงได้นั้นจึงได้รับความสนใจจากทางการเป็นพิเศษ

กองทัพเรือเป็นหน่วยงานแรกที่สั่งซื้อเครื่องรับส่งวิทยุแบบมาร์โคนีมาใช้ในราชการ ในปี 2450 และในปีเดียวกันนี้เจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม และเสนาธิการทหารบก ได้ออกไปราชการ ณ กรุงเฮก เมื่อกลับมาจึงได้นำเครื่องวิทยุโทรเลขสนามแบบมาร์โคนีมาใช้ในกองทัพบก
ในรัชกาลที่ 6 ปี 2455 พระสรรพกิจปรีชาเป็นผู้แทนสยามไปร่วมประชุมสากลวิทยุครั้งที่ 2 ที่ประเทศอังกฤษ (ครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี ในปี 2449 ผู้แทนสยามคือ H.Keuchenius ที่ปรึกษาฑูตไทยในกรุงเบอร์ลินเป็นผู้แทน) กฎสากลของวิทยุฉบับที่ได้มาครั้งที่ 2 นี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลเป็นภาษาไทยว่า "ราดิโอโทรเลข"

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า "วิทยุ" แทนคำ "ราดิโอ"
ปีต่อมา 2456 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขขึ้น 2 สถานี คือ ที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพฯ และที่จังหวัดสงขลาอีกแห่งหนึ่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรเลขของราชการแห่งแรกในสยาม ที่ตำบลศาลาแดง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2456 และได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานส่งทางวิทยุโทรเลขถึงกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งประทับอยู่ที่สถานีสงขลา

พระราชหัตถเลขาฉบับปฐมฤกษ์ เป็นภาษาอังกฤษมีข้อความว่า
GREETING TO YOU ON THIS,
WHICH WILL BE ONE OF THE MOST IMPORTANT DAY IN OUR HISTORY

ในขณะที่กิจการวิทยุกำลังเติบโต แต่ดูเหมือนว่ากิจการนี้ยังคงเป็น "สมบัติของทหาร" อยู่ เพราะได้มีพระราชบัญญัติวิทยุโทรเลขฉบับแรก พุทธศักราช 2457 ห้ามไม่ให้เอกชนมีเครื่องรับวิทยุไว้ในครอบครอง

ปี 2462 ทางการเปิดให้ประชาชนสามารถใช้บริการวิทยุโทรเลขได้ โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ทำความตกลงกับกระทรวงทหารเรือ ขอให้สาธารณะใช้วิทยุโทรเลขในพระนคร และสงขลาได้ ต่อมาจึงมีการโอนสถานีทั้งสองของทหารเรือมาขึ้นกับกรมไปรษณีย์โทรเลข ในวันที่ 1 สิงหาคม 2469 แล้วโอนพนักงานวิทยุทหารเรือ มาเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกรมไปรษณีย์ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ค่อยมีประชาชนมาใช้บริการ เพราะขณะนั้นคนยังไม่ยอมเชื่อว่าการติดต่อโดยทางวิทยุโทรเลขนี้จะเป็นไปได้จริง
กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ผู้ทรงริเริ่มยุควิทยุกระจายเสียง

กิจการ "วิทยุกระจายเสียง" ในสยามเริ่มต้นขึ้นในปี 2471 โดยพระดำริของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงคมนาคม ทรงสั่งเครื่องส่งวิทยุขนาดกำลังส่ง 200 วัตต์ เข้ามาทดลองใช้ จากนั้นจึงทรงตั้งสถานีวิทยุขึ้นที่ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ โดยให้อยู่ในความควบคุมของกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข
เครื่องส่งนี้เริ่มออกอากาศในวันที่ 30 พฤษภาคม 2471 นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นในประเทศสยาม ในครั้งนั้นมีขนาดคลื่น 36.42 เมตร เรียกกันว่า "คลื่นสั้น" (High Frequency) สัญญาณเรียกขานชื่อสถานีคือ "4 พี.เจ." (HS4PJ) HS คือ รหัสประจำประเทศ PJ คือ บุรฉัตรไชยากร (Purachatra Jayagara) ในเวลานั้นคาดว่ามีเครื่องรับวิทยุของเอกชนอยู่ไม่เกิน 10 เครื่อง

ต่อมากองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ย้ายที่ทำการจากตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขหลังเก่า ไปทำการที่สถานีวิทยุศาลาแดง (มุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4) ซึ่งเวลานั้นเป็นของกองทัพเรือ และเปลี่ยนไปใช้คลื่น 29.5 เมตร กำลังส่ง 500 วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกขานประจำสถานีว่า "2 พี.เจ." แต่ก็ปรากฏว่าผลการรับฟังวิทยุกระจายเสียงบริเวณรอบ ๆ กรุงเทพฯ ไม่ชัดเจน และมีอาการขาดหายเป็นช่วง ๆ กองช่างวิทยุที่ศาลาแดงจึงได้ประกอบเครื่องส่งวิทยุขึ้นเอง มีกำลังส่งสูงขึ้นเป็น 1 กิโลวัตต์ ขนาดความยาวคลื่น 320 เมตร เป็นคลื่นความถี่ปานกลาง (Medium Frequency) ใช้สัญญาณเรียกขาน "หนึ่ง หนึ่ง พี.เจ." (HS11PJ) ทางด้านเครื่องรับวิทยุหากเป็นเครื่องประดิษฐ์เอง หรือวิทยุแร่ ว่ากันว่าเสียงจะดังเหมือน "แมลงหวี่" แต่ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนมากขึ้นสำหรับของใหม่ชิ้นนี้

เมื่อประชาชนสนใจสร้างเครื่องรับวิทยุกันมากขึ้น เป็นชนิดเครื่องแร่ใช้หูฟัง แต่ก็มีผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้ผลิตวิทยุออกจำหน่ายเป็นเครื่องแร่ขยาย คือ ชนิดมีเสียงไม่ต้องใช้หูฟัง

เมื่อการรับฟังวิทยุแพร่ขยายมากขึ้น กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ จึงทรงสั่งทำเครื่องมีกำลังส่งมากขึ้น เป็นขนาด 2.5 กิโลวัตต์ ขนาดคลื่น 350 เมตร ความถี่ 826.44 กิโลเฮิรตซ์ ราคา 80,000 บาท ของบริษัทฟิลิปราดิโอ ประเทศฮอลันดา แล้วได้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่บริเวณทุ่งนาหน้าโฮเต็ลพญาไท (วังพญาไท หรือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน) เหตุที่เลือกที่นี่ก็เพราะที่ศาลาแดงนั้นคลื่นวิทยุจะถูกรบกวนจากคลื่นโทรเลข ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกัน และต้องสร้างห้องส่งขึ้นใหม่เพื่อป้องกันเสียงรบกวน แต่ที่ทุ่งนาพญาไทยนั้นเป็นที่ห่างไกลชุมชน ไม่มีเสียงรบกวนจึงไม่ต้องสร้างห้องส่งเป็นพิเศษ

สถานีวิทยุแห่งนี้ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phyathai ) ทำพิธีเปิดในวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 อันเป็นวันฉัตรมงคลในรัชกาลที่ 7 ทำการกระจายเสียงถ่ายทอดพระราชดำรัสจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง มีไมโครโฟนตั้งรับกระแสพระราชดำรัส ณ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ แล้วส่งไปยังสถานีพญาไท นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย พระราชดำรัสอันเป็นปฐมฤกษ์มีความตอนหนึ่งว่า

"... การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย การบันเทิงแก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้ เราให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ได้สั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีเข้ามาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทยเสร็จแล้ว เราจึงขอถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป ..."

พระราชบัญญัติที่ได้ทรงแก้ไขคือ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเครื่องรับวิทยุเพื่อรับฟังการกระจายเสียงได้ ในปีเดียวกันนี้ก็ปรากฏว่าทางฝ่ายยุโรปก็กำลังนิยมเล่นวิทยุกระจายเสียงกันทุกประเทศ ปีต่อมาคือปี  2474 ผลสำรวจเครื่องรับวิทยุในประเทศสยาม ปรากฏว่ามีเครื่องรับวิทยุ 11,007 เครื่อง ซึ่งประชากรขณะนั้นมีประมาณ 11 ล้านคน เครื่องรับวิทยุในสมัยนี้นอกจากจะเป็นชนิด "วิทยุแร่" ซึ่งใช้กันทั่วไปแล้ว ยังมีเครื่องรับอย่างดีเป็นตู้ไม้ขนาดต่าง ๆ มีปุ่มเปิดปิด ปรับระดับเสียง และปุ่มหมุนหาคลื่น ส่วนคุณภาพเสียงนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ว่า

"... เครื่องรับวิทยุสมัยนั้นเวลาแรกเปิดมันส่งเสียงโกร๊กกร๊ากโว้ยว้าย เขาว่าเป็นด้วยอากาศ รำคาญหูเปรียบเหมือนถูกมีดเชือดอยู่กว่านาที เสียงซึ่งอยากฟังจึงมาถึงเมื่อเวลาเกิดเบื่อเสียแล้ว ถึงเสียงที่ส่งมาในสมัยนั้นก็ยัง "อ้อแอ้" แต่พอฟังได้ความ ..."

สถานีวิทยุแห่งชาติ ยุคกรมโฆษณาการ
เมื่อวิทยุใช้การได้ดี บทบาทและหน้าที่จึงเปลี่ยนไปกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญทางการเมือง ประเทศสยามเริ่มต้นระบบประชาธิปไตยด้วยการยึดสถานีวิทยุของคณะราษฎร เพื่อใช้ออกประกาศต่าง ๆ ในสมัยต่อมาก็ยังยึดถือเป็นธรรมเนียมในการ "ประกาศคณะปฏิวัติ" ก่อนที่โทรทัศน์จะเข้ามามีบทบาทแทน

ความสำคัญในการโฆษณา (ชวนเชื่อ) มีความสำคัญมาก ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง และทางสังคม 3 พฤษภาคม 2476 จึงมีการจัดตั้ง "กรมโฆษณาการ" ขึ้น ในความควบคุมของคณะรัฐมนตรี และได้เปลี่ยนเป็น "สำนักโฆษณาการ" ในวันที่ 9 ธันวาคม 2476 สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ผลของการมีวิทยุทำให้ในปี 2477 มีการออกประกาศกระทรวงกลาโหม โดยนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยกเลิกการยิงปืนเที่ยงเพื่อบอกเวลา

หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2481 สำนักโฆษณาการจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมโฆษณาการในปี 2483

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้วิทยุเป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมือง เพื่อสร้าง "ลัทธิผู้นำ" โดยเฉพาะรายการสนทนาของนายมั่น นายคง ที่เริ่มกระจายเสียงตั้งแต่ปี 2482 เป็นรายการสนทนาด้วยภาษาง่าย ๆ สลับด้วยเพลงปลุกใจความยาวประมาณ 30 นาที ออกกระจายเสียงเวลา 19.00 น. ทั้งนี้หัวข้อ และแนวทางรายการส่วนหนึ่งจะมี "ใบสั่ง" มาจากจอมพล ป. โดยตรง เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชการกรมโฆษณาการเมื่อได้เห็น "ซองเหลือง" มาถึง นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังพูดกระจายเสียงด้วยตนเอง และส่งบทความไปออกอากาศอยู่อย่างต่อเนื่องในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ความพยายามที่จะสร้างสำนึกเรื่อง "ชาติ" ยังส่งผลให้ "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" ต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น "สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย" ในปี 2484  ยังได้มีคำสั่งให้ทุกจังหวัดต้องมีวิทยุกระจายเสียงเปิดให้ประชาชนฟัง รัฐบาลพยายามชักชวนให้ประชาชนฟังวิทยุซึ่งเป็นปากเสียงสำคัญของรัฐบาล หนังสือพิมพ์สร้างตนเอง ของกรมประชาสัมพันธ์ ปี 2485 มีแผ่นภาพโฆษณาเป็นบทสนทนาระหว่างหญิงชายชักชวนให้ฟังวิทยุดังนี้

ฝ่ายหญิงถามว่า "เอ๊ะนั่นแต่งตัว จะไปไหนจ๊ะ" ชายตอบว่า "ฉันจะไปฟังวิทยุหน่อย จะได้รู้เรื่องราวติดต่อทางความคิด และทางทำงานให้พร้อมเพรียงกันทั้งชาติ"

แต่แล้วกิจการวิทยุก็ต้องหยุดชะงักไปเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น 14 เมษายน 2488 โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสนถูกระเบิดเสียหาย เป็นเหตุให้การส่งวิทยุของกรมโฆษณาการต้องหยุดชะงักไป

กิจการวิทยุกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังสงครามสงบ 4 มิถุนายน 2489 แผนกช่างวิทยุตั้งสถานีวิทยุทดลอง 1 ป.ณ. ของกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยเสงี่ยม เผ่าทองสุข โดยทดลองใช้ความถี่ต่าง ๆ พร้อมกัน 4 เครื่องทั้งคลื่นยาว และคลื่นสั้น ทำให้รับฟังได้ทั่วประเทศ สถานีวิทยุ 1 ป.ณ. จึงเป็นสถานีวิทยุแห่งแรกที่ส่งกระจายเสียงควบคู่ไปกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมโฆษณาการ

บันเทิงเริงรมย์ ยุคกรมประชาสัมพันธ์
เครื่องรับวิทยุสมัยหลังสงครามเป็นวิทยุเครื่องใหญ่ใช้ถ่านคราวละมาก ๆ ถึงกับต้องมีกล่องใส่แบตเตอรี่ต่างหากจากตัวเครื่อง เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น และถูกจำกัดการใช้ แต่ยุคหลังสงครามนี่เองที่ทั้งละครวิทยุ และเพลงลูกทุ่งได้ถือกำเนิดในโลกวิทยุอย่างมากมาย ในขณะที่เครื่องส่งวิทยุก็พัฒนาให้ส่งได้ทั้งระบบ A.M. และ F.M. ในปี 2495 ที่กรมโฆษณาการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ขณะนั้นวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยสามารถกระจายเสียงไปได้ทั่วประเทศ โดยมีสถานีวิทยุในระบบ A.M. 51 สถานี ระบบ F.M. 43 สถานี

ยุคก่อน 2500 นี้เองที่ละครวิทยุถือกำเนิดมาเป็นจำนวนมากมายหลายคณะ ประชาชนก็มีอาการ "ติดละคร" กันงอมแงม เช่น ในปี 2497 ละคร "ล่องไพร" บทประพันธ์ของน้อย อินทนนท์ ทำให้ผู้คนต้องเฝ้าติดอยู่กับวิทยุตลอดการออกอากาศ ส่วนคณะละครที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ คณะกันตนา ซึ่งแยกตัวมาจากคณะกันตถาวร โดยประดิษฐ์ กัลย์จาฤก พระเอกละครของคณะกันตถาวร ละครเรื่องแรกที่ออกอากาศ คือ เรื่อง "ระย้า" ของสด  กูรมะโรหิต ทางวิทยุเสียงจากทหารเรือ (ส.ท.ร.)

ความรุ่งเรืองของกิจการวิทยุ ทำให้มีการตั้งสถานีวิทยุเพื่อการค้ากันมากขึ้น ทำให้มีการโฆษณาสินค้าอย่างไร้การควบคุม ในปี 2506 อวสานของละครวิทยุก็มาถึง เมื่อมีคำสั่งห้ามโฆษณาทางวิทยุทุกสถานี ยกเว้น สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เพียงแห่งเดียว (สถานีวิทยุ ท.ท.ท. ตั้งขึ้นเมื่อ 31 มกราคม 2497 ของบริษัทไทยโทรทัศน์) ทำให้กิจการของคณะละครวิทยุต้องดับวูบลง

จนกระทั่งในปี 2511 จึงอนุญาตให้สถานีวิทยุมีโฆษณาได้ "แต่พอควร" กิจการวิทยุจึงกลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับการเติบโตของ "วิทยุทรานซิสเตอร์" และ "มนต์เพลงลูกทุ่ง"
**************************************
ปรามินทร์  เครือทอง

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปืด - เครื่องประโคมชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้

ปืด - เครื่องประโคมชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้

มีใช้กันมากแถวอำเภอปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อกันว่าเครื่องประโคมชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย แต่เข้ามาแพร่หลายในจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่น่าสังเกตว่าเครื่องประโคมชนิดนี้ชาวบ้านชาวเมืองไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เองที่บ้าน แต่จะสร้างไว้ที่วัดเท่านั้น จึงน่าจะเกี่ยวพันกับพิธีทางศาสนามากกว่าพิธีอย่างอื่นมาตั้งแต่โบราณ

ปืดมีลักษณะคล้ายคลึงกับตะโพน แต่ตะโพนมีรูปหัวท้ายสวยกว่าและมีขนาดโตกว่า ปืดมีลักษณะรูปทรงยาว มี 2 หน้า หุ้มด้วยหนัง หน้าหนึ่งโตกว่าอีกหน้าหนึ่งเพียงเล็กน้อย ร้อยโยงหนังหุ้มทั้ง 2 หน้าด้วยสายหนังดิบหรือด้วยตอกหวาย ปืดลูกหนึ่ง ๆ มีน้ำหนักมาก เพราะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน หลุมพอ ไม้มะหวด ไม้ขนุน เป็นต้น มักเรียกชื่อตามไม้ที่ทำ เช่น อ้ายหนุน อ้ายหลุมพอ เป็นต้น ภายในของตัวปืดเจาะเป็นรูปกรวย จากหน้าทั้งสองเข้าหากัน ให้ยอดกรวยที่เจาะพบกันที่กึ่งกลางหรือค่อนไปทางหัวหรือท้ายแล้วแต่เทคนิคของผู้ทำ เรียกส่วนที่พบกันนี้ว่า "คอสาก" ซึ่งจะเป็นรูขนาดกำหมัดหรือท่อนแขนพอลอดได้ ปืดที่ทำขึ้นมี 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก โดยประมาณขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางโต 12 นิ้ว หน้าเล็ก 11 นิ้ว ขนาดกลางหน้าโต 10 นิ้วครึ่ง หน้าเล็ก 9 นิ้วครึ่ง ขนาดเล็กหน้าโต 10 นิ้ว หน้าเล็ก 9 นิ้ว หนังที่ขึงตึงทั้ง 2 หน้าอาจใช้หนังชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันก็แล้วแต่สะดวก มักนิยมหนังค่าง หนังแมว หนังตะกวด หนังลูกวัวหลวน (วัวที่ออกมาก่อนครบกำหนด) โอกาสที่ใช้ปืด ใช้ในงานที่เกี่ยวกับพิธีทางศาสนาและประชันกันเพื่อความบันเทิงในบางโอกาส เช่น งานลากพระ (ชักพระ) สมโภชกฐิน (ซึ่งจะประโคมในคืนก่อนวันที่จะแห่องค์กฐินไปทอดจนตลอดคืน ที่เรียกว่า "คุมฐิน") และใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา การใช้ปืดประโคมในโอกาสดังกล่าวแล้วยังมีเครื่องประโคมอื่นประกอบด้วย ได้แก่ กลองใหญ่ ฆ้อง ระฆัง โดยใช้เสียงปืดนำ แล้วตามด้วยเสียงเครื่องประโคมอื่น เช่น "ป๊ะยั้ง  ป๊ะยั้ง  ป๊ะยั้ง  ยั้งป๊ะ  ยั้งยั้ง" หรือ "ยั้งป๊ะยั้ง  ยั้งป๊ะยั้ง" ตามด้วยเสียงฆ้อง ระฆัง กลอง ดังพร้อม "โหม่ง  เข้ง  ตุม" หรือ "ป๊ะยั้ง  โหม่ง  เข้ง  ตุม"

ผู้ทำปืดในสมัยก่อนส่วนมากมักเป็นพระโดยมีศิษย์และชาวบ้านเป็นผู้ช่วย เมื่อทำเสร็จก็ตีลองเสียง โดยเอาตัวปืดมาวางนอนตามยาวให้หัวท้ายออกข้าง ไว้บนขารองซึ่งทำด้วยไม้ เพื่อยกให้ตัวปืดสูงขึ้นจากพื้น ผู้ตีจะนั่งยอง ๆ แล้วตรวจดูหนังหุ้มทั้ง 2 ด้าน ดูเชือกร้อยโยงว่าคงทนแข็งแรงดีหรือไม่ สิ่งแรกที่จะต้องทำใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้พอหมาด ๆ เช็ดหน้าปืดทั้ง 2 ข้าง แล้วดึงเชือกร้อยโยงให้หนังหน้าตึงพอดี เพื่อให้ปืดมีเสียงดัง ต่อจากนั้นนำข้าวสุก 1 กำมือ ผสมกับขี้เถ้าทางมะพร้าว หรือขี้เถ้าไม้ปอ ไม้โมก เพราะมีน้ำหนักเบา มาบดผสมจนละเอียดและเหนียวจนได้ที่ เรียกกันว่า "เปียก"

การทำเปียกเพื่อให้เหนียวมากมีผู้นิยมใช้ข้าวเหนียวสุกเพราะมีความเหนียวดีกว่าใช้เมล็ดข้าวเจ้า เอาเปียกที่ได้ปิดหน้าใหญ่ของปืดที่จุดกึ่งกลางเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ใช้นิ้วมือกดเปียกให้หนาเท่ากันโดยตลอด จะทำให้หน้าปืดตึงขึ้นกว่าเดิม ถ้าประโคมเวลากลางวันระวังมิให้หน้าปืดเปียกหรือแห้งจนเกินไป เพราะจะทำให้เสียงไม่ไพเราะเท่าที่ควร ผู้ประโคมจะต้องหันหน้าปืดด้านโตไปทางขวามือของตนให้ระดับไหล่สูงกว่าปืดเล็กน้อย วิธีตีประโคม ใช้นิ้วมือซ้ายตีก่อน ป๊ะ แล้วตีตามด้วยมือขวา ยั้ง ขณะตีนิ้วมือทั้งสี่ชิดติดกัน เริ่มเสียงเบาก่อนค่อยให้เสียงดังขึ้นตามลำดับ ผู้ที่จะนั่งตีอย่างมีสมาธิและคอยฟังเสียงที่ดังตามไปด้วย เมื่อหยุดก็จะวิจารณ์เสียงที่ดัง จากนั้นก็ผลัดเปลี่ยนให้ผู้อื่นตีแทน ตนเองคอยฟังสลับกันไปหลายครั้ง จนเป็นที่แน่ใจว่ามีเสียงไพเราะตามต้องการจึงประโคมประกอบกับเครื่องประโคมอื่นดังกล่าวแล้ว

ส่วนการชันปืด (ประชันปืด) นั้นเกิดขึ้นจากผู้ทำปืดและพรรคพวกถือหางกันว่าปืดของวัดตนเสียงดังกว่าของวัดอื่น ต่างวัดต่างไม่ยอมกัน จึงนัดให้นำปืดพบกันที่วัดใดวัดหนึ่ง เพื่อประชันกันหลังจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นต้น ไปจนถึงวันแรม 2 ค่ำเดือน 11 เพราะในช่วงนี้ตามวัดต่าง ๆ มีขนมพอง ลา เหลือจากการทำบุญเดือน 10 กันวัดละมาก ๆ ชาวบ้านและศิษย์วัดจึงมาเที่ยวที่วัดในเวลากลางคืน เพื่อถือโอกาสรับประทานขนมของวัดไปในตัวด้วย ก่อนรับประทานขนมได้ตีปืดของวัดเพื่อเตรียมการลากพระแห่พระประจำปีในเดือน 11 แรม 1 ค่ำที่กำลังจะมาถึง จึงได้นัดหมายปืดจากหลายวัดมารวมกัน และตีฟังเสียงกันในเชิงสนุก ๆ ผลัดเปลี่ยนสถานที่กันไปเรื่อย ๆ วัดใดเป็นเจ้าของสถานที่ก็จัดเลี้ยงขนมกันตามธรรมเนียมไทย เมื่อนาน ๆ เข้าก็กลายเป็นการประชันกัน ถึงกับมีรางวัด และมีการพนันกัน การชันปืดมีขนบนิยมแปลกออกไป คือ ผู้ร่วมประชันกำหนดเวลาที่ว่างจากงาน หรือในงานแห่พระโดยนำปืดของตนพร้อมคณะไปยังสถานที่กำหนด ส่วนใหญ่เป็นที่วัด แต่มีตามทุ่งนาบ้างเพราะเงียบดี นำปืดเข้าตั้งรวมกัน แบ่งปืดตามขนาดใหญ่ กลาง เล็ก โดยถือหน้าโตของปืดเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงเสียงเล็กใหญ่ เลือกกรรมการขึ้นมา 3 - 4 คน ต้องรู้เรื่องปืดเป็นอย่างดี กรรมการจะไปยังจุดที่กำหนดฟังเสียงซึ่งอยู่ห่างจากจุดประชันประมาณ 2 กิโลเมตร โดยมีกลองและฆ้องเป็นเครื่องบอกผลการตัดสิน นอกจากนั้นยังมีกรรมการอีก 1 - 2 คน เป็นกรรมการหน้าปืด ทำหน้าที่ควบคุมปืดเข้าประชันกัน ก่อนการแข่งขันกรรมการยินยอมให้ตกแต่งหน้าปืด เกี่ยวกับการแต่งเปียกแต่งกายโยงดึงให้ตึงประมาณ 15 นาที เมื่อนำปืดเข้าที่ประชันแล้ว ห้ามตบแต่งหน้าปืดอย่างเด็ดขาด การประชันกันจะทำกันครั้งละคู่ ปืดที่วางอยู่หน้าเรียก "ปืดหลัก" ที่วางอยู่ข้างหลังเรียกว่า "ปืดยืน" เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่ม ปืดยืนประโคมก่อนแล้วปืดหลักตีตามสลับกันไป ปืดใบใดดังไปไกลเสียงใหญ่เสียงหวาน กลมแน่นเป็นใยยืดไม่ขาดห้วน ถือว่าดีกว่าก็ชนะ คณะกรรมการซึ่งอยู่ไกลฟังแต่เสียง จะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ตีปืดใบใดอาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลัก ก็จะตีสัญญาณถ้าปืดหลักชนะก็จะตีกลองเป็นสัญญาณชนะ ถ้าปืดยืนชนะก็จะตีฆ้องเป็นสัญญาณ จากนั้นก็สับที่กันให้ปืดหลักเป็นปืดยืน ปืดยืนเป็นปืดหลัก ถ้าปืดใดแพ้ 2 ครั้งเป็นอันตกรอบไป ถ้าผลัดกันแพ้ชนะต้องแข่งขันเป็นหนที่ 3 แต่ละคู่จะดำเนินการเช่นเดียวกันจนครบทุกคู่ ให้ตบแต่งหน้าปืดกันใหม่ เอาผู้ชนะพบกับชนะ แพ้พบแพ้ จนเหลือพวกละ 2 ใบ ในแต่ละประเภท เพื่อชิงชนะเลิศ ในการประชันให้ประชันนั่งหันหลังตามลม กรรมการนั่งฟังเสียงคอยฟังอยู่ใต้ทิศทางลมเช่นเดียวกัน เพื่อการฟังจะชัดเจนยิ่งขึ้น และเสียงปืดจะดังทางด้านหลังมากกว่าด้านหน้า

การเก็บปืดเมื่อหมดฤดูกาลแล้วมักเก็บไว้ตามหอฉัน บนกุฏิสมภาร ก่อนนี้เมื่อถึงเดือน 11 จะได้ยินปืดดังไปทั่วทั้งก่อนแห่พระและหลังแห่พระ ในการแห่พระจะมีปืดนับร้อย แต่ปัจจุบันร่อยหรอลงทุกที

โพน หรือ ตะโพน

โพน หรือ ตะโพน

คือ กลองทัดหรือกลองเพลของภาคกลางเป็นดนตรีประเภทเครื่องตี ในภาคใต้มีไว้ประจำตามวัดวาอารามเพื่อตีบอกเวลา ใช้ตีประโคมเรือพระในเทศกาลออกพรรษาหรือชักพระ เรียกว่า "คุมโพน" ใช้ตีประชันเสียงเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เรียกว่า "แข่งโพน" และนำไปเล่น "หลักโพน" โพนจะมีค่าเพียงใดขึ้นอยู่กับความนุ่มนวลและความดังของเสียง ซึ่งขึ้นอยู่กับการทำตัวโพน (หรือ "หน่วยโพน") กับวิธีหุ้ม

การทำหน่วยโพน
หน่วยโพน ทำด้วยไม้ที่มีเนื้อเหนียว แข็ง ไม่แตกง่าย เช่น ไม้ขนุน ไม้พยอม ไม้ตาลโตนด ฯลฯ โดยเลือกต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ฟุตครึ่งเป็นอย่างน้อย ตัดไม้เป็นท่อนให้ความยาวพอ ๆ กับเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อนไม้หรือยาวกว่าเล็กน้อย นำมาถากด้านนอกให้มีลักษณะสอบหัวสอบท้าย แต่งผิวให้เรียบแล้วเจาะตามแนวยาวตรงจุดศูนย์กลางให้ทะลุ ทะลวงรูให้กว้างขึ้นขนาดอย่างน้อยพอกำหมัดล้วงได้ จากนั้นใช้เครื่องมือขุดแต่งภายในให้รูผายกว้างออกเป็นรูปกรวยทั้ง 2 หน้า เรียกว่า "แต่งอกไก่" กะความหนาตรงปากโพนทั้ง 2 หน้าประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือ ให้เหล็กกลมเจาะรูรอบปากทั้งสองเพื่อใส่ลูกสัก รูนี้จะเจาะห่างจากขอบปากเข้ามาราว 2 นิ้ว และเจาะห่างกันราว 1.5 นิ้ว โดยเจาะให้ทะลุ ขนาดรูเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย เจาะรูที่กึ่งกลางโพน เอาเหล็กทำบ่วงร้อยสำหรับแขวน ต่อไปก็เตรียมอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการหุ้มโพนให้พร้อม ได้แก่

1. ลูกสัก
ทำด้วยไม้ไผ่ตงที่แก่จัด ตัดให้ด้านหนึ่งติดข้อ อีกด้านหนึ่งวัดให้ได้ขนาดสั้นกว่ารัศมีปากโพนสัก 1.5 นิ้ว ผ่าเป็นซี่สี่เหลี่ยมจำนวนเท่ารูใส่ลูกสักที่เจาะไว้ เหลาให้กลม ด้านที่ติดข้อแต่งให้หน้าตัดโค้งมน บากหัวทำมุม 90 องศา ตัดจากจุดบากราว 1 นิ้ว ค่อยแต่งให้เรียว แล้วตากแดดไว้ให้แห้ง

2. ปลอกหวาย 
ใช้สำหรับรัดหนังให้ตึงก่อนตอกลูกสัก ทำด้วยหวายเป็นขดกลมขนาดโตเท่าเส้นรอบวงของโพนบริเวณตัดเข้าไปจากรูใส่ลูกสัก

3. หนังหุ้ม
ใช้หนังวัวหรือหนังควายแล้วแต่ความเหมาะสม คือ ถ้าเป็นโพนขนาดใหญ่จะใช้หนังควาย เพราะผืนใหญ่และหนากว่าหนังวัว หนังต้องฟอกเสียก่อน การฟอกมีวิธีต่าง ๆ กัน เช่น นำหนังแช่น้ำในภาชนะ ทุบข่า รากต้นช้าพลูแล้วหมักไว้ 2 วัน หนังที่นำมาหมักนี้ต้องขูดขนออกเสียก่อน และต้องใช้ 2 ผืน

4. สถานที่วางโพนสำหรับหุ้ม
ปักหลักไม้ขนาดสูง 1.5 เมตร 4 อัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างกว่าขนาดโพนเล็กน้อย บากหัวไม้ด้านในเป็นมุม 90 องศาให้เสมอกัน (ถ้าบากไว้ก่อนก็ตอกให้เสมอกัน) เลื่อยหรือตัดไม้กระดานเป็นแผ่นกลมขนาดพอดีกับพื้นที่ระหว่างไม้หลักทั้ง 4 วางปูลงบนรอยบาก เรียกกระดานนี้ว่า "แป้น" หรือ "พื้น" สำหรับเป็นที่วางโพน ห่างจากหลักไม้ทั้ง 4 ออกไปราว 2 เมตร ปักหลักวางราวโดยรอบ ราวจะสูงจากพื้นไม่เกินแนวแป้น และราวแต่ละอันจะตอกสกัดด้วยไม้ง่ามหรือเรียกว่า "สมอบก" อย่างแข็งแรง หาไม้คันชั่งขนาดเท่าข้อมือยาวราว 2.5 เมตร ไว้ 7 - 8 อัน และเชือกหวายสำหรับผูก และดึงหนังสักจำนวนหนึ่ง แต่ละเส้นยาวราว 2 เมตร

วิธีหุ้มโพน
วางโพนบนแป้น ยกหนังมาตัดให้ได้ผืนโตกว่าหน้าโพนโดยกะให้หนังเหลือจากหน้าโพนไว้มาก ๆ เอาหนังปิดลงบนหน้าโพนนั้น ดูให้หนังรอบ ๆ หน้าโพนห้อยลงพอ ๆ กัน ใช้เหล็กหรือปลายมีดแหลมเจาะหนังให้ทะลุเป็นรูเป็นคู่ ๆ ห่างกันราว 2 - 3 นิ้ว ใช้ไม้สั้น ๆ ขนาดดินสอดำสอดรูแต่ละคู่ไว้ เสร็จแล้วใช้เชือกร้อยรูแต่ละคู่ผูกเป็นบ่วงตามยาวเสมอขอบแป้น ใช้ไม้คันชั่งสอดบ่วงขัดปลายไม้ด้านในไว้กับแป้น ปลายไม้ด้านนอกดึงกดลงเอาเชือกผูกยึดไว้กับราวซึ่งมีสมอบกยึด การดึงไม้คันชั่งพยายามให้แต่ละอันดึงหนังตึงพอ ๆ กัน จากนั้นตากลมทิ้งไว้ คอยชโลมน้ำและตีเป็นระยะ ๆ เพื่อให้หนังยืดตัว ทุกครั้งที่ชโลมน้ำและตีพยายามดึงไม้คันชั่งให้ดึงหนังให้ตึงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ทำเช่นนี้ราว 2 - 3 วัน พอเห็นว่าหนังตึงได้ที่แล้ว ก็นำปลอกหวายสวมทับลงไป ตอกปลอกให้ลดต่ำอยู่ใต้ระดับรูลูกสัก ใช้เหล็กเจาะหนังตรงรูลูกสักให้ทะลุแล้วใส่ลูกสักให้ตะขอหงายขึ้นบน ตอกอัดลูกสักให้แน่นทุกรูปลดไม้คันชั่งออก ตัดหนังระหว่างปลอกกับลูกสักโดยรอบ เอาหนังส่วนที่ตัดออก เป็นอันเสร็จการหุ้มโพนไป 1 หน้า หน้าต่อไปก็หุ้มเช่นเดียวกัน เสร็จแล้วนำไปแขวนตามจุดที่ต้องการ ถ้าจะวางตีก็ใส่ขา 2 ขา โดยทำขาคล้ายซี่ฟากขนาดโตเท่าหัวแม่เท้า 2 อันยาวกว่ากลองเล็กน้อยสอดเข้าใต้ปลอกด้านหนึ่งให้ห่างกันราว 5 นิ้ว ปลายให้รวบสอดที่ปลอกบน

คุมโพน
การคุมโพน แต่ละวัดจะทำล่วงหน้าก่อนถึงวันชักพระเพื่อบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าวัดนั้นจะมีกิจกรรมการชักพระตามประเพณี ในทางตรงกันข้ามถ้าวัดใดไม่มีการคุมโพนล่วงหน้าตามกำหนด ย่อมแสดงว่าวัดนั้นงดจัดกิจกรรมการชักพระในปีนั้น

การคุมโพน นิยมกระทำก่อนถึงวันชักพระ (เดือน 11 แรม 1 ค่ำ หรือ เดือน 5 แรม 1 ค่ำ) เป็นเวลา 3 วัน แต่บางวัดอาจจะเริ่มเร็วกว่านั้น และโดยมากจะคุมโพนในเวลากลางคืน โพนที่นำมาตีประโคมนิยมใช้ 2 ใบ เป็นเสียงแหลม (เสียงตึ้ง) 1 ใบ และเสียงทุ้ม (เสียงท็อม) 1 ใบ มีจังหวะและลีลาการตีโดยเฉพาะและตีสลับเสียงกันดังนี้

ตึ้ง  ตึ้ง  ท็อม
ตึ้ง  ตึ้ง  ตึ้ง  ตึ้ง  ท็อม
ตึ้ง  ตึ้ง  ท็อม  ท็อม
ตึ้ง   ท็อม  ตึ้ง  ท็อม

การคุมโพน 2 คืนแรก จะเริ่มตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงเที่ยงคืน ส่วนคืนที่ 3 จะคุมตลอดทั้งคืน (แต่ไม่ถือเป็นข้อบังคับ) ผู้ที่ประโคมมักเป็นศิษย์วัดและอุบาสกที่อยู่ใกล้ ๆ วัด โดยปกติจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตี อาจตีคนเดียว 2 ใบ หรือคนละใบสลับเสียงกันตามวิธีที่กล่าวแล้ว เชื่อกันว่าผู้ร่วมคุมโพนจะได้กุศลด้วย
เมื่อถึงวันชักพระ เรือพระ (เรือที่จัดตกแต่งขึ้นสำหรับชักพระ) ทุกลำจะมีการคุมโพนตลอดเวลา แต่อาจมีเครื่องประโคมอย่างอื่นประกอบ เช่น ฉิ่ง ฉาบ ฆ้องคู่ รำมะนา เป็นต้น ลีลาการตีบางตอนอาจเปลี่ยนเป็นตีเชิดเพื่อเร่งเร้าให้ผู้ชักเรือพระโหมกำลังยิ่งขึ้น

บางจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช นิยมใช้ "ปืด" ประโคม และนิยมจัดประชันเสียงกันด้วย เรียกการประชันปืดว่า "แข่งปืด"

แข่งโพน
แข่งโพน แข่งตะโพน หรือ ชันโพน ก็ว่า เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้ ที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับประเพณีชักพระ เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน ก่อนที่จะมีการชักพระในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษา ในช่วงปลายเดือน 10 วัดต่าง ๆ จะเตรียมการชักพระ ตั้งแต่การทำบุษบกหุ้มโพน และเริ่มคุมโพนก่อนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาเหมือนทุก ๆ ปี แต่เนื่องจากวัดส่วนมากมักจะอยู่ในละแวกเดียวกัน เสียงโพนที่ตีดังออกไปไกล บางครั้งชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงโพนของวัดใด จึงทำให้วัดต่าง ๆ แข่งเสียงโพนกันว่า โพนของวัดใดเสียงดังกว่ากัน ในระยะแรกก็ตีแข่งกันภายในวัด นาน ๆ เข้าก็ค่อยขยับขยายนำโพนมาประชันกันภายนอกวัด ตามกลางทุ่งกลางนาหรือสถานที่ที่เตรียมไว้ ในวันชักพระก็จะมีโพนประจำเรือพระไว้คอยตีให้สัญญาณเป็นการคุมการลากเรือพระ ว่าต้องการให้ลากช้าหรือเร็ว เพราะเรือพระใช้เชือกเส้นใหญ่ ๆ มีขนาดยาวไม่น้อยกว่า 30 เมตร เสียงโห่ร้องของผู้คนที่มาลากพระ ทำให้ไม่สามารถวิ่งสั่งงานด้วยปากเปล่าได้ทั่วถึง จึงต้องใช้โพนตีเพื่อให้สัญญาณ เพราะเสียงดังไปไกลได้ยินทั่วถึงกัน เช่นถ้าจะให้ลากเร็ว ๆ ก็ตีรัวให้ถี่ ถ้าจะให้ลากช้าก็ตีจังหวะช้า ในบางครั้งเมื่อชาวบ้านจากหลายวัดลากพระมารวมกัน ก็มักจะมีการแข่งโพนกัน ต่อจากนั้นก็จะเป็นการแข่งขันการซัดต้ม เป็นต้น จากเหตุการณ์อันนี้จึงทำให้เกิดมีการแข่งโพนขึ้น ซึ่งเรามักจะพบมากในหมู่บ้านแถบชนบท

การแข่งโพน แบ่งได้ 2 อย่าง คือ
1. การแข่งขันมือ (ตีทน) การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะต้องใช้เวลานาน แข่งขันจนผู้ตีมืออ่อน หรือผู้ตีหมดแรงจึงจะตัดสินได้
2. การแข่งเสียง การแข่งแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาสั้น ๆ ก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะได้

การแข่งโพน ส่วนมากจะเริ่มในปลายเดือน 10 และสิ้นสุดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันชักพระ จะแข่งขันกันวันไหน สถานที่ใด แล้วแต่คู่แข่งขันจะตกลงกัน และนิยมแข่งขันกันในเวลากลางคืน ถ้าหากมีโพนหลายคู่ การแข่งขันจัดเป็นคู่ ๆ โดยแต่ละฝ่ายใช้ผู้ตีคนเดียว โดยเริ่มจากการตีลองเสียง ว่าโพนใบไหนเสียงใหญ่ และใบไหนเสียงเล็ก กรรมการจัดไว้เป็น 2 ชุด สำหรับควบคุมมิให้ผู้เข้าแข่งขันเปลี่ยนคนตีชุดหนึ่ง และเป็นกรรมการฟังเสียง ซึ่งมีราว 3 - 5 คนอีกชุดหนึ่ง กรรมการชุดหลังนี้จะอยู่ห่างจากที่ตีไม่ต่ำหว่า 150 เมตร เพื่อฟังเสียงและตัดสินว่า โพนลูกใดดังกว่ากัน

หลักโพน
หลักโพน เป็นการละเล่นโดยเอาโพนมาตีโต้ตอบแข่งขันกันระหว่างวัด เพื่อซักซ้อมและให้เกิดความสนุกสนานก่อนวันชักพระ คำว่า "หลัก" หมายถึงดักหรือจับ หลักโพนจะเล่นกันในเวลากลางคืน ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในการเล่นหลักโพนผู้เล่นจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยยึดเอาวัดเป็นการแบ่งเขต ใครอยู่ใกล้วัดไหน ก็ยึดเอาวัดนั้นเป็นฝ่ายของตน เมื่อถึงคืนวันแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 ฝ่ายจะเอาโพนวัดที่จะตีในวันชักพระมาใส่รถลาก (รถทำขึ้นเองเลื่อยไม้ให้เป็นแว่นทำล้อ ตัวรถทำขึ้นแบบง่าย ๆ ด้วยไม้พอจะวางโพนได้ 2 ใบ แล้วผูกเชือกลาก) วัดละ 2 ใบ ใบเสียงแหลมเรียกว่า "หน่วยตึ้ง" ใบเสียงทุ้มเรียกว่า "หน่วยท็อม" มีคนลาก 1 หรือ 2 คน อีก 2 คน คอยตีโพนอยู่ข้างหลังคนละใบ โดยมีสมาชิกคนอื่น ๆ เดินตามหลังคนตีกลองแต่ละฝ่ายไปเป็นขบวน เมื่อถึงเวลาเล่นหลักโพนผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายจะตีโพนออกจากวัด เดินเข้าหากัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตีขึ้นก่อน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะตีโต้ตอบรับกันเป็นจังหวะ การเล่นหลักโพนมีการหลักอยู่ 2 อย่าง คือ

1. หลักจับคนตีโพน
เมื่อ 2 ฝ่ายตีเข้าหากันอยู่ในระยะพอที่จะมองเห็นซึ่งกันและกันได้ ต่างฝ่ายต่างก็หยุดตี สมาชิกในขบวนของแต่ละฝ่ายก็จะเตือนคนตีโพนฝ่ายตนให้หลบซ่อน และขณะเดียวกันก็คอยดักจับคนตีโพนของฝ่ายตรงข้ามด้วย ถ้าต่างฝ่ายต่างมองไม่เห็นซึ่งกันและกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะตีขึ้นก่อน 2 - 3 ครั้ง เป็นการหลอกล่อ แล้วรีบหลบหาที่ซ่อนอย่างรวดเร็วไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นได้ว่าตีโพนอยู่ที่ใด ถ้าฝ่ายไหนโผล่ให้เห็นก่อนให้อีกฝ่ายหนึ่งจับได้ถือว่าแพ้

2. หลักเสียงโพน
ทั้ง 2 ฝ่ายจะตีโพนให้มีจังหวะเหมือนกันตีสลับกันฟังแล้วให้เหมือนกับว่าอยู่ฝ่ายเดียวกัน เช่น ตีโพน 2 ใบ 8 จังหวะ ฝ่ายแรกจะตี "ตึ้งท็อม ตึ้งท็อม ตึ้งตึ้ง ท็อมท็อม" อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องตีอีก 4 จังหวะให้เข้ากันว่า "ตึ้งตึ้งท็อมท็อม" ถ้าตีผิดจังหวะไปจากนี้ถือว่าแพ้

การเล่นหลักโพนจะมีคืนสำคัญอยู่คืนหนึ่ง คือ คืนก่อนวันชักพระในวันออกพรรษา จะมีการแข่งขันถือเอาแพ้ชนะกันในคืนนั้น เมื่อเข่งขันแล้วฝ่ายใดแพ้จะเลี้ยงฝ่ายชนะด้วยอาหารคาวหวานในวัดของฝ่ายผู้แพ้ในวันแรม 1 ค่ำ หลังจากชักพระกลับสู่วัดแล้ว เพื่อความสนุกสนานและสามัคคีกันทั้ง 2 ฝ่าย การเล่นหลักโพนนี้ ปัจจุบันหาดูได้ยาก