ตรุษจีน ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
****************************************
ตรุษจีนเป็นเทศกาลสำคัญและคึกคักที่สุดของจีนทั่วทุกหมู่เหล่า
นอกจากเผ่าทิเบต ไป๋ ไต (ไท) และเผ่าอื่นๆ อีกหลายเผ่าแล้ว
ชนกลุ่มน้อยนอกนั้น ล้วนมีเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
ร่วมกับชาวจีนทั้งสิ้น
ตรุษจีนเป็นเทศกาลใหญ่ กินเวลายาวนานเกือบ 1 เดือน
ประกอบด้วยเทศกาลย่อยต่อเนื่องกันหลายเทศกาล
เริ่มตั้งแต่ เทศกาลล่าปาในวัน 8 ค่ำ เดือน 12 วันสิ้นปีเก่า วันขึ้นปีใหม่
ไปจนถึงเทศกาลหยวนเซียว กลางเดือนอ้าย ซึ่งสิ้นสุดในวัน 17 ค่ำ
แต่โดยทั่วไปนิยมแยกเทศกาลล่าปาและเทศกาลหยวนเซียวออกไปต่างหาก
เป็นเทศกาลต้นตรุษจีนและท้ายตรุษจีน
เทศกาลตรุษจีนมีคำเรียกเป็นภาษาจีนแตกต่างกันตามยุคสมัยหลายคำ
แต่ที่สำคัญบ่งบอกความเป็นมาของเทศกาลนี้มี 3 คำ ได้แก่
หยวนตั้น ชุนเจี๋ย และกั้วเหนียนหรือก้วยนี้ในภาษาแต้จิ๋ว
หยวนตั้น :: จากจีนเก่าเข้าสู่ความเป็นสากล
หยวนตั้น แปลว่า วันแรกในรอบปีหรือปฐมวาร สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก
แต่ละแคว้นใช้ปฏิทินต่างกัน วันปีใหม่จึงต่างกันไปด้วย ทว่า เป็นปีใหม่ตาม
จันทรคติเหมือนกัน ต่อมาสมัยราชวงศ์ฉิน ประเทศจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ถือวันที่ 1 เดือน 10 ของปฏิทินเซี่ยเป็นหยวนตั้นหรือวันขึ้นปีใหม่ และใช้สืบ
เนื่องกันมาในสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น
ครั้นพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ประกาศใช้ปฏิทินไท่ชู เมื่อปี พ.ศ.439 ได้กำหนดเอาวันที่ 1
เดือนอ้ายเป็นปฐมวาร หยวนตั้นวันนี้เป็นแบบแผนใช้ต่อมาถึง 2,000 กว่าปี
ซึ่งก็ได้แก่วันชิวอิด หรือวันเที่ยวของคนจีนในไทยนั่นเอง
เมื่อจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐในปี พ.ศ.2454 ที่ประชุมผู้แทน
จากแต่ละมณฑลได้ตกลงใช้ปฏิทิน 2 แบบ คือ
ปฏิทินเกษตรเพื่อประโยชน์ในการกสิกรรม และ
ปฏิทินสุริยคติสากลเพื่อสะดวกในการนับวันเดือนปี
แต่แบบหลังนี้ยังไม่ทันประกาศใช้ จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะ
ในปี พ.ศ.2492 จึงได้ประกาศใช้ปฏิทินสมัยคติสากลอย่างเป็นทางการ
และกำหนดเอาวันที่ 1 มกราคมเป็นหยวนตั้น
ส่วนวันที่ 1 ของวันปีใหม่เกษตรเปลี่ยนเป็น "ชุนเจี๋ย (เทศกาลวสันต์)"
หยวนตั้นจึงกลายเป็นวันปีใหม่ตามสากลนิยม
ชุนเจี๋ย :: จากลี่ชุน สู่ตรุษจีน
การนับปีของจีนมี 2 ระบบ คือ ปีจันทรคติ ซึ่งนับตามรอบ 12 เดือน
และปีสุริยคติ ซึ่งนับตามรอบฤดูกาลหรือ 24 อุตุปักษ์
ชุนเจี๋ย เดิมหมายถึงปีใหม่ตามรอบฤดูกาล
ชุน แปลว่า วสันต์หรือฤดูใบไม้ผลิ
เจี๋ย คือ ช่วง ตอน หรือเทศกาล
ชุนเจี๋ย หมายถึง เทศกาลวสันตฤดูหรือตรุษวสันต์
อันได้แก่วันเริ่มปักษ์ลี่ชุน (เริ่มวสันต์)
จีนยุคโบราณก่อนประกาศใช้ปฏิทินไท่ชู
วันลี่ชุนมีความสำคัญมากกว่าวัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันปีใหม่ตามฤดูกาล
ซึ่งสอดคล้องกับอาชีพหลักของผู้คน คือ การทำนา
ก่อนถึงวันนี้เป็นเวลา 3 วัน โอรสสวรรค์ต้อง "กินเจ" ชำระกายใจให้บริสุทธิ์
ถึงวันลี่ชุนเสด็จออกพร้อมด้วยขุนนางไปทำพิธี "รับวสันต์"
ที่ชานเมืองด้านตะวันออก ประชาชนก็มีพิธีกรรมสำคัญอันเนื่องด้วยการทำนา
ส่วนวัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย ไม่มีความสำคัญมากนัก
พิธีกรรมสำคัญของรอบปีจันทรคติอยู่ที่เทศกาลล่าจี้
เซ่นสรวงบูชาฟ้าดินและบรรพชนในช่วงเดือน 12
ปฏิทินไท่ชูใช้ระบบอธิกมาสควบกับ 24 อุตุปักษ์
ทำให้ปีตามรอบเดือน (จันทรคติ) และปีตามรอบฤดูกาล (สุริยคติ) สอดคล้องกัน
วันลี่ชุน (เริ่มวสันตฤดู) กับวัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย อยู่ห่างกันไม่กี่วัน
วันปีใหม่ตามรอบ 12 เดือนจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น
ต่อมาได้กำหนดพิธีเซ่นสรวงประจำปีในเทศกาลล่าจี้
ให้อยู่ในวันสิ้นปี (29 หรือ 30 ค่ำ เดือน 12)
ทำให้วันสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่กลายเป็นเทศกาลใหญ่ต่อเนื่องกัน
ตรุษจีนจึงเป็นเทศกาลสำคัญกว่าเทศกาลลี่ชุน
และคำว่า "ชุนเจี๋ย" หมายถึง เทศกาลตรุษจีนไปโดยปริยาย
มีนิทานชาวบ้านเรื่องหนึ่งกล่าวถึงที่มาของคำว่า "ชุนเจี๋ย" ไว้ว่า
ในรัชสมัยของจู่อี่ กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ซาง มีชายหนุ่มคนหนึ่ง
ชื่อว่านเหนียน (แปลว่าหมื่นปี) เขาเห็นว่าปฏิทินที่ใช้กันอยู่สมัยนั้น
กำหนดฤดูกาลไว้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก่อให้เกิดผลเสียหาย
ต่อการเกษตรมากๆ ดังนั้นจึงพยายามศึกษาดาราศาสตร์ จนสามารถ
กำหนดอุตุปักษ์สำคัญทั้งสี่คือ
วสันตวิษุวัต ศารทวิษุวัต ครีษมายัน
และเหมายันได้ถูกต้องเที่ยงตรง
ขณะนั้นจู่อี่เองก็ทรงร้อนพระทัยที่การกำหนดฤดูกาลในปฏิทินไม่แม่นยำ
แต่อาเหิง อำมาตย์ผู้ควบคุมการคำนวณฤดูกาลไม่ยอมรับว่าตนด้อยความรู้
ความสามารถ กลับโทษผีสางเทวดา และเสนอให้สร้างหอมมหึมา
ทำพิธีบวงสรวงฟ้าดิน
ฝ่ายว่านเหนียนเห็นว่า การกระทำเช่นนี้มิอาจแก้ปัญหาได้เลย มีแต่จะเพิ่ม
ความเดือดร้อนให้ประชาชน จึงขอเข้าเฝ้าจู่อี่ แล้วอธิบายสาเหตุที่
การคำนวณปฏิทินแบบเก่าผิดพลาดให้ฟัง
จู่อี่ทรงยอมรับเหตุผลและข้อเสนอของว่านเหนียน
จึงระงับพิธีบวงสรวงแล้วสร้างหอดาราศาสตร์ให้ว่านเหนียน
ใช้ศึกษาค้นคว้า เพื่อปรับปรุงปฏิทินให้ถูกต้อง
อาเหิงมีความริษยา เกรงว่าถ้าว่านเหนียนทำงานเสร็จตนจะถูกปลด
จึงส่งคนไปลอบฆ่า แต่ก็ถูกจับตัวไปสอบสวนต่อหน้าจู่อี่
เมื่อความลับเปิดเผยขึ้นอาเหิงก็ถูกลงโทษสถานหนัก
คืนนั้นเองจู่อี่เสด็จไปเยี่ยมว่านเหนียนที่หอดาราศาสตร์
พอไปถึงว่านเหนียนได้ทูลว่า
"ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ปีเก่ากำลังจะผ่านพ้นไป วสันต์ใหม่กำลังจะเริ่มต้น
ขอพระองค์ทรงตั้งชื่อวันนี้ไว้เป็นที่ระลึกเถิด"
จู่อี่มีรับสั่งว่า
"วสันต์เป็นต้นปี จงเรียกวันนี้ว่า ตรุษวสันต์ (ชุนเจี๋ย) เถิด"
กาลเวลาผ่านไปช้านาน ด้วยวิริยะอุตสาหะ ในที่สุดว่านเหนียน
ก็ปรับปรุงปฏิทินที่ถูกต้องเที่ยงตรงตามฤดูกาลสำเร็จ
แต่ทว่าเขาหมดสภาพหนุ่มฉกรรจ์ กลายเป็นชายชราผมหงอกขาวโพลน
จู่อี่ทรงตื้นตันพระทัยในความมานะอดทนของว่านเหนียนมาก
จึงทรงตั้งชื่อปฏิทินใหม่นั้นว่า
ว่านเหนียนลี่ อันหมายถึงปฏิทินของว่านเหนียน
และทรงแต่งตั้งให้ว่านเหนียนเป็นโส้วซิง (ซิ่วแซ) คือ เทพแห่งอายุวัฒนะ
อันเป็นหนึ่งในตรีพิธพรของจีนได้แก่ ฮก ลก ซิ่ว
ในเทศกาลตรุษจีนชาวบ้านนิยมแขวนภาพเทพแห่งอายุวัฒนะ
ก็เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของว่านเหนียนนั่นเอง
อนึ่งปัจจุบันคำว่า
ว่านเหนียนลี่ หมายถึง ปฏิทินร้อยปี (หรือมากกว่าร้อยปี) ของจีน
นี่คือที่มาของคำว่า ชุนเจี๋ย (ตรุษวสันต์) แม้จะเป็นนิทาน
แต่ก็สะท้อนให้เห็นความจริงเรื่องการศึกษาค้นคว้าด้านการทำปฏิทินของจีนได้อย่างดี
กั้วเหนียน (ก้วยนี้) :: ผ่านปีเก่าสู่ปีใหม่
กั้วเหนียน แปลว่า ผ่านปี จากปีเก่าไปสู่ปีใหม่
มาจากคำว่า กั้ว (ผ่าน) และคำว่า เหนียน (ปี) รวมกัน
คำที่มีความหมายว่าปีนั้น ในสมัยสามราชวงศ์ยุคโบราณมีชื่อเรียกต่างกันดังนี้
สมัยราชวงศ์เซี่ย (ประมาณ 1,663 - 1,223 ปีก่อนพุทธศก) เรียกปีว่า ซุ่ย
คำนี้เดิมหมายถึง รอบการโคจรของดวงดาว รอบแห่งฤดูกาล
ซึ่งพอครบ 1 ปี ก็จะเริ่มต้นใหม่ ปัจจุบันหมายถึงอายุ
คำไทยที่เทียบกับคำว่า "ซุ่ย" ได้คือคำว่า "พรรษา"
ซึ่งเดิมหมายถึงฝน ฤดูฝน อันเป็นเรื่องของฤดูกาล
และต่อมาความหมายขยายออกไป หมายถึง อายุ เช่นเดียวกัน
สมัยราชวงศ์ซาง (ประมาณ 1,223 - 579 ปีก่อนพุทธศก) เรียกปีว่า สื้อ
คำนี้แรกทีเดียวหมายถึงการเซ่นสรวงบูชา ปัจจุบันความหมายยังเหมือนเดิม
คำนี้หาคำไทยเทียบได้ยาก แต่อาจอนุโลมเรียกว่า ฉนำ ซึ่งแปลว่า ปี
สมัยราชวงศ์โจว (ประมาณ 579 ปีก่อนพุทธศก - พ.ศ.322) เรียกปีว่า เหนียน
คำนี้เดิมหมายถึงรอบการเจริญเติบโตของธัญพืช
พจนานุกรมซัวเหวินเจี่ยจือ (อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร) สมัยราชวงศ์ฮั่น
อธิบายคำเหนียนว่า ธัญชาติสุก หนังสือโบราณบางเล่มจึงกล่าวว่า
"ธัญชาติสุกนับเป็นหนึ่งปี",
"ครบปีคือได้ผลการเก็บเกี่ยว",
"ปีอุดมหมายถึงเก็บเกี่ยวได้มาก"
คำไทยที่เทียบกับคำว่าเหนียนได้คือคำว่า เข้า (ข้าว)
คำนี้ในสมัยโบราณหมายถึงรอบแห่งการปลูกข้าว ซึ่งได้แก่ปีนั่นเอง
ดังปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า
"เมื่อกูขึ้นใหญ่ (มีอายุ) ได้ 19 เข้า (ปี) ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่ (ตี) เมืองตาก"
คำว่า ซุ่ย (พรรษา) สื้อ (ฉนำ) และเหนียน (ข้าว)
ล้วนสัมพันธ์กับความเป็นมาของเทศกาลปีใหม่ในสมัยโบราณดังนี้
คำว่า ซุ่ย แสดงให้เห็นว่า ราชวงศ์เซี่ย ถือรอบการโคจรของดวงอาทิตย์ (ดาว)
หรือรอบของฤดูกาลเป็น 1 ปี ปฏิทินเซี่ยเริ่มเดือนอ้ายที่ต้นฤดูใบไม้ผลิ
ตรงกับเดือนอ้ายของปฏิทินเกษตรในปัจจุบัน
เป็นระยะเตรียมการทำนาในปีใหม่
เนื่องจากปฏิทินเกษตรมีรากฐานมาจากปฏิทินเซี่ย
เทศกาลตรุษจีนของราชวงศ์นี้น่าจะตรงกับปัจจุบัน
เป็นเทศกาลแห่งการเริ่มต้น เฉลิมฉลอง และเซ่นสรวงบูชา
เพื่อให้ได้ผลิตผลในปีใหม่อุดมสมบูรณ์
คำว่า สื้อ แสดงให้เห็นว่า ปีใหม่ของราชวงศ์ซาง
มีที่มาจากพิธีเซ่นสรวงสังเวยประจำปี การเซ่นสรวงสังเวยมีทุกฤดู
แต่ฤดูหนาวสำคัญที่สุด ถือเป็นพิธีประจำปี
เดือนอ้ายของปฏิทินซางตรงกับเดือน 12 ของปฏิทินเกษตร
เป็นเดือนแห่งการล่าสัตว์
มาเซ่นสรวงบูชาผีสางเทวดาและบรรพบุรุษมาแต่โบราณ
การเซ่นสรวงประจำปีในฤดูหนาวนี้
กระทำขึ้นเพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้ได้ผลิตผลสมบูรณ์
เป็นการเฉลิมฉลองอดีต มิใช่เพื่ออนาคตอย่างของราชวงศ์เซี่ย
ทว่าชาวซางคงจะถือพิธีบวงสรวงนี้เป็นการสิ้นสุดปีเก่า เริ่มต้นปีใหม่
จึงใช้คำว่าสื้อ (เซ่นสรวง) ในความหมายปีด้วย
และถือเดือนแห่งการล่าสัตว์มาเซ่นสรวงสังเวยประจำปีเป็นเดือนอ้าย
ส่วนคำว่าเหนียน แสดงให้เห็นว่า
พวกราชวงศ์โจวถือเอาการเสร็จสิ้นงานไร่นาเป็นสิ้นปีเก่าเริ่มปีใหม่
เดือนอ้ายของปฏิทินโจวจึงตรงกับเดือน 11 ของปฏิทินเกษตร
อันเป็นเดือนที่หยุดงานพอดี
เพราะการเก็บเกี่ยวจะเริ่มและแล้วเสร็จในเดือน 10 ของปฏิทินเกษตร
ซึ่งเป็นเดือน 12 หรือสิ้นปีของปฏิทินโจว
ส่วนการเริ่มปีใหม่ต้นเดือน 10 ของปฏิทินเซี่ยในสมัยราชวงศ์ฉินและต้นราชวงศ์ฮั่นนั้น
ออกจะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน จึงอยู่ได้ไม่นาน
แต่ก็มีผู้สันนิษฐานว่า ที่แต่ละราชวงศ์ขึ้นปีใหม่ไม่ตรงกันนั้น
คงเป็นเพราะช่วงการทำนาไม่ตรงกัน
ข้อสันนิษฐานนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะราชวงศ์เหล่านี้ล้วนอยู่ทางภาคเหนือ
ซึ่งมีภูมิประเทศและภูมิอากาศคล้ายคลึงกัน
อนึ่งในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก แคว้นต่างๆ ในยุคเดียวกันขึ้นปีใหม่ไม่ตรงกัน
ก็เพราะได้ปฏิทินต่างกันเป็นสาเหตุสำคัญ
จากประวัติของคำว่า ซุ่ย เหนียน และสื้อ แสดงให้เห็นว่า
ตรุษจีนของแต่ละยุคไม่ตรงกัน เพราะมีคตินิยมต่างกัน
ปฏิทินแต่ละยุคจึงกำหนดเดือนอ้ายไว้ต่างกันไปด้วย
ปี พ.ศ.429 พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงยกเลิกการขึ้นปีใหม่ต้นเดือน 10
เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 เดือนอ้ายของปฏิทินไท่ชู
ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนในปัจจุบัน
ปีใหม่ของราชวงศ์โจวผสมกลมกลืนไปกับเทศกาลตงจื้อ (ตังจี่-สารทขนมอี๋)
ในเดือน 11 ปีใหม่ของราชวงศ์ซางกลายเป็นเทศกาลล่าจี้ (บวงสรวงสิ้นปีในฤดูหนาว)
ในเดือน 12 จึงกล่าวได้ว่าเทศกาลตรุษจีนปรากฏชัดเจนในสมัยราชวงศ์ฮั่น
หลังประกาศปฏิทินไท่ชูแล้ว
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น
ตรุษจีนเป็นเทศกาลอันเนื่องด้วยการบวงสรวงเพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ
ต่อมาใน
สมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ.963 - 1132)
จึงมีกิจกรรมอันเนื่องด้วยผีสางและไสยศาสตร์เพิ่มเข้ามา เช่น
จุดประทัด เปลี่ยนยันต์ไม้ท้อ ดื่มสุราถูซู เฝ้าปี
ช่วงเวลาของเทศกาลก็ขยายยาวออกไปจนเชื่อมตั้งแต่เทศกาลล่าปา
ไปจนถึงเทศกาลหยวนเซียว กลายเป็นเทศกาลใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของจีน
ถึง
สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161 - 1450)
กิจกรรมในเทศกาลวิวัฒน์จากการบวงสรวงทางการเกษตรและความเชื่อ
ทางไสยศาสตร์มาเป็นกิจกรรมบันเทิงและวัฒนธรรมตามประเพณีเป็นสำคัญ
การจุดประทัดมุ่งความสนุกสนานเฉลิมฉลองมากกว่าไล่ผี
ตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมา
ตรุษจีนเป็นเทศกาลมงคลเฉลิมฉลองใหญ่ร่วมกันของคนทั่วประเทศ
ถึงราชวงศ์หมิงและชิง เทศกาลตรุษจีนมีพัฒนาการไป 2 ด้าน คือ
1. มีกิจกรรมทางสังคมชัดขึ้น เช่น
การคารวะอวยพรปีใหม่ ส่งบัตรอวยพรปีใหม่
2. มีกิจกรรมด้านศิลปะและความบันเทิงมากขึ้น เช่น
เชิดสิงโต เชิดมังกร งิ้ว มหรสพและการละเล่นรื่นเริงอีกมากมาย
เป็นเทศกาลใหญ่คึกคักสนุกสนานที่สุดตลอดมาจนปัจจุบัน
กลางเดือน 12 เตรียมฉลองตรุษจีน
หลังจากเทศกาลล่าปาในวันที่ 8 เดือน 12 บรรยากาศของตรุษจีน
ก็ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ชาวไต้หวันถือว่าผ่านวัน
"ฟันสุดท้าย" (เลี้ยงประจำเดือนครั้งสุดท้าย) ในวัน 16 ค่ำ เดือน 12 แล้ว
ก็เข้าสู่ช่วงเทศกาลจีน ต่างเริ่มทยอยจัดหาหรือซื้อของที่ต้องใช้ในงาน
เทศกาลตรุษจีนเริ่มขึ้นอย่างแท้จริงในส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์
(23 - 25 ค่ำ เดือน 12 แล้วแต่ถิ่น) จากนั้นก็จะมีกิจกรรมต่อเนื่องไป
จนถึงวันสิ้นไปเก่า (30 ค่ำ เดือน 12) และวันขึ้นปีใหม่ (1 ค่ำ เดือนอ้าย)
อันเป็นช่วงสำคัญที่สุด ทุกคนจะหยุดงาน
เฉลิมฉลองกันไปจนถึง 5 ค่ำ เดือนอ้าย รุ่งขึ้น 6 ค่ำ จึงทำงานต่อไปตามปกติ
เป็นอันสิ้นสุดตรุษจีน ทว่าบรรยากาศแห่งปีใหม่ยังไม่สิ้นสุด
จะมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ สืบต่อไปอีก จนถึงเทศกาลหยวนเซียวในกลางเดือนอ้าย
หมดเทศกาลนี้แล้วจึงถือว่าสิ้นสุดการฉลองปีใหม่อย่างแท้จริง
ในช่วง 10 กว่าวันแห่งเทศกาลตรุษจีนมีกิจกรรมสำคัญดังต่อไปนี้
ส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์
การส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์เป็นเทศกาลย่อยหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน
เรียกว่าเทศกาลปีน้อยหรือต่อปี คือ ต่อปีเก่าเข้ากับปีใหม่
จึงนับเป็นการเริ่มเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
หลังจากมนุษย์รู้จักใช้ไฟปรุงอาหารแล้ว เตาก็เข้ามามีบทบาทสำคัญ
จนไม่สามารถขาดได้ เป็นเหตุให้เกิดประเพณีรำลึกถึงเตาไฟขึ้นในสมัยโบราณ
แล้ววิวัฒนาการมาเป็นการบูชาเจ้าเตาไฟ ด้วยเชื่อว่าเตาไฟมีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่
เจ้าเตาไฟเป็นเจ้าไม่มีศาล กล่าวคือ ไม่มีผู้สร้างศาลให้โดยเฉพาะ
และไม่มีภาพหรือรูปปั้นตั้งรวมอยู่ในศาลเจ้าตลอดจนวัดวาอารามแห่งใด
ทั้งนี้เพราะถือกันว่าท่านอยู่ประจำที่เตาไฟในทุกครัวเรือน
เจ้าเตาไฟเป็น 1 ใน 5 เทพประจำบ้าน ในสมัยโบราณ
(เทพแห่งเตาไฟ เทพแห่งประตู เทพแห่งบ่อน้ำ เทพแห่งส้วม และ
เทพแห่งหน้าต่าง (บางตำราเป็นพระธรณี)
เทพทั้งห้านี้มีหน้าที่คุ้มครองคนในบ้าน
ภายหลังคติการบูชาเทพทั้งห้านี้เสื่อมลง
คงเหลือแต่เทพแห่งเตาไฟและเทพแห่งประตูเท่านั้น
ความเชื่อเรื่องเจ้าเตาไฟมีวิวัฒนาการมายาวนาน
จนกระทั่งสมัยราชวงศ์ถังก็ลงตัว
เป็นอย่างที่เชื่อถือกันทุกวันนี้ จะต่างกันบ้างก็แต่ในส่วนปลีกย่อย
โดยทั่วไปเชื่อกันว่า เจ้าเตาไฟเป็นเทพที่เง็กเซียงฮ่องเต้ประมุขแห่งสวรรค์
ส่งลงมาอยู่ประจำบ้านเรือนมนุษย์
มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันและจดบันทึกการกระทำของคนในครอบครัวนั้น
แล้วกลับขึ้นไปรายงานปีละครั้ง
เง็กเซียงฮ่องเต้จะพิจารณาจากรายงานนั้น
แล้วลิขิตชะตาชีวิตในปีต่อไปของแต่ละคน
เหตุนี้จึงต้องจัดพิธีเซ่นไหว้และส่งเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์
เพื่อเป็นการเอาใจให้รายงานแต่สิ่งที่ดีงาม
เนื่องจากเชื่อกันว่าเจ้าเตาไฟรูปร่างไม่น่าดู จึงเกิดคตินิยม
หญิงไม่ไหว้เจ้าเตาไฟ ชายไม่ไหว้พระจันทร์
เพราะเกรงบุญจะหนุนนำให้ได้ชายอัปลักษณ์
การไหว้เจ้าเตาไฟโดยทั่วไปไหว้แม่เตาไฟ (เมีย) ด้วย
เว้นชนบางกลุ่ม เช่น
พวกร้านขายขนมปัง ร้านขายของชำ จะไหว้เฉพาะเจ้าเตาไฟองค์เดียว
พอถึงวันไหว้ทุกบ้านจะตัดม้ากระดาษ 1 หรือ 2 ตัว ติดไว้ที่หน้าเตาไฟ
ให้ท่านใช้เป็นพาหนะขี่ขึ้นสวรรค์
ของเซ่นไหว้มีแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นบ้าง
แต่โดยทั่วไปมี หัวหมูสุก 1 หัว ปลาดิบ 2 ตัว ชาหวาน และของหวานต่างๆ
ที่ต้องไหว้ด้วยของหวาน ก็เพื่อให้เจ้าเตาไฟไปรายงานแต่เรื่องที่อ่อนหวานดีงาม
ของหวานนิยมเป็นขนมเหนียว ว่ากันว่าเพื่อให้ติดปากติดฟัน
จนเจ้าเตาไฟพูดไม่สะดวก จะได้รายงานความชั่วของมนุษย์น้อยๆ
ทางจีนภาคเหนือถึงกับมีขนมไหว้เจ้าเตาไฟโดยเฉพาะ
กวนใส่แบะแซเหนียวหนึบ เป็นของโปรดของเด็กๆ
นอกจากนี้ยังนิยมเอาเหล้าไปป้ายที่ช่องใส่ฟืน ซึ่งถือว่าเป็นปากของเจ้าเตาไฟ
เพื่อให้ท่านเมาจนรายงานไม่ได้
คงจะคิดว่าท่านเป็นคนเมาประเภทเมาสะลึมสะลือมากกว่าเมาช่างพูด
ถวายเครื่องเซ่นเสร็จแล้วก็แกะรูปเจ้าเตาไฟและม้ากระดาษออกเผา
พร้อมกับอ้อนวอนท่านว่า
"โปรดขึ้นไปกล่าวศุภอรรถสุวัจนา กลับลงมาอวยสวัสดิ์พิพิฒน์ชัย"
เจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์ไปแล้วจะกลับลงมาในวันสิ้นปีต่อวันปีใหม่
ทุกบ้านจะจุดธูปเทียนต้อนรับ แล้วติดรูปเจ้าเตาไฟแผ่นใหม่
เป็นอันเสร็จพิธีส่ง-รับเจ้าเตาไฟประจำปี
ปัจจุบันประเพณีไหว้เจ้าเตาไฟเสื่อมลงมาก
การไหว้เจ้าเตาไฟในเมืองไทยเหลืออยู่แต่ในครอบครัวชาวจีน
ที่ยังถือประเพณีเคร่งครัดเท่านั้น ชั้นลูกจีนโดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยได้ไหว้
แต่ท่านก็ออกจะเป็นเทพเจ้าใจดี แม้ในเมืองจีนสมัยก่อน
คนยากจนก็มิได้หาเครื่องเซ่นไหว้ใช้เพียงธูป 3 ดอก และน้ำสะอาดชามเดียวก็พอ
เก็บกวาดทำความสะอาดประจำปี
การเก็บกวาดทำความสะอาดประจำปีเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน
จะละเว้นเสียมิได้ เหตุที่ต้องทำความสะอาดประจำปีนั้นมีนิทานชาวบ้านเล่าว่า
ในอดีตกาลอันไกลโพ้น เง็กเซียงฮ่องเต้ต้องการทราบความเป็นไปในแดนมนุษย์
จึงส่งเทพสามศพมาคอยสอดส่องดูแล พอถึงปลายปีเทพสามศพกลับไปรายงานว่า
พวกมนุษย์มีแต่ความหยาบคายกล้าด่าแม้กระทั่งเง็กเซียงฮ่องเต้
ประมุขแห่งสรวงสวรรค์กริ้วมาก สั่งเทพสามศพให้กลับไปคอยตรวจสอบ
อย่างกวดขัน ผู้ใดด่าให้เขียนชื่อผู้นั้นไว้ที่ฝาผนังบ้านคนด่าเอง
ถึงปลายปีจะส่งทหารสวรรค์ลงไปจับคนเหล่านั้นฆ่าตามรายชื่อ
เจ้าเตาไฟรู้เรื่องนี้เข้าก็คิดหาทางช่วยเหลือมนุษย์อยู่ถึง 49 วันจึงคิดออก
ก่อนที่ท่านจะคืนสู่สวรรค์ในวัน 23 ค่ำ เดือน 12
ได้สั่งมนุษย์ให้กวาดบ้านเรือนให้สะอาดหมดจดก่อนวันสิ้นปี
มิฉะนั้นจะมีภัยชาวบ้านก็ปฏิบัติตาม
วัน 30 ค่ำ เดือน 12 แม่ทัพนายกองจากสรวงสวรรค์ลงมาตรวจดูตามฝาผนัง
ไม่พบรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว จึงกลับขึ้นไปทูลตามความจริง
เง็กเซียงฮ่องเต้พิโรธมาก หาว่าเทพสามศพทูลความเท็จ
จึงลงโทษให้ไปอยู่ในนรกขุมที่ 18 อันเป็นก้นบึ้งสุดของอบายภูมิ
กิจกรรมนี้เป็นประเพณีสำคัญมาแต่บรรพกาล
บางคนเชื่อว่ามีมาตั้งแต่ยุคเหยาซุ่น (ประมาณ 2,000 ปีก่อนพุทธกาล)
จากบันทึกในหนังสือ หลี่ว์ซื่อซุนชิว สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้
แสดงให้เห็นว่าประเพณีนี้วิวัฒนาการมาจากพิธีขับไล่โรคร้ายตอนปลายปี
เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือ หลีจี้ (บันทึกเรื่องวัฒนธรรมประเพณี)
แสดงให้เห็นว่า คนจีนมีความรู้แล้วว่าความสกปรกเป็นสาเหตุหนึ่งของ
โรคภัยไข้เจ็บ การทำความสะอาดประจำปีจึงเป็นประเพณีสำคัญ
ตลอดมาทุกราชวงศ์ จนกระทั่งทุกวันนี้
ปัจจุบันวันเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือนประจำปีในแต่ละถิ่นต่างกันออกไป
จีนภาคเหนือส่วนมากนิยมเริ่มหลังวันส่งเจ้าเตาไฟ
ในไต้หวันนิยมเริ่มตั้งแต่หลังวันเทศกาลล่าปา (8 ค่ำ เดือน 12)
และทำให้เสร็จก่อนวันส่งเจ้าเตาไฟ
จีนในไทยถือว่าจะเริ่มวันใดก็ได้ในเดือน 12
และทำให้เสร็จก่อนวันทำของไหว้ตรุษจีน
เตรียมของไหว้
เมื่อส่งเจ้าเตาไฟแล้ว บรรยากาศของตรุษจีนคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สมัยก่อนไม่มีของสำเร็จขายมากอย่างเดี๋ยวนี้ จึงต้องเตรียมงานกันแต่เนิ่นๆ
ยิ่งในสมัยก่อนเก่าขึ้นไป ที่ยังต้องซ้อมข้าวเอง ต้องซ้อมข้าวเตรียมทำของไหว้
และของกินในเทศกาลตรุษจีน ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นอย่างช้า
อาหารประจำเทศกาลนี้คือ ขนมไหว้วันตรุษจีนและเกี๊ยว
ขนมไหว้ตรุษจีน
ขนมไหว้ตรุษจีนมีลักษณะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น
แต่มีชื่อเรียกกันว่า เหนียนเกา แปลว่า ขนมประจำปี
ขนมเข่งที่ใช้ไหว้ตรุษจีนในเมืองไทย จัดเป็นเหนียนเกาชนิดหนึ่ง
เหนียนเกาของทุกถิ่นมีลักษณะสำคัญร่วมกันคือ
ทำด้วยแป้งที่ได้จากข้าวชนิดใดชนิดหนึ่ง
ภาคใต้ส่วนมากใช้ข้าวเหนียว
ขนมที่ได้มีลักษณะเหมือนขนมเข่งต่างกันแต่รูปแบบภายนอก
ภาคเหนือนิยมใช้ข้าวฟ่างเหนียว
ซึ่งมีสีเหลืองและมีรสหวานน้อยๆ อยู่ในตัว
ชื่อเหนียนเกามาจากขนมที่ทำด้วยข้าวชนิดนี้ก่อน
เนื่องจากขนมที่ได้จากข้าวฟ่างชนิดนี้มีลักษณะเหนียว
จึงเรียกว่า เหนียนเกา แปลว่า ขนมเหนียว
คำว่า เหนียน ที่แปลว่า เหนียว พ้องเสียงกับ เหนียน ที่แปลว่า ปี
ของหวานชนิดนี้จึงได้รับความนิยมใช้เป็นขนมไหว้ตรุษจีน
และต่อมาได้เปลี่ยนอักษรให้ชื่อขนมมีความหมายว่า ขนมประจำปี
โดยเสียงไม่เปลี่ยน เป็นการเล่นคำพ้องเสียงช่วงที่ 1 คือ เหนียน-เหนียว เป็น เหนียน-ปี
สาเหตุที่นิยมใช้เหนียนเกาเป็นขนมไหว้ตรุษจีน
เพราะชื่อขนมชนิดนี้ทำให้เกิดความหมายนัยประหวัดได้ว่า สูงส่งทุกๆ ปี
ซึ่งภาษาจีนออกเสียงว่า เหนียนเหนียนเกา
แต่เกา ในที่นี้แปลว่า สูง สูงส่ง รูปอักษรต่างกับ "เกา" ที่แปลว่า "ขนม"
เป็นการเล่นคำพ้องเสียงช่วงที่ 2 จากชื่อที่แปลว่า "ขนมเหนียวประจำปี"
มามีความหมายจากนัยประหวัดของเสียงว่า
"สูงส่งทุกๆ ปี" หรือ "สูงส่งยิ่งขึ้นทุกปี"
จุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของเทศกาลตรุษจีนแต่โบราณมาคือ
เซ่นสรวงบูชาเพื่อให้ได้ผลิตผลสูงส่งเป็นสำคัญ ภายหลังจึงหมายถึงชีวิตก้าวหน้าสูงส่งด้วย
เหนียนเกาของจีนภาคใต้ทำด้วยข้าวเหนียวเช่นเดียวกับขนมเข่ง
หากแต่นึ่งในถาดหรือภาชนะขนาดใหญ่ ใช้ไหว้ทั้งถาด เวลาจะกินจึงตัดแบ่ง
บางถิ่นจะทำทั้งขนาดใหญ่และเล็ก โดยให้ขนาดใหญ่หมายถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
ขนาดเล็กหมายถึงดาวต่างๆ เพราะปีใหม่เดือนดาวเหล่านี้โคจรมาบรรจบครบรอบ เริ่มต้นใหม่
ขนมเข่งในเมืองไทยมาจากเหนียนเกาของจีนภาคใต้ แต่เปลี่ยนวัสดุห่อหุ้มเป็นใบตอง
เพราะเป็นของหาง่าย เมื่อใช้ใบตองขนาดจึงต้องเล็กลงเป็นกระทง
เกี๊ยว
เกี๊ยวเป็นอาหารประจำเทศกาลตรุษจีนของคนจีนภาคเหนือ
คำว่า เกี๊ยว เป็นเสียงภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางเป็น เจี่ยว
การทำเกี๊ยว ห่อเกี๊ยวเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน
ปกติจะทำในวัน 30 ค่ำ เดือน 12
เกี๊ยวเป็นของกินประจำเทศกาลตรุษจีนตั้งแต่ราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา
สาเหตุสำคัญมี 3 ประการดังนี้
ประการแรก
เกี๊ยวมีรูปกลมคล้ายเหรียญกษาปณ์ คนจึงกินเป็นเคล็ดว่า
หมายถึงเรียกเงินเรียกทอง ความมั่งคั่งและโภคทรัพย์ทั้งปวง
ประการที่ 2
เกี๊ยวเป็นอาหารที่มีไส้แตกต่างกันไป
เปิดโอกาสให้นำของซึ่งเป็นสิริมงคลมาเป็นส่วนผสมของไส้
ใส่ถั่วลิสงเพื่อเป็นเคล็ดว่า ปีใหม่จะมีสุขภาพแข็งแรง
เพราะถั่วลิสงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ผลไม้อายุวัฒนะ
ประการสุดท้าย
ชื่ออาหารชนิดนี้ตามเสียงภาษาจีนกลาง (เจี่ยว)
ใกล้เคียงกับคำที่แปลว่า เกี่ยวเนื่อง ต่อเนื่อง (เจียว)
รูปอักษรของ 2 คำนี้ก็มีส่วนเหมือนกัน
จึงต้องถือเป็นเคล็ดว่า กินเกี๊ยวเพื่อให้ปีเก่ากับปีใหม่เกี่ยวเนื่องกัน
เก็บลูกหนี้
ร้านค้าในเมืองจีนสมัยก่อนเก็บหนี้ปีละ 3 ครั้ง คือ
ในเทศกาลสารทขนมจ้างครั้งหนึ่ง
เทศกาลไหว้พระจันทร์ครั้งหนึ่ง และ
ตรุษจีนอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งสุดท้ายนี้เป็นครั้งสำคัญ ต้องสะสางกันให้เสร็จสิ้นภายในวันสิ้นปี
ถ้าล่วงไปถึงวันปีใหม่
ลูกหนึ้จะรอดไปได้อีกวันหนึ่ง เพราะห้ามทวงหนี้วันนั้นเป็นอันขาด
ดังนั้นหลังวันเทศกาลล่าปา (8 ค่ำ เดือน 12) ไปแล้ว
จึงนิยมเรียกกันว่า ด่านปี เพราะเป็นช่วงที่ลูกหนี้ทั้งหลายจะผ่านไปได้ยากที่สุด
บรรดาเจ้าหนี้จะเร่งรัดให้ชำระบัญชีให้เรียบร้อย
ในเมืองจีนสมัยก่อน พอตกค่ำวัน 30 ค่ำ เดือน 12
ห้างร้านทั้งหลายจะส่งคนถือโคมมีชื่อร้านออกเก็บบัญชี
(ถ้าเป็นสมัยนี้ลูกหนี้คงหนีหมด)
ร้านค้าทั่วไปจะจุดเทียนแดงคู่หนึ่งและตะเกียงดวงหนึ่งไว้ที่โต๊ะหรือเคาน์เตอร์
เทียนแดงเป็นเทียนตรุษจีน ตะเกียงเอาไว้ดูบัญชี
พอเจ้าหนี้มาถึงก็คิดบัญชีให้ฟังอย่างรวดเร็ว หักลดกันเรียบร้อยแล้วก็เก็บเงิน
ถ้าลูกหนี้ยังไม่พร้อมก็จะบอกว่า "เดี๋ยวมาใหม่"
หลังจากออกไปเก็บที่อื่นก่อนแล้วก็ย้อนมาใหม่จริงๆ
จะเร่งรัดเก็บให้เสร็จภายในเที่ยงคืน พอถึงเที่ยงคืนจะเก็บหนี้ได้หรือไม่ก็ตาม
ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องกล่าวสวัสดีปีใหม่กันทันที และไม่พูดเรื่องหนี้สินอีกเป็นอันขาด
หากเจ้าหนี้ขืนพูดก็มักจะถูกย้อนว่า "เฮ้ย! นี่วันอะไรวะ!"
คตินิยมนี้สมัยก่อนถือกันเคร่งครัดมาก
ปัจจุบันแม้สภาพดังกล่าวนี้จะหายไป
แต่วงการค้าชาวจีนก็ยังนิยมเก็บบัญชีกันให้เรียบร้อยภายในวันสิ้นปี
กลอนคู่ (ตุ้ยเลี้ยง) ตรุษจีน
ช่วงตรุษจีนท่านจะเห็นชาวจีนเอากระดาษแดง 2 แผ่น
ติดที่ประตูด้านละแผ่น ข้อความบนกระดาษมีจำนวนอักษรเท่ากัน
เป็นใจความอวยพรปีใหม่
ข้อความ 2 วรรคนี้ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ตุ้ยเลี้ยง
เสียงจีนกลางว่า ตุ้ยเหลียน ผู้เขียนขอแปลเป็นไทยว่ากลอนคู่
ลักษณะสำคัญของกลอนคู่ได้แก่
เป็นข้อความ 2 วรรคที่มีดุลของเสียงและความหมาย
กล่าวคือ มีจำนวนคำ (อักษร) เท่ากัน ความหมายเป็นคู่กันอย่างสละสลวย
สัมผัสไม่จำเป็นต้องมี
เพราะเสียงหนักเบาที่สมดุลกันทำให้ได้ความเสนาะเป็นร้อยกรองอยู่ในตัว
เข้าลักษณะกลอนเปล่า
ตุ้ยเลี้ยงเป็นรูปแบบและศิลปะการประพันธ์ชนิดหนึ่งโดยเอกเทศ
เป็นผกางามช่อน้อยในอุทยานวรรณคดีจีน
ใช้ได้อเนกประสงค์ ทุกกาละ เทศะ ประชุมชน
ไม่ว่าจะเป็นคำขวัญ คำอวยพร คำสดุดี คำไว้อาลัย แม้กระทั่งคำเสียดสี ด่าว่า
กิจกรรมแทบทุกอย่างของคนจีนนิยมใช้ตุ้ยเลี้ยงเข้าไปเสริม
ให้ได้สุนทรียรสของภาษาอยู่เสมอ และมีชื่อเฉพาะต่างกันไป
อนึ่งตุ้ยเลี้ยงหรือกลอนคู่นี้ต้องเขียนด้วยลายมือที่งดงาม
การเขียนหนังสือให้สวยงามเป็นศิลปะโดยเฉพาะแขนงหนึ่งของจีน
เป็นศิลปะที่ผสานอักษรศาสตร์และจิตรกรรมเข้าด้วยกัน
สมัยก่อนคนจีนส่วนมากแต่งและเขียนตุ้ยเลี้ยงกันเอง
เพราะศิลปะ 2 ประการนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของคนจีนยุคนั้น
แต่คนจีนปัจจุบันเขียนพู่กันไม่ค่อยเก่ง การแต่งตุ้ยเลี้ยงก็อ่อนด้อยลง
ดังนั้นจึงมีคนรับจ้างแต่งรับจ้างเขียนตุ้ยเลี้ยงอยู่ทั่วไป ในเมืองไทยมีอยู่ที่ย่านเยาวราช
ที่มาของกลอนคู่หรือตุ้ยเลี้ยง มีที่มาจากไสยศาสตร์ผสมผสานกับอักษรศาสตร์
ในแง่ของไสยศาสตร์ตุ้ยเลี้ยงเกิดจากไม้ท้อเป็นมงคล
ต่อมามีผู้เขียนกลอนคู่ลงบนยันต์ไม้ท้อนั้น เป็นการเอาอักษรศาสตร์เข้ามาเติมแต่ง
แล้วจึงผสมผสานวิวัฒนาการกลายเป็นตุ้ยเลี้ยงที่สมบูรณ์
คนจีนเชื่อว่า ท้อ (จีนกลางว่า เถา) เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ผีกลัว
ดังปรากฏเหตุผลอยู่ในตำนานเรื่องหนึ่ง
ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อเทพทวารบาล ในสมัยเก่าก่อนบุราณกาล
พอถึงตรุษจีนคนจะตัดไม้ท้อ 2 แผ่น กว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ยาวราว 7-8 นิ้ว
เขียนอักษรหรือถ้อยคำสั้นๆ ทำนองคาถาลงบนไม้ท้อ 2 แผ่นนั้น
แล้วนำไปแขวนไว้ที่ประตูทั้ง 2 ข้าง เข้าลักษณะเดียวกับยันต์ของไทย
ภาษาจีนเรียกกระดาน 2 แผ่นนี้ว่ายันต์ไม้ท้อ
ข้อความที่เขียนบนไม้ท้อยุคแรกคือ "เสินถู" และ "อี้ว์เหล่ย"
ต่อมาข้อความที่เขียนยาวออกไปเป็นด้านละวรรค
กลอนคู่ในเทศกาลตรุษจีนมีชื่อเฉพาะว่าชุนเลี้ยง จีนกลางว่าชุนเหลียน
หมายถึงกลอนคู่ในวสันตฤดู ส่วนมากมีใจความทำนองอวยพรปีใหม่
หรือกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปีใหม่ คู่ที่นิยมใช้แพร่หลายที่สุดเห็นจะได้แก่
ซิน เจีย ยู่ อี่ ซิน นี้ ฮวด ใช้ แปลตามคำ
ใหม่ อ้าย สม ปรารถนา ใหม่ ปี เจริญ ทรัพย์ แปลเอาความได้ว่า
เดือนอ้ายใหม่จงได้สมจินตนา ปีใหม่มาพูนทรัพย์นับอนันต์
กลอนคู่ตรุษจีนบทที่ไพเราะมากบทหนึ่งคือ บทที่ว่า
(เทียน เจิง ซุ่ย เย่ว์ เหญิน เจิง ซุ่ย ชุน หม่าน เฉียน คุน ฝู หม่าน เหมิน)
นภาเพิ่มปีเดือนคนเพิ่มวัย วสันต์เต็มฟ้าดินไปโชคเต็มบ้าน
กลอนคู่หรือตุ้ยเลี้ยงบทนี้
หลินต้าชิน (ลิ้มไต้คิม พ.ศ.2055-88) จอหวงนคนเดียวของจีนแต้จิ๋วเป็นผู้แต่ง
ได้รับความนิยมเป็นอมตะตลอดมาจนปัจจุบันเกือบ 500 ปี
โดยปกติกลอนคู่ตรุษจีนเขียนบนกระดาษแดง ตัวอักษรเป็นสีทองหรือสีดำ
ในอดีตหากบ้านใดมีคนตายยังไม่พ้น 3 ปี จะไม่ใช้กระดาษแดง
ถ้าผู้ตายเป็นชายใช้กระดาษเขียว
ถ้าเป็นหญิงใช้กระดาษเหลือง
ใจความในกลอนคู่ก็มักส่อไปในทางโศกเศร้าต่างจากกลอนคู่ตรุษจีนทั่วไป
แต่ปัจจุบันธรรมเนียมนี้ไม่ค่อยมีผู้ถือปฏิบัติแล้ว
กลอนคู่ตรุษจีนติดที่บานประตูทั้ง 2 บาน หรือที่ริมซ้ายขวาของประตู
นอกจากนี้ที่เหนือกรอบบนของประตูนิยมติดอักษร "ชุน" หรืออักษร "ฝู" ไว้ด้วย
อักษร "ชุน" หมายถึงวสันตฤดู
มีนัยยะหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
ส่วนอักษร "ฝู" นั้น คัมภีร์หานเฟยจื่อยุคจั้นกั๋ว ให้นิยามไว้ว่า
"ถึงพร้อมด้วยทรัพย์ ยศ อายุ เรียกว่าฝู"
คำนี้เสียงแต้จิ๋วว่า "ฮก"
เดิมหมายถึงบุญวาสนาหรือโชควาสนา ถึงพร้อมด้วยทรัพย์ ยศ และอายุยืน
ต่อมาแยกยศศักดิ์ไปเป็น ลก (ลู่) อายุยืนเป็นซิ่ว (โซ่ว)
ฮก จึงหมายถึงมีทรัพย์หรือโชคลาภรวมกับลกและซิ่วเป็นตรีพิธพรของจีน
แต่อักษรฝูหรือฮก ที่ติดร่วมกับกลอนคู่ตรุษจีนนี้
หมายถึงโชควาสนาซึ่งถือพร้อมด้วยทรัพย์ ยศ และอายุ
อนึ่งในการติดอักษรตัวนี้นิยมติดกลับเอาหัวลง
เพื่อให้คนที่มาเห็นทักว่า "ฝูเต้าเลอ"
ซึ่งเขียนเป็นอักษรจีนว่า
อักษร เต้า ที่แปลว่าหัวกลับ พ้องเสียงกับ อักษรเต้า ที่แปลว่า มาถึง
ทำให้ "ฝู-ฮก" หัวกลับ ก็หมายถึง "โชควาสนามาถึง" อยู่ในตัว
เปลี่ยนรูปเทพทวารบาล
การเปลี่ยนรูปเทพทวารบาลเป็นกิจกรรมสำคัญคู่กับการเปลี่ยนกลอนคู่
สิ่งทั้งสองนี้มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับยันต์ไม้ท้อเหมือนกัน
แต่รูปเทพทวารบาลมีอดีตยาวนานกว่า
เป็นความเชื่อที่มีวิวัฒนาการมาจากการเคารพบูชาเทพแห่งประตู
เทพแห่งประตูเป็น 1 ใน 5 เทพประจำบ้าน ดังกล่าวแล้วในเรื่องเจ้าเตาไฟ
คนจีนใช้สุนัขเฝ้าบ้านมาแต่โบราณ อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง
รูปเทพผู้รักษาประตูรุ่นแรกจึงมีลักษณะคล้ายสุนัขคาบกระบี่
บางรูปก็เป็นสัตว์ประหลาดไม่มีตัว มีแต่หัว คล้ายสุนัข
แสดงให้เห็นว่าเทพทวารบาลรุ่นแรกมีที่มาจากสุนัข
มาถึงสมัยราชวงศ์โจว เทพแห่งประตูไม่มีรูปชัด
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นนามธรรม รวมอยู่ในหมู่เทพประจำบ้านทั้ง 5 องค์
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น
คนนิยมวาดรูปนักรบหรือจอมยุทธ์ผู้เก่งกล้าไว้ที่ประตู
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งอ๋องแห่งกว่างชวนป่วย
ได้สั่งให้วาดรูปขุนพลเฉิงชิ่งถือกระบองไว้ที่บานประตู
เพื่อป้องกันผีร้ายและอัปมงคลทั้งปวง
เฉิงชิ่งเป็นขุนพลผู้แกล้วกล้าในยุคโบราณหลังจากนั้นมีผู้เอาอย่าง
แต่รูปที่วาดเปลี่ยนเป็นจิงเคอจอมยุทธ์ในยุคจั้นกั๋วบ้างก็มี
บุคคลทั้งสองนี้เป็นมนุษย์ที่ได้รับยกย่องเป็นเทพทวารบาลรุ่นแรก
จนกระทั่งสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ เทพทวารบาลจึงเปลี่ยนไปเป็น
"เสินถู" และ "อี้ว์เหล่ย" ผู้เป็นเทพารักษ์แห่งดงท้อ ความเชื่อนี้มีที่มาจากตำนานที่ว่า
บนชายฝั่งทะเลตะวันออก มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อตู้ซั่วซาน ปกคลุมไปด้วยดงท้อ
บนเขาด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นประตูสำหรับภูตผีทั้งปวงเข้าออก
มีเทพ 2 องค์พี่น้องชื่อ "เสินถู" และ "อี้ว์เหล่ย" อยู่รักษา
หากผีตนใดดุร้ายอาละวาดหรือทำผิด
เทพทั้งสองจะเอาเชือกอ้อมัดไปโยนให้เสือกิน
ทำให้ผีทั้งหลายกลัวเทพสองพี่น้องนี้มาก ประชาชนจึงเชื่อกันว่า
ท้อเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ปราบผีได้ นิยมนำมาทำยันต์ไม้ท้อแขวนกันผี
ภายหลังจึงมีผู้วาดรูปเทพทั้งสององค์นี้ไว้ที่บานประตูแทน
กลายเป็นที่มาของรูปเทพทวารบาล
ส่วนยันต์ไม้ท้อนั้นก็เปลี่ยนเป็นเขียนถ้อยคำอื่นๆ แทน
จนวิวัฒนาการไปเป็นกลอนคู่ดังกล่าวแล้ว
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังรูปเทพทวารบาลเปลี่ยนไปเป็น
ขุนพลเว่ยฉีกง (อวยชีจง) และขุนพลฉินซู่เป่า (ซินซกโป้)
ดังปรากฏที่มาของคตินิยมนี้ในเรื่องไซอิ๋วว่า
ครั้งหนึ่งพญามังกรไปลองดีหมอดูเทวดา ท้าพนันให้ทำนายเรื่องฝน
พอตนกลับวังก็ได้รับเทวโองการจากเง็กเซียงฮ่องเต้ ให้บันดาลให้ฝนตก
ตรงตามคำทำนายของหมอดูเทวดาทุกประการ
ด้วยต้องการเอาชนะพนัน
พญามังกรจึงทำให้ฝนตกคลาดเคลื่อนไปจากคำทำนาย
จึงถูกเทวอาญาถึงประหารชีวิต
พญามังกรไปทูลขอให้พระเจ้าถังไท่จงช่วย
เพราะผู้ที่สวรรค์มอบหน้าที่ให้เป็นเพชฌฆาตคือเว่ยเจิง (งุยเต็ง)
ขุนนางคนสนิทของพระเจ้าถังไท่จง
พระเจ้าถังไท่จงเรียกตัวเว่ยเจิงมาอยู่เล่นหมากรุกด้วย เพื่อมิให้ออกไป
ประหารพญามังกรได้ แต่พอถึงเวลา เว่งเจิงถอดดวงจิตออกไปประหารสำเร็จ
วิญญาณพญามังกรอาฆาตมาขู่เอาชีวิตพระเจ้าถังไท่จงทุกคืน
เว่ยฉีกง (อวยชีจง) และฉินซู่เป่า (ซินซกโป้) อาสายืนเฝ้าประตูในยามราตรี
ตั้งแต่นั้นวิญญาณพญามังกรก็ไม่มารบกวน
พระเจ้าถังไท่จงเห็นคนทั้งสองต้องลำบากเรื่องอดนอนจึงให้ช่างวาดรูป
มาติดไว้ที่บานประตูพระตำหนักแทน
ตั้งแต่นั้นมาชนทั้งหลายจึงได้เขียนรูปซินซกโป้และอวยชีจงปิดประตูบ้าน
และศาลเจ้า สมมติว่าเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ป้องกันปีศาจได้ เป็นธรรมเนียมต่อๆ มาจนทุกวันนี้
ในยุค 5 ราชวงศ์มีภาพเทพทวารบาล ซึ่งพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้จำหน่ายอยู่ทั่วไป
นอกจากภาพเว่ยฉีกงและฉินซู่เป่าแล้ว
ยังมีภาพจงขุยซึ่งตามเทวปกรณ์จีนกล่าวว่าเป็นผู้ควบคุมผีทั้งปวงอีกด้วย
จนกระทั่งรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง
ประชาชนเปลี่ยนเอาภาพจงขุยไปติดไล่ผีในเทศกาลตวนอู่-สารทขนมจ้าง
และเป็นที่นิยมต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้
ในสมัยราชวงศ์ซ่งภาพเทพทวารบาลเป็นภาพนายทหารแต่งเต็มยศถืออาวุธ
ถ้าเป็นบ้านผู้ดีภาพนั้นจะประดิษฐ์อย่างสวยงามเป็นพิเศษ
จึงเห็นได้ว่าในยุคนี้ภาพของเทพทวารบาลกลายเป็นเครื่องตบแต่งประตูไปด้วย
ในสมัยราชวงศ์หยวนเกิดภาพเทพทวารบาลหญิงขึ้น
สตรีผู้ได้รับเกียรตินี้คือมู่กุ้ยอิง
(ตัวเอกในภาพยนตร์กำลังภายในเรื่องขุนศึกตระกูลหยาง ตอน 14 นางสิงห์เจ้ายุทธจักร)
ซึ่งเป็นจอมยุทธ์หญิงนามกระเดื่องในสมัยต้นราชวงศ์ซ่ง
ทว่าเทพทวารบาลหญิงได้รับความนิยมอยู่ไม่นานก็เสื่อมไป
สมัยราชวงศ์หมิงและชิง
เว่ยฉีกรงและฉินซู่เป่ายังคงครองตำแหน่งเทพทวารบาลสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ภาพเทพทวารบาลในปัจจุบันเป็นรูปขุนพลจีนแต่งเต็มยศ
มือถืออาวุธ หน้าขาวคนหนึ่ง หน้าดำคนหนึ่ง
คนหน้าขาวคือฉินซู่เป่า
คนหน้าดำคือเว่ยฉีกง
นอกจากนี้ยังนิยมเพิ่มภาพขุนนางแต่งเต็มยศอีกด้วย
เรียกว่าภาพ "โชคลาภเยี่ยมทวาร" หรือ "เจริญโชคลาภรับมิ่งมงคล"
เป็นอันว่ามีพร้อมทั้งภาพเพื่อขับไล่อัปมงคลและภาพเจริญสิ่งมิ่งมงคล
นอกจากที่ประตูแล้ว บางบ้านยังติดรูปฮก ลก ซิ่ว หรือเทพแห่งโชคลาภ
ไว้ที่ห้องรับแขกหรือไม่ก็ในห้องนอนอีกด้วย
ในยุ้งฉางก็ติดภาพเสินหนงเทพแห่งการเกษตร
เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความหวังซึ่งมนุษย์ฝากไว้กับปีใหม่ที่มาถึงนี้
เทพทวารบาลภาษาจีนกลางว่า เหมินเสิน
แต้จิ๋วว่า หมิ่งซิ้ง เป็นที่มาของรูปเซี่ยวกางของไทย
ประดับภาพปีใหม่
ภาพปีใหม่เป็นศิลปะพื้นบ้านของจีน
ได้รับความนิยมแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ
ศิลปะชนิดนี้วิวัฒนาการมาจากภาพเทพทวารบาล ในยุคก่อนราชวงศ์สุย
ภาพเทพทวารบาลส่วนมากวาดลงบนแผ่นไม้ท้อหรือกระดาษ
หลังจากเกิดแม่พิมพ์ไม้ขึ้นในราชวงศ์สุยแล้ว
ภาพพิมพ์รูปเทพทวารบาลก็เริ่มแพร่หลาย เป็นเค้าที่มาของภาพปีใหม่
ภาพปีใหม่แบบเก่าพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้เป็นพื้นมีสีสันหลากหลาย สดใสชวนชม
เนื้อหาส่วนมากเป็นทิวทัศน์ นก ดอกไม้ เด็ก พืชพรรณธัญชาติอันอุดมสมบูรณ์
สิ่งสิริมงคล ฯลฯ ต่อมาชาวเซี่ยงไฮ้ชื่อเจิ้งม่านถัวได้นำภาพปีใหม่ไปรวมกับปฏิทิน
เกิดเป็นปฏิทินภาพปีใหม่ขึ้น ได้รับความนิยมแพร่หลายมากระทั่งทุกวันนี้
ความก้าวหน้าด้านเทคนิคการพิมพ์ในยุคปัจจุบันทำให้ภาพปีใหม่ประณีตงดงาม
และมีชนิดย่อยมากขึ้น เช่น ภาพแขวน ภาพติดผนัง ภาพติดฉากกั้นห้อง
ภาพประดับโคมไฟ และภาพประดับเครื่องใช้อื่นๆ
รูปแบบหลายแบบ เนื้อหาก็กว้างขวางกว่าสมัยก่อน แตกต่างกันไปนานาลักษณะ
สัญลักษณ์มิ่งมงคล เรื่องจากวรรณกรรมงิ้ว วัฒนธรรมประเพณี
และเนื้อหาอื่นๆ อีกมากมาย แม้ภาพเทพทวารบาลก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของภาพ
จีนเคยนำภาพปีใหม่ไปแสดงในญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี
และชาติตะวันตกอีกหลายชาติ ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมเหล่านั้น
ต่างตั้งสมญาให้ภาพปีใหม่ของจีนว่า ผกางามแห่งศิลปะโบราณภาคบูรพทิศ
วัน 30 ค่ำ เดือน 12 :: สิ้นปีเก่า
วันสำคัญของเทศกาลตรุษจีนคือวัน 30 ค่ำ เดือน 12 และวัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย
วันแรกมีความสำคัญในฐานะวันสิ้นปี
ภาษาจีนเรียกว่าวัน "ฉูซี่" แปลว่า "คืนสิ้นปี" หรือ
"คืนตัดปี" คือสิ้นปีเก่าเมื่อสิ้นยามไฮ่ ตอนสิ้น 4 ทุ่ม เข้าสู่ปีใหม่ในยามจื่อ (ช่วง 23.00-01.00 น.)
ฉะนั้นวันนี้คือตัววันตรุษจีนคือตัดและต่อปีที่แท้จริง
แต่ปฏิทินเมืองไทยระบุวันตรุษจีนไว้ที่วัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย
ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวัน "ชิวอิด" (ชูอี) วัน 1 ค่ำ ซึ่งไม่ค่อยถูกนัก
เพราะคำว่า "ตรุษ" แปลว่า "ตัด" คือวันสิ้นปี
ไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ
กิจกรรมสำคัญที่สุดในวันนี้คือไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ
แต่ละถิ่นมีช่วงเวลาและพิธีการไหว้ต่างกันไปบ้าง
แต่ส่วนมากจะไหว้เจ้าตอนเช้าตรู่
ของไหว้ที่สำคัญคือ
"ซาแซ สัตว์ 3 อย่าง" หรือ
"โหงวแซ สัตว์ 5 อย่าง" ชา เหล้า ข้าวสวย กับข้าว ผลไม้ และ
"ก้วย" คือของกินที่ทำจากธัญพืชเพื่อแสดงความอุดมสมบูรณ์ของผลเก็บเกี่ยวที่ได้
ในปัจจุบันอาจใช้ขนมแทนก็ได้
การไหว้บรรพบุรุษใช้ของเหมือนไหว้เจ้า แต่จะน้อยกว่าไม่ได้
เพราะบรรพบุรุษมีฐานะเป็นพระเทพบิดรของวงศ์ตระกูล
ของไหว้บรรพบุรุษในวันนี้จะขาดซาแซและเหล้าไม่ได้
เพราะการไหว้วันสิ้นปีมีที่มาจากประเพณีล่าสัตว์มาเซ่นสรวงบรรพบุรุษในเทศกาลล่าจี้
ส่วนเวลาที่ไหว้บรรพบุรุษนั้นต่างกันไปตามถิ่น
บางถิ่นไหว้ช่วงเพลถึงเที่ยง (11.00 - 12.00 น.)
บางถิ่นเริ่มตอนเที่ยงวัน
แต่คนแต้จิ๋วในเมืองจีนไหว้ตอนพลบค่ำ
เสร็จแล้วกินอาหารค่ำมื้อสำคัญที่เรียกว่า "ถ่วงอี่ปึ่ง ข้าวพร้อมหน้าสามัคคี" ต่อไปเลย
การไหว้บรรพบุรุษช่วงตรุษจีนนี้ปกติไหว้ที่บ้าน
เพราะเป็นการเชิญวิญญาณท่านมาร่วมฉลองตรุษจีนกับลูกหลานหรือกลับมาเยี่ยมบ้านด้วย
หลายถิ่น เช่น มณฑลซานซี เหอเป่ย เหอหนัน มีประเพณีไปเชิญวิญญาณบรรพบุรุษกลับมาบ้านก่อนทำพิธีไหว้ด้วย
วันนี้หลังจากไหว้เจ้าแล้ว เจ้าทั้งหลายก็จะกลับสู่ทิพยสถาน
ที่บ้านจึงมีแต่วิญญาณบรรพชนกับลูกหลานอยู่ร่วมกันเท่านั้น
เป็นวัน "พร้อมหน้าสามัคคี" ของคนในวงศ์ตระกูลทั้งคนและผีบรรพชน
แสดงถึงวัฒนธรรมบูชาวงศ์ตระกูล อันเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมจีน
การไหว้ที่บ้านจะเชิญป้ายสถิตวิญญาณขึ้นไป 3 ชั่วคน คือ
บิดามารดา ปู่ย่า และทวด
ส่วนบรรพชนข้างแม่ไม่ได้ไหว้ เพราะจีนถือวงศ์ตระกูลตามฝ่ายบิดา
ปัจจุบันบางแห่งในจีนจัดพิธีไหว้บรรพชนที่ศาลประจำตระกูลเพื่อความสะดวก
กินอาหารค่ำประจำปี สามัคคีพร้อมหน้า
อาหารค่ำประจำปีเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุดในรอบปีและเทศกาลตรุษจีน
ภาษาจีนเรียกว่า "เหนียนเย่ฟั่น" แปลว่า "อาหารค่ำประจำปี"
แต่จีนแต้จิ๋วนิยมเรียก "ถ่วงอี่ปึ่ง ข้าวพร้อมหน้าสามัคคี"
วันนี้เป็นวันชุมนุมพร้อมหน้าของคนในครอบครัวที่สำคัญที่สุดในรอบปี
ไม่ว่าจะจากบ้านไปไกลแสนไกลเพราะเหตุใดก็ตาม
ทุกคนจะรีบกลับมาให้ทันอาหารมื้อนี้
เพื่อแสดงความสามัคคีกลมเกลียวพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของครอบครัว
หลังเสร็จกิจในตอนกลางวันแล้ว
พอตกค่ำทุกคนจะพร้อมหน้ากันที่โต๊ะอาหาร เสพสนทนากันอย่างเบิกบานใจ
เสพทั้งอาหารเลิศรสและบรรยากาศแห่งความสุขสำราญ
ถ้อยคำที่สนทนาก็ล้วนแต่เป็นคำไพเราะเรื่องดีงาม
อาหารมื้อนี้อาจกินเวลาไปจนดึก
ในอดีตอาหารมื้อนี้ต้องนำไปไหว้บรรพบุรุษก่อน
ปัจจุบันชาวจีนแต้จิ๋วในจีนยังรักษาประเพณีนี้อยู่
พอไหว้เสร็จลูกหลานจึงเอาอาหารมารับประทานพร้อมหน้ากัน
คนจีนแต้จิ๋วนิยมเอาภาชนะอาหารวางลงในกระด้งขนาดใหญ่
แล้วนั่งล้อมวงรอบกระด้งรับประทาน
อาหารมื้อนี้นิยมทำเป็นวงกลม เช่น ลูกชิ้น เผือกปั้นกลม หรือเผือก มันทั้งหัว
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความกลมเกลียวพร้อมหน้าสามัคคีสมชื่อ
"ถ่วงอี่ปึ่ง-ข้าวพร้อมหน้าสามัคคี"
ปัจจุบันชาวฮกเกี้ยนและไต้หวันนิยมวางตะเกียบและชามช้อนเปล่า
ไว้บนโต๊ะชุดหนึ่งเพื่อให้บรรพบุรุษได้เข้ามาร่วมรับประทานด้วย
การแจกเงินก้นถุงประจำปี
สิ่งที่เด็กๆ รอคอยกันมากที่สุดในเทศกาลตรุษจีน
เห็นจะเป็นการรับแจกเงินก้นถุงประจำปี
เงินชนิดนี้ภาษาจีนกลางเรียกว่า ย่าซุ่ยเฉี่ยน
กวางตุ้งว่า ยับสุ่ยฉิ่น
แต้จิ๋วว่า เอี๊ยบส่วยจี๊
แต่คำสามัญเรียกว่า แตะเอีย แปลว่า ถ่วงเอว
เพราะคนจีนสมัยก่อนใช้ด้ายเก็บเงินแล้วผูกไว้ที่เอว การให้เงินพิเศษจึงถือเป็นการถ่วงเอว
เงินก้นถุงประจำปีโดยปกติผู้ใหญ่ให้แก่เด็ก
แต่ภายหลังเงินที่ลูกหลานให้แก่ญาติผู้ใหญ่ในเทศกาลตรุษจีน
ก็นิยมเรียกว่าแตะเอียเหมือนกัน
และเงินบำเหน็จพิเศษ (โบนัส) ที่ห้างร้านหรือนายจ้างให้แก่ลูกจ้างในช่วงตรุษจีนก็เรียกว่าแตะเอียด้วย
การแตะเอียแก่เด็กๆ ตามธรรมเนียมเก่าส่วนมากเป็นตอนกลางคืน
หลังจากกินอาหารค่ำประจำปีแล้ว เด็กๆ จะเข้าแถวกันไปอวยพรผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ก็จะอบรมสั่งสอน อวยพรตอบและแจกเงินแตะเอีย
แต่บางคนอาจเอาไปสอดไว้ใต้หมอนตอนเด็กๆ หลับ หรือมีวิธีแจกแตกต่างไปจากนี้อีกมากมาย
ส่วนผู้ใหญ่นั้นไม่นอนตลอดคืน เพราะจะต้องอยู่เฝ้าปีเก่า รับปีใหม่
เฝ้าปีเก่า รับปีใหม่
การเฝ้าปีมีความหมายสำคัญ 2 ประการ
สำหรับผู้สูงอายุเป็นการอาลัยลาเดือน วัน และวัยที่ผ่านไป
สำหรับหนุ่มสาวเป็นการเพิ่มอายุให้แก่บิดามารดา
ฉะนั้นผู้ที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่จะเว้นกิจกรรมนี้เสียมิได้
เหตุที่เกิดการเฝ้าปีนั้นมีตำนานเล่าว่า
ในอดีตอันไกลโพ้น มีสัตว์ร้ายตัวหนึ่งชื่อว่าเหนียน ซึ่งแปลว่าปี
พอถึงปลายฤดูหนาว เจ้าตัวปีนี้จะออกมาจับคนและสัตว์เลี้ยงกินเป็นอาหารเสมอ
ปีแล้วปีเล่าที่เจ้าตัวปีนี้ออกอาละวาด
ในที่สุดมนุษย์ก็พบว่ามันกลัวของอยู่ 3 อย่าง คือ เสียงดัง สีแดง และแสงไฟ
ดังนั้นพอถึงวันสิ้นปี อันเป็นกำหนดที่สัตว์ร้ายตัวนี้ออกมาหาเหยื่อในหมู่บ้าน
ผู้คนก็พากันเอาไม้ท้อทาสีแดงแขวนไว้ที่ประตูก่อไฟไว้หน้าบ้าน
จุดประทัดและตีเกราะเคาะไม้ให้มีเสียงดังตลอดคืนโดยไม่หลับนอน
เมื่อเจ้าตัวปีออกมาเห็นแสงสีและได้ยินเสียงดังนั้นก็ตกใจกลัววิ่งหนีไป
การเฝ้าปีปรากฏหลักฐานครั้งแรกในหนังสือ "บันทึกเรื่องประเพณี"
ของโจวชู่คนสมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.807 - 963) ว่า
"ไม่นอนตลอดคืน รออยู่จนฟ้าสาง เรียกว่าเฝ้าปี"
ปัจจุบันในหมู่ประชาชนทั่วไป คืนเฝ้าปีอุดมด้วยบรรยากาศแห่งวัฒนธรรมจีน
ทุกคนในครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้ากัน มีกิจกรรมบันเทิงแก้ง่วง
ผู้ใหญ่บางคนอาจเล่นไพ่ บางคนเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง
หรือตั้งปัญหาให้ทายเล่นลองปัญญา มีน้ำชาและของว่างกินกันไม่ขาดปาก
ถ้าเด็กๆ ง่วงก็ให้นอนอยู่รอบเตาไฟซึ่งจุดไว้ผิงตลอดทั้งคืน
เป็นการล้อมเฝ้ารอรับเจ้าเตาไฟไปด้วยในตัว
กิจกรรมในคืนนี้อาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นบ้าง
เช่น แถบมณฑลซานตงทุกคนจะช่วยกันห่อเกี๊ยว
พอถึงเที่ยงคืนอันเป็นช่วงต่อปีก็จะปรุงมารับประทานร่วมกัน
ในช่วงแห่ง "คืนเดียวมี 2 ปี กลางราตรีแบ่ง 2 ศก" นี้
ทุกคนที่นั่งล้อมรอบเตาไฟ จะหวนรำลึกถึงปีเก่าที่กำลังจะสิ้นไป
ฝากความหวังไว้กับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ซูตงพอ กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่งกล่าวถึงปณิธานอันพึงมีในวันนี้ว่า
ปีใหม่ฤาไร้เวลา
เกรงแต่ว่าปล่อยเปล่าดาย
จงเพียงเต็มที่วันนี้หมาย
เกียรติกำจายแต่วัยดรุณ
คืนวัน 30 ค่ำ เดือน 12 นี้มีชื่อเฉพาะว่า
ฉูซี่ (ตื่อเส็ก) แปลว่า คืนตัด (ปี)
หมายถึงปีเก่าสิ้นสุดหรือถูกตัดลงในตอนเที่ยงของคืนนี้ หลังเที่ยงคืนไปแล้วเป็นปีใหม่
ในภาษาไทยเรียกวันสิ้นปีว่าวันตรุษ คือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4
ฉะนั้นฉูซี่หรือคืนสิ้นปีก็คือตรุษ (จีน) ที่แท้จริงนั่นเอง
ในคืนนี้มีกิจกรรมสำคัญที่ทำควบคู่กันไป 3 - 4 ประการ คือ
กินข้าวค่ำประจำปี
แจกเงินก้นถุงประจำปี (แตะเอีย)
เฝ้าปีเก่ารับปีใหม่
กิจกรรมทั้งหมดนี้มักกระทำอยู่รอบเตาไฟ เป็นการทำพิธีล้อมเตาไฟไปด้วยในตัว
ดังกล่าวมาแล้ว พอเสียงประทัดดังขึ้นก็เป็นสัญญาณว่าปีใหม่ย่างกรายมาถึง
วันที่ 1 เดือนอ้าย :: ขึ้นปีใหม่
วันที่ 1 เดือนอ้าย เดิมมีชื่อว่า
"หยวนตั้น" แปลว่า ปฐมวาร คือวันแรกของปี
อีกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกคือ
"ซานเจา" แปลว่า ตรีอรุณ คืออรุณแห่งวันแรก อรุณแห่งเดือนอ้ายและอรุณแห่งปี
มีกิจกรรมสำคัญดังนี้
จุดประทัดปีใหม่
"ไผ่ระเบิดดังลั่นลาปีเก่า ผกางามทุกดอกเข้ารับปีใหม่"
กลอนคู่ข้างบนนี้วรรคหน้ากล่าวถึงการจุดประทัดในวันตรุษจีน
แต่ใช้คำว่า ไผ่ระเบิด (เป้าจู๋) แทนประทัด
ในสมัยโบราณก่อนมีดินปืน คนจีนใช้ไม้ไผ่ทั้งปล้องโยนเข้ากองไฟ
ไม้ไผ่ถูกความร้อนจะแตกลั่นดังโป้งป้าง จึงเรียกว่าไผ่ระเบิด
การจุดประทัดด้วยวิธีดังกล่าวมีบันทึกอยู่ในหนังสือสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ว่า
"วันที่ 1 เดือนอ้าย เป็นวันแห่งตรีปฐม พอไก่ขัน จุดไผ่ระเบิดที่หน้าบ้านก่อน
เพื่อขับไล่ภูตผีและสัตว์ร้าย"
การจุดไผ่ระเบิดในวันปีใหม่ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมา
ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถังตอนต้น
เกิดโรคระบาดขึ้นหลายแห่ง ชายผู้หนึ่งชื่อหลีเถียน
เอาดินประสิวบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วจุดไฟให้ระเบิด
ไอดินประสิวช่วยทำให้โรคระบาดลดน้อยลง
ไผ่ระเบิดของหลีเถียนเป็นพัฒนาการขั้นแรกของประทัด
ต่อมาสมัยราชวงศ์ซ่ง
คนจีนรู้จักทำดินปืนใช้ ไผ่ระเบิดจึงพัฒนามาเป็นประทัดอย่างสมบูรณ์
ใช้กระดาษเป็นวัสดุห่อหุ้มแทนปล้องไม้ไผ่
แต่คำว่าไผ่ระเบิดก็ยังคงใช้เป็นไวพจน์ของคำว่าประทัดตลอดมากระทั่งทุกวันนี้
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง
ประทัดก้าวหน้าไปถึงขั้นทำเป็นตับยาว พอจุดจะดังติดต่อกันไปนานนับร้อยครั้ง
เมื่อถึงวันสิ้นปีจะมีร้านขายประทัดตั้งเรียงรายอยู่ทั่วไป
การทำประทัดขายกลายเป็นอาชีพหนึ่งในยุคนั้น
จากประทัดได้พัฒนาการต่อไปเป็นตะไลบ้องไฟและปืนไฟในปลายราชวงศ์ซ่งนั่นเอง
ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงประทัดหลากหลายวิจิตรขึ้นกว่าเดิมมากและแพร่หลายไปสู่นานาประเทศ
ไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ
การไหว้เจ้าและบรรพบุรุษในวันปีใหม่เป็นการไหว้เพื่อแสดงกตเวทิตาจิต
มิได้จัดใหญ่โต เริ่มไหว้ได้ตั้งแต่เที่ยงคืน และต้องเสร็จสิ้นก่อนฟ้าสาง
การไหว้บรรพบุรุษต้องตั้งป้ายสถิตวิญญาณไว้ในห้องใหญ่กลางบ้าน
จัดเครื่องสักการบูชา ข้าวปลาอาหารไว้ข้างหน้า
ลูกหลานทยอยกันเข้ามากราบไหว้ตามลำดับอาวุโส
แล้วนั่งอยู่ข้างๆ ประหนึ่งว่าคอยรับใช้
บางบ้านแขวนภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ที่ใช้แทนป้ายสถิตวิญญาณ
บางถิ่นถือคติว่าต้องไปไหว้ที่ศาลประจำตระกูล ซึ่งส่วนมากอยู่กลางหมู่บ้าน
แต่โดยทั่วไปแล้วไหว้ในบ้านของตน
ส่วนเจ้าหรือผีสางเทวดานั้น ก็จัดเครื่องเซ่นสังเวยไปถวายที่หิ้งเจ้าซึ่งมีกันทุกบ้าน
การไหว้เจ้าและบรรพบุรุษนี้บางแห่งไหว้ทุกวันตั้งแต่วัน 1 ค่ำ ถึงวัน 3 ค่ำ เดือนอ้าย
การไหว้เจ้าและบรรพบุรุษในวัน 1 ค่ำ เดือนอ้ายนี้
ชาวจีนแต้จิ๋วไหว้ด้วยเครื่องเจ
เพราะถือว่าวันนี้พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ประทับเป็นประธาน
ประเพณีนี้มีมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ชิง
พอไหว้บรรพบุรุษเสร็จในช่วงเช้าก็รับประทานอาหารร่วมกัน
ผู้เยาว์จะเข้าไปคารวะอวยพรผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ให้โอวาทแก่ลูกหลาน
จากนั้นพ่อแม่จะพาลูกออกไปคารวะปีใหม่ญาติมิตรต่อไป
จีนบางถิ่นมีประเพณีนิยมรับเจ้ากลับจากทิพยสถานของท่านในยามจื่อ
(ช่วง 23.00 - 01.00 น.) อันเป็นยามแรกของวัน 1 ค่ำ
ก็คือตอน 5 ทุ่มของคืนวันไหว้สิ้นปีนั่นเอง
เทพที่นิยมไหว้รับเสด็จท่านกันมากคือ "ไฉเสิน เทพแห่งทรัพย์สิน"
ในเมืองไทยโดยปกติไหว้วันเดียว
ในตอนเช้ามืดวันที่ 1 ที่เรียกกันว่าวันชิวอิด ของไหว้เป็นเครื่องเจแบบจีนแต้จิ๋ว
ในราชสำนักไทยมีพระราชพิธีสังเวยพระป้ายคือ
ป้ายสถิตวิญญาณบรรพชนในวันนี้ด้วย
ปัจจุบันพระราชพิธีจัดที่พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน
ส่วนมากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
เสด็จแทนพระองค์
คารวะอวยพรปีใหม่
คารวะอวยพรปีใหม่ ภาษาจีนว่า
ไป้เหนียน (ไป้นี้) แปลตรงๆ ได้ว่า "ไหว้ปี"
เป็นกิจกรรมสำคัญของชนทุกชั้นทุกถิ่นฐาน มีมาแต่โบราณกาล
การคารวะอวยพรมิได้มีความสำคัญเพียงเป็นประเพณีในเทศกาลเท่านั้น
คุณค่าแท้อยู่ที่การแสดงออกซึ่งน้ำใจไมตรี กระชับมิตรภาพ
ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในและระหว่างหมู่คณะได้เป็นอย่างดี
ประเพณีนี้จึงมีความสำคัญทุกยุคสมัยในอดีต
หวูจื่อมู่คนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้บันทึกเรื่องการคารวะอวยพรปีใหม่ไว้ว่า
"วันแรกของเดือนอ้ายเรียกว่าปฐมวาร (หยวนตั้น) พวกขุนนางต่างคารวะอวยพรกัน
ราษฎรทั้งหญิงชายสวมอาภรณ์ใหม่ ไปมาหาสู่คารวะปฏิสันถารกัน"
ในบันทึกของไช่เอ้อกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"หญิงชายเข้าคารวะผู้อาวุโสกว่าตามลำดับ ผู้ใหญ่จูงลูกหลานออกไปเยี่ยมญาติมิตร
หรือไม่ก็ใช้คนไปแทนตัวเรียกว่าคารวะอวยพรปีใหม่"
เนื่องจากขุนนางและคนที่มีญาติมิตรมากไม่สามารถไปอวยพรด้วยตัวเอง
ได้อย่างทั่วถึง จึงเกิดมีบัตรอวยพรปีใหม่ขึ้น ระยะแรกใช้นามบัตรแทน
ต่อมาจึงเกิดบัตรอวยพรโดยเฉพาะขึ้น
วิธีการนี้จีนมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นอย่างช้า
เพราะปรากฏว่าเรื่องราวในบันทึกของโจวฮุยคนในยุคนั้นว่า
"ในศักราชหยวนอิ้วแห่งซ่ง (พ.ศ.1629 - 37)
การอวยพรปีใหม่ นิยมให้คนถือนามบัตรไปแทนอยู่เสมอ"
การคารวะอวยพรปีใหม่ตามธรรมเนียมจีน
ต้องกระทำแก่พ่อแม่และบุพการีในครอบครัวก่อน
แล้วจึงออกไปอวยพรญาติมิตรและคนอื่น
ปีใหม่เป็นโอกาสดีที่จะขยายแวดวงการคบหาสมาคมออกไป
อยากทำความรู้จักหรือฝากเนื้อฝากตัวกับใคร
ก็ถือโอกาสไปคารวะปีใหม่หรือส่งบัตรอวยพรไป
ดื่มสุราถูซู
ถูซูเป็นสุราประจำเทศกาลตรุษจีน
มีธรรมเนียมการดื่มต่างกับสุราในเทศกาลอื่นอย่างสิ้นเชิง
การเลี้ยงสุราอาหารเป็นกิจกรรมที่ขาดมิได้ในเทศกาลจีนทุกเทศกาล
คนจีนในสังคมเกษตรสมัยก่อนมีนิสัยสมถะประหยัด
มิได้เลี้ยงฉลองกันพร่ำเพรื่ออย่างคนสมัยนี้ จะมีก็แต่ในเทศกาล
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การเลี้ยงทุกครั้งสิ่งที่ขาดมิได้คือสุรา
คนจีนพิถีพิถันและชำนาญเรื่องสุรามาก บางเทศกาลมีสุราประจำโดยเฉพาะ
ในเทศกาลตรุษจีนแต่เดิมมีสุราที่ได้รับความนิยมหลายชนิด เช่น
สุราดอกท้อ
สุราดอกเหมย
สุราหญ้ามรกต และ
สุราถูซู
หลังจากผ่านการพิสูจน์ของยุคสมัยมาช้านาน
ในที่สุดสุราถูซูก็ได้เป็นเจ้ายุทธจักรของสุราตรุษจีน
สุราอื่นบางชนิดเสื่อมสูญไป คงเหลือไว้แต่ชื่อ
ถูซูเป็นสุราสมุนไพร เข้าลักษณะยาดองสมุนไพรไทย
สมุนไพรที่ใช้หมักผสมมีโกฐน้ำเต้า หญ้าอูโถว (Aconitum Cormichaeli)
ต้นไป๋ซู่ (Atractylodes macracephala) เจี๋ยเกิ่ง (Platycodon granditlorum)
และเภสัชวัตถุอื่นๆ อีกหลายชนิด เจ้าของตำรับมีกล่าวต่างกันเป็น 2 นัย
นัยหนึ่งว่าเป็นของหมอฮัวโต๋ (หัวถัว) สมัยสามก๊ก
อีกนัยหนึ่งว่าเป็นของซุนซือเหมี่ยวแพทย์ผู้มีชื่อเสียงสมัยราชวงศ์ถัง
การดื่มสุราถูซูมีเคล็ดว่าต้องดื่มตามลำดับจากผู้มีวัยเยาว์ไปหาผู้อาวุโส
ที่ให้เด็กดื่มก่อนเพราะถือว่าดื่มแล้วเจริญวัย
ส่วนผู้ใหญ่ดื่มแล้วสูญวัยจึงให้ดื่มทีหลัง
คตินิยมนี้เกิดในสมัยราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (พ.ศ.1390 - 93) เป็นอย่างช้า
เพราะปรากฎในบันทึกของคนในยุคนั้นว่า
"ดื่มสุราปีใหม่ให้ผู้เยาว์ดื่มก่อน เพื่อให้เจริญวัย"
ธรรมเนียมนี้สะท้อนความคิดก้าวหน้า เห็นคุณค่าของเยาวชน
และเตือนให้ทุกคนรำลึกถึงวันเวลาที่ผ่านไป ดรุณวัยที่ไม่มีวันหวนกลับ
ดังที่กู่ด่วงกวีสมัยราชวงศ์ถังรำพึงรำพันไว้ว่า
ลืมชราชั่วพลันวสันต์ถึง
โศกรำพึงจับมือมิตรอยู่พร้อมหน้า
หวนเรือน้อยละห้อยอายทัปนา
ส่งสุราถูซูให้ผู้เยาว์
อายทัปนาในที่นี้หมายถึง
ละอายใจที่ความชราของตนปรากฎแก่คันฉ่องหรือกระจกส่องหน้านั่นเอง
ดังนั้นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงอันทรงคุณค่ายิ่งของการดื่มสุราถูซู
อยู่ที่เตือนให้คิดถึงคุณค่าของดรุณวัยและวันเวลา
การละเล่นรื่นเริงในเทศกาล
ตรุษจีนเป็นเทศกาลใหญ่คึกคักที่สุด
จึงมีธรรมเนียมมหรสพเฉลิมฉลองและการละเล่นรื่นเริงมากมาย เช่น
เชิดสิงโต เชิดมังกร
ในอดีตมีมหรสพเร่นานาชนิดออกแสดงตามถิ่นต่างๆ ในเทศกาลนี้ เช่น
งิ้ว หุ่น หนัง (คล้ายหนังใหญ่ หนังตะลุงไม่ใช่ภาพยนตร์) กายกรรม
นักเล่านิทานและการละเล่นอื่นๆ
สมัยก่อนคนไม่มีโอกาสชมมหรสพบ่อยๆ หรือเลือกชมได้ดังปัจจุบัน
ในเทศกาลสำคัญจึงนิยมพาลูกหลานออกไปเที่ยวชมศิลปินเร่เหล่านี้
บางหมู่บ้านอาจจ้างงิ้วมาเฉลิมฉลองเป็นพิเศษ
การเที่ยวชมการละเล่นจึงเป็นกิจกรรมบันเทิงสำคัญประการหนึ่ง
การพักผ่อนหย่อนใจที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่งคือ
การเล่นไพ่กันเองในครอบครัว
เป็นการเล่นเพื่อฝึกสมองและคลายอารมณ์ มิได้มุ่งการพนัน
ถึงเทศกาลตรุษจีนผู้ใหญ่จะอนุญาตให้ลูกหลานเล่นไพ่กันได้
แต่ต่อมาในปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายไม่สนับสนุนนันทนาการชนิดนี้
เพราะเป็นการเปิดช่องแก่การพนัน
อนึ่งในการออกอวยพรปีใหม่นั้น
หนุ่มสาวส่วนมากเที่ยวชมทิวทัศน์อันงามของวสันตฤดูไปด้วย
เรียกว่า "ท่องวสันต์" นับเป็นนันทนาการสำคัญอย่างหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน
ข้อห้ามในเทศกาล
การถือเคล็ดโชคลางเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์
วันสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่เป็นวันสำคัญที่สุดในรอบปี
มีข้อห้ามอันเนื่องด้วยการถือเคล็ดโชคลางหลายประการ
ข้อห้ามเหล่านี้ถือเข้มงวดมากในวัน 1 ค่ำ เดือนอ้าย อันเป็นปฐมวาร
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีในปีใหม่
ข้อห้ามสำคัญเบื้องต้นได้แก่
ห้ามพูดหยาบคายไม่เป็นสิริมงคล
ห้ามทะเลาะเบาะแว้งกัน
เด็กห้ามร้องไห้โยเย
ห้ามทำข้าวของตกแตก
เรื่องเหล่านี้แม้ยามปกติก็ไม่ควรทำอยู่แล้ว
จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะระมัดระวังเป็นพิเศษในปีใหม่
การทำของแตกนั้น ถ้าพลาดพลั้งไปจริงๆ
ให้พูดแก้เคล็ดว่า "ซุ่ยๆ ผิงอัน" เป็นคำพ้องเสียง
อักษรซุ่ย แปลว่า แตก อักษรซุ่ยอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอ่านเสียงเดียวกัน แปลว่า ปี
รวมข้อความทั้งหมดจึงมีความหมาย 2 นัย คือ
"แตกเพื่อสุขสันต์" และ "สุขสันต์ทุกๆ ปี"
แต่มุ่งเอาความหมายหลังเป็นการแก้เคล็ดที่ทำของแตก
ข้อห้ามประการต่อไปคือ
ห้ามกวาดบ้าน
เพราะสิ่งสกปรกต้องถูกปัดกวาดหมดไปตั้งแต่ก่อนวันสิ้นปี
วันปีใหม่มีแต่ความสะอาด หากกวาดบ้านวันนี้ถือว่าเป็นการกวาดทรัพย์สินทิ้ง
วันที่ 1 - 4 ห้ามใช้มีด เข็ม และกรรไกร
ความหมายที่แท้จริงแฝงอยู่คือห้ามจับอาวุธเพื่อทำร้ายกัน (มีด)
ห้ามมองด้วยความขุ่นแค้น (เข็ม) และ
ห้ามมีปากเสียงกัน (กรรไกร)
วันปีใหม่ห้ามกินยา ห้ามหาหมอ หม้อยาถูกล้างคว่ำตั้งแต่วันสิ้นปีเก่า
ความหมายที่แท้จริงอยู่ที่ ควรบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรง
อย่าให้ต้องหาหมอเสียตั้งแต่วันแรกของปี เท่ากับเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดี
นอกจากนี้ยังห้ามกินข้าวต้มในวันขึ้นปีใหม่
เพราะจะทำให้เจอฝนเมื่อตอนไปเที่ยวฉลองปีใหม่
ปกติคนจีนที่ยากจนจะต้องกินข้าวต้มอยู่เสมอ
เพราะการกินข้าวสวยทำให้สิ้นเปลืองมาก
ตรุษจีนเป็นเทศกาลสำคัญจึงควรกินข้าวสวยเพื่อความอุดมสมบูรณ์
นานเข้าความหมายที่แท้จริงเลือนหาย กลายเป็นการถือเคล็ดโชคลาง
ข้อห้ามอีกประการหนึ่งคือ
ห้ามหญิงที่แต่งงานแล้วกลับบ้านไปบ้านพ่อแม่ในวันปีใหม่
ถ้ากลับไปในวันนี้จะทำให้พ่อแม่ยากจน
ปกติผู้หญิงจีนแต่งงานแล้วต้องไปอยู่บ้านสามี เป็นคนของสกุลสามี
การกลับไปเยี่ยมบ้านนานๆ จะมีสักครั้ง
วันปีใหม่เป็นวันสำคัญที่คนในครอบครัวต้องอยู่พร้อมหน้ากัน
ภรรยาจึงไม่ควรจากสามีและสกุลของสามีไป จะต้องอยู่ทำหน้าที่ของตน
จึงเกิดเป็นข้อห้ามขึ้น และมีความเชื่อโชคลางตามมาภายหลัง
การกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ทำได้ตั้งแต่ 2 ค่ำ เป็นต้นไป
ประเพณีนี้สะท้อนภาพสังคมที่ถือฝ่ายชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน
ข้อห้ามเหล่านี้ถ้าดูผิวเผินจะเห็นเป็นความเชื่อโชคลางไร้เหตุผล
แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงเจตนาที่แท้จริงตลอดจนสภาพสังคมในอดีต
อันเป็นเงื่อนไขให้เกิดข้อห้ามเหล่านี้แล้ว จะเห็นว่าข้อห้ามเหล่านี้มีคุณค่าอยู่ไม่น้อย
แต่บางเรื่องก็ควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติให้เหมาะแก่ยุคสมัย
โดยรักษาจุดมุ่งหมายอันเป็นคุณค่าแท้ของข้อห้ามเหล่านี้ไว้
ฉะนั้นผู้มีปัญญาไม่ควรรับหรือปฏิเสธประเพณีโดยมิได้ใคร่ครวญให้เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงซึ่งแฝงอยู่เสียก่อน
2 - 5 ค่ำ เดือนอ้าย :: ท้ายเทศกาลตรุษจีน
จาก 2 - 5 ค่ำ ยังมีกิจกรรมอันเนื่องด้วยเทศกาลตรุษจีนอยู่ทุกวันดังนี้
วันที่ 2 ไหว้เทพแห่งทรัพย์สิน หญิงมีสามีจะกลับไปเยี่ยมบ้าน
คนทั่วไปมักพักผ่อนเล่นไพ่อยู่กับบ้าน
การเล่นไพ่ในเทศกาลตรุษจีนเป็นนันทนาการที่ได้รับความนิยมมาช้านาน
ในหนังสือสมัยราชวงศ์ซ่งก็มีเรื่องนี้บันทึกอยู่
ส่วนหญิงที่กลับไปเยี่ยมบ้านนั้น
ตามปกติพ่อแม่จะส่งคนมารับและเชิญลูกเขยไปพร้อมกับลูกสาวตนด้วย
บางแห่งจึงเรียกวันนี้ว่า วันเชิญเขย
แต่ก็อาจเป็นวันอื่นหลังจากวันนี้ก็ได้
การไหว้เทพแห่งโภคทรัพย์หรือเทพแห่งความมั่งคั่งนั้น
จีนภาคเหนือไหว้วันนี้
แต่จีนภาคใต้นิยมไหว้ในวันที่ 5
ของไหว้ใช้เหมือนกัน คือ
ไก่ตัวผู้ หัวหมู ปลาไนเป็นๆ และหุนถุน (เกี๊ยวชนิดหนึ่ง)
ซึ่งมีรูปร่างเหมือนเหรียญกษาปณ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวย
วันที่ 3 เรียกว่า เช้าปีน้อย หรือวันหมาแดง
หมาแดงเป็นเทพแห่งเพลิงโทสะ
ถือเป็นอัปมงคลสำหรับวันนี้ ต้องพยายามเลี่ยงไม่ให้พบเห็น
ฉะนั้นวันนี้คนจึงไม่ออกจากบ้าน จะเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษอยู่กับบ้าน
ชาวมณฑลอานซุยเรียกการเซ่นไหว้วันนี้ว่า ส่งปี
นอกจากนี้ยังถือกันว่าวันนี้เป็นวันหนูแต่งงาน ต้องเข้านอนแต่หัวค่ำ
และเอาข้าวสาร เกลือ เศษขนมหว่านในบ้าน
เพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์
เหตุผลที่แท้จริงของการเข้านอนแต่หัวค่ำในวันนี้ก็คือ
พักผ่อนให้เต็มที่หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยมาหลายวัน
วันที่ 4 เป็นวันรับเทพเจ้า
บรรดาเทพที่ขึ้นไปรายงานผลงานตั้งแต่วันที่ 24 เดือน 12
จะกลับลงมาประจำหน้าที่ของตนในวันนี้
(บางตำราว่าเจ้าเตาไฟกลับลงมาก่อนตั้งแต่วันสิ้นปี)
จึงต้องจัดพิธีเซ่นสรวงต้อนรับ
การไหว้นอกจากมีสุราอาหารและเผากระดาษเงินกระดาษทองแล้ว
ยังต้องเผาภาพพิมพ์ม้าและทหารรับใช้อีกด้วย
เพื่อให้เป็นพาหนะและบริวารไปรับเทพทั้งหลายลงมา
สมัยโบราณเผาม้าจริงๆ ไปให้ ต่อมามนุษย์ฉลาดขึ้น จึงเผารูปกระดาษไปแทน
ส่วนมากเป็นภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ บางแห่งวาดเป็นรูปเทวดาขี่ม้าเลยก็มี
การเซ่นไหว้รับเทพเจ้านี้ ชาวไต้หวันนิยมทำตอนบ่าย
ส่วนชาวแต้จิ๋วไปทำในวันที่ 5 เครื่องเซ่นและพิธีค่อนข้างรวบรัดเรียบง่าย
วันที่ 5 ถือได้ว่าเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน
วันนี้จะเก็บอุปกรณ์เซ่นไหว้ที่ใช้มาตั้งแต่วันสิ้นปี
ไม่ต้องรับแขกด้วยของหวานอีกต่อไป
หลังจากวันนี้วิถีชีวิตก็จะกลับสู่สภาพปกติ ผู้คนออกทำงาน ร้านค้าเปิดค้าขาย
บางแห่งที่ถือโชคลางก็จะหาวันฤกษ์ดีตั้งแต่วันที่ 6 - 20 วันใดวันหนึ่ง
เป็นวันเปิดร้าน ม่านแห่งเทศกาลตรุษจีนก็ปิดลงตั้งแต่วันนี้
แต่กลิ่นอายยังคงอบอวลไปจนต่อเนื่องกับเทศกาลหยวนเซียว
ตรุษจีนในเมืองไทย
ตรุษจีนในเมืองไทยเป็นไปตามคตินิยมของชาวจีนแต้จิ๋ว
ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ก็รวบรัดลงกว่าที่ทำกันในเมืองจีนมาก
ช่วงเทศกาลมี 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันถือหรือวันเที่ยว
วันจ่ายคือวัน 29 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันเตรียมของไหว้
วันไหว้คือวันสิ้นปี
การไหว้มี 2 - 3 เวลา คือ
หลังเที่ยงคืนถึงเช้าไหว้เจ้า ภาษาแต้จิ๋วว่า ไป๊เล่าเอี๊ย
กลางวัน (ก่อนเที่ยง) ไหว้บรรพบุรุษ ภาษาแต่จิ๋วว่า ไป๊เป่บ้อ
ตอนบ่ายไหว้ผีไม่มีญาติหรือผีสาเร่ ภาษาแต้จิ๋วว่า ไป๊ฮอเฮียตี๋
แปลว่า ไหว้ญาติมิตรที่ดี เป็นคำเรียกผีไม่มีญาติอย่างยกย่อง
ปกติในเทศกาลตรุษจีนไม่ไหว้ผีพวกนี้ มีแต่ไหว้เจ้ากับไหว้บรรพบุรุษเท่านั้น
การไหว้ผีสาเร่เป็นเรื่องของเทศกาลสารทจีน
แต่คนจีนในไทยนิยมไหว้ในเทศกาลตรุษจีนด้วย
เพราะห่วงใยว่าผีผู้ร่วมเผ่าพันธุ์ของตนที่มาตายอย่างไร้ญาติขาดมิตรจะอดอยาก
จึงเซ่นไหว้ให้เป็นพิเศษ
นอกจากนี้ยังมีนิทานเล่าถึงสาเหตุของการไหว้ผีไม่มีญาติว่า
มีเรือสมุทรบรรทุกคนจีน 108 คน มุ่งมาเมืองไทย แต่มาอับปางลงกลางทะเล
คนตายหมดทั้ง 108 คน กลายเป็นผีไม่มีญาติร่อนเร่ไร้ผู้เซ่นไหว้
ชาวจีนในเมืองไทยสงสารจึงจัดพิธีไหว้ผีพวกนี้ในตอนบ่าย
จนเป็นประเพณีสืบต่อมา
ส่วนในเมืองจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีพิธีไหว้นี้ในเทศกาลตรุษ
มีแต่ในเทศกาลสารทจงหยวนกลางเดือน 7 ที่คนไทยเรียกว่าสารทจีน
ส่วนวันสุดท้ายของเทศกาลเรียกว่าวันชิวอิด
แปลว่าวันที่ 1 (เดือนอ้าย) เป็นวันถือเคล็ดโชคลาง
ไม่พูดหยาบคาย ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ทำของแตก
เรื่องไม่กวาดบ้านและไม่ใช้ของมีคม ไม่ถือเข้มงวดนัก
ในวันนี้คนนิยมไปเที่ยวฉลองตรุษจีนกัน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าวันเที่ยว
เทศกาลตรุษจีนในเมืองไทยร้านค้าชาวจีนส่วนมากหยุด 2 - 5 วัน
ตั้งแต่วันไหว้ วันชิวอิด และต่อไปอีก 1 - 3 วัน บางแห่งอาจหยุดวันจ่ายด้วย
กิจกรรมในเทศกาลนอกจากไหว้แล้ว
ก็มีเงินแตะเอีย จุดประทัดและเปลี่ยนกลอนคู่
การเชิดสิงโตมีประปรายเฉพาะบางแห่ง
และมักเป็นการเชิดเพื่อหาเงินของคณะสิงโตเท่านั้น
จะอย่างไรก็ตามตรุษจีนก็เป็นเทศกาลที่แพร่หลายมาก
แม้คนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีนบางคนก็พลอยทำตามไปด้วย
เพื่อ "มิให้ลูกหลานดูตาเขากิน" เป็นสำคัญของไหว้ในเทศกาลก็แปรเปลี่ยนไป
เหนียนเกาก็ออกมาในรูปขนมเข่ง และนิยมใช้ขนมเทียนไหว้ด้วย
ขนมชนิดนี้เข้าใจว่าคนไทยจะคิดขึ้นเอง
ดังปรากฏชื่ออยู่ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แม้ในราชสำนักก็มีการพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนขึ้นเป็นครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
นับเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสิบสองเดือน
ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายว่า
สาเหตุของการพระราชกุศลดังกล่าวเกิดจากการที่ชาวจีน
นำหมู เป็ด ไก่ และขนมต่างๆ มาถวายรัชกาลที่ 3 ในเทศกาลตรุษจีนเป็นจำนวนมาก
จึงมีรับสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์มาฉัน
ณ.พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย 3 วัน วันละ 30 รูป โดยไม่มีการสวดมนต์
นอกจากนั้นยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์
จัดขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้ง 3 วัน
หลังจากพระฉันแล้วเลี้ยงข้าราชการ และทรงจ่ายเงินซื้อปลาปล่อยวันละ 10 ตำลึง
ขนมจีนนั้นหาได้เป็นของจีนไม่
เสฐียรโกเศศ สันนิษฐานจากชื่อว่าน่าจะเป็นขอม มอญ
ขนมในภาษามอญ แปลว่า แป้งเส้นหรือเส้นหมี่
จีนแปลว่า ต้มสุก
ขนมจีนคือแป้งเส้นต้มสุก ดูกระบวนการทำและรสชาติแล้วมีเค้ามอญมากกว่าจีน
เส้นหมี่ของจีนใช้แป้งสดโรยเส้น แต่ขนมจีนต้องหมักข้าวถึง 3 วัน
แล้วจึงนวดให้เละโดยไม่ต้องโม่
จากนั้นมีกระบวนการอีกหลายขั้นจึงจะได้เส้นขนมจีน
ขนมจีนแป้งโม่เกิดขึ้นทีหลัง ไม่ใช่ขนานแท้และดั้งเดิม
ขนมจีนจึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับคนจีนเลย
ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยกเลิกขนมจีน
โปรดให้ทำเกาเหลาเลี้ยงพระแทนและทรงปรับปรุงการพระราชพิธีไปบ้าง
เช่น ทรงสร้างศาลาหลังเก๋งขึ้นหน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย
พร้อมกับมีเทวรูปตั้งบูชามีเครื่องเซ่นสังเวยตลอดเวลา 3 วัน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับโปรดให้เลี้ยงขนมจีนตามแบบเก่า
นอกจากนี้พระยาโชฎึกราชเศรษฐียังได้จัดโต๊ะจีนมาเลี้ยงถวายเจ้านายอีกด้วย
ปัจจุบันการพระราชกุศลนี้ยกเลิกไปแล้ว แต่ราชสกุลบางสกุลยังทำพิธีไหว้ตรุษจีนอยู่
จึงนับได้ว่าประเพณีตรุษจีน
มีส่วนช่วยผสานสายเลือดและวัฒนธรรมไทยจีนให้ผสมกลมกลืนไปด้วยกันเป็นอย่างดี
********************************